เอกราชในโลกฟุตบอล และเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นของลูกหนัง ‘ปากีสถาน’

ฟุตบอลถือเป็นกีฬาเบอร์ต้นๆ ของโลก ไม่ว่าประเทศไหนก็ให้ความสำคัญกับวงการลูกหนังของตัวเองทั้งนั้น ฟุตบอลดีโลกยิ่งรู้จักประเทศนั้นๆ และถ้าทีมฟุตบอลประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติด้วยแล้ว จะมีแฟนบอลที่ตามให้กำลังใจ สนับสนุนอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่คอบอลในประเทศตัวเองเท่านั้น

ว่ากันจริงๆ แล้ว ฟุตบอลถือเป็นหนึ่งในดัชนีวัดความสุขของคนในประเทศนั้นๆ ได้ด้วย ไม่ว่าประเทศจะประสบปัญหาร้ายแรงขนาดไหน ถ้าทีมชาติผลงานดี ก็ย่อมสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขสัก 90 หรือ 120 นาทีให้คนในชาติได้อย่างทั่วถึง

แต่ถ้าวงการฟุตบอลในประเทศย่ำแย่ ไม่มีผลงาน ไม่ได้ลงเตะ ไม่ได้รับการสนับสนุน จิตใจของคนรักลูกหนังก็คงห่อเหี่ยวไม่น้อย ปากีสถานเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เหมือนถูกดินฝังกลบวงการฟุตบอลมาช่วงหนึ่ง และยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

Advertisement

ฟุตบอลทีมชาติ ปากีสถาน ไม่ได้ลงเตะรายการใดๆ เลย มาตลอด 3 ปี เหตุเกิดจากการเลือกตั้งประธานสหพันธ์ฟุตบอลปากีสถาน เมื่อปี 2015 ที่ ไซเอด ไฟซาล ซาเละห์ ฮายัต ได้รับเลือกให้เป็นประธานสหพันธ์อีกสมัย แต่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส จนมีการฟ้องร้องกันในชั้นศาล และศาลได้มีคำตัดสินให้แต่งตั้งคณะทำงานเข้ามาบริหารงานสหพันธ์ฟุตบอล อย่างไรก็ตามเมื่อทำแบบนี้ ถือว่าเป็นการเอาอำนาจการปกครองมายุ่งเกี่ยวกับกีฬา ซึ่งผิดกฎของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า) ว่าห้ามให้อำนาจทางการเมืองหรือการปกครองใดๆ เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของวงการฟุตบอลในประเทศ

ฟีฟ่าประกาศแบนปากีสถานจากวงจรฟุตบอลนานาชาติมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2015!

เมื่อถูกตัดเส้นเลือดใหญ่ของวงการฟุตบอล ส่วนอื่นๆ ก็พังพินาศตามมา ฟุตบอลปากีสถาน พรีเมียร์ลีก ที่เตะกันมาตั้งแต่ปี 2004 ไม่สามารถเตะกันได้ เพราะมีความไม่ลงรอยทางความคิดของผู้ใหญ่ที่บริหารงานในเรื่องการจัดการแข่งขันและวางโปรแกรมต่างๆ

Advertisement
คริกเกต กีฬาเบอรืหนึ่งของปากีสถาน

เมื่อไม่มีฟุตบอลลีกให้เตะ นักเตะก็ไม่ได้รับค่าจ้าง แข้งเยาวชนในอคาเดมีไม่ได้รับโอกาสในการฝึกฝน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความยากแค้นของวงการฟุตบอลปากีสถานก็มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการไม่มีงบประมาณในการดูแลนักเตะ แม้ว่าจะเป็นนักเตะทีมชาติชุดใหญ่ก็ตาม

เกรแฮม โรเบิร์ต อดีตกองหลังท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนลูกหนังปากีสถานในช่วงปี 2010-2011 เล่าว่า นักเตะปากีสถานมีฝีเท้าดีและพัฒนาต่อได้ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเหมือนชาติอื่นๆ นักเตะต้องซื้อเสื้อซ้อมเอง เดินทางมาฝึกซ้อมด้วยเงินของตัวเอง ส่วนสนามซ้อมที่กรุงอิสลามาบัตดีทีเดียว ได้มาตรฐาน แต่สนามที่ละฮอร์และการาจีแย่มาก

ไซเอด ไฟซาล ซาเละห์ ฮายัต

สหพันธ์ฟุตบอลปากีสถานไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ไซเอด ไฟซาล ซาเละห์ ฮายัต ประธานสหพันธ์ที่กุมบังเหียนผู้นำวงการฟุตบอลของประเทศมาตั้งแต่ปี 2003 ซาร์ดาร์ นาวีด ไฮเดอร์ ข่าน รองประธาน และ พ.ท.อาเหม็ด ยาร์ ข่าน โลด มีความทะเยอทะยานที่ยกระดับฟุตบอลของประเทศ ให้สู้กับคริกเกตได้
เป้าหมายของทั้งสามคน คือ ฟุตบอลทีมชาติปากีสถานจะต้องผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียใต้ให้ได้

ประธานสหพันธ์มีความสัมพันธ์อันดีกับ ชีกซัลมาน ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย(เอเอฟซี) คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นชาวบาห์เรน จึงได้มีการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างฟุตบอลสองประเทศ ปากีสถานรับช่วงต่อโค้ชบาห์เรนมาทำทีม ทั้ง ซัลมาน ชาริด้า ในอดีต และ โชเซ่ อันโตนิโอ โนเกร่า ในปัจจุบัน

ไซเอด ไฟซาล ซาเละห์ ฮายัต ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นและมีรอบด่างมากมายตลอดการทำหน้าที่เป็นประธานสหพันธ์ จนมีการต่อต้านจากหลายฝ่าย และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายจนฟีฟ่าต้องลงโทษแบนไปตั้งแต่ปี 2015 เป็นการตีตรวนล่ามโซ่ ก่อนจะเข้ามาช่วยสางปมต่างๆ ให้จนแล้วเสร็จ และยกเลิกแบนไปเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว

ปากีสถานเคยมีอันดับโลกที่ดีที่สุดอยู่ที่ 141 ของโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1993 แต่ในช่วงที่โดนลงโทษห้ามแข่งขันนั้น อันดับร่วงลงมาที่ 201 ของโลก เหลืออีก 10 อันดับก็จะกลายเป็นชาติที่อยู่ท้ายตารางของฟีฟ่าแรงกิ้งแล้ว

หลังจากถูกปลดโซ่ตรวน ปากีสถานเตรียมทีมชาติ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ลงแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพเมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งสามารถคว้าชัยชนะหนแรกในรอบ 44 ปีของเอเชี่ยนเกมส์ได้สำเร็จ ด้วยการชนะเนปาล 2-1 ในรอบแบ่งกลุ่ม แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะผ่านเข้ารอบต่อไปได้

โชเซ่ อันโตนิโอ โนเกร่า

โนเกร่า เฮดโค้ชชาวบราซิเลียนที่เคยทำทีมอัล อาห์ลี ในซาอุดีอาระเบียมาแล้ว บอกว่า เขามีแผนมากมายที่จะช่วยพัฒนาฟุตบอลปากีสถาน วงการลูกหนังที่นี่ถูกหยุดไปนาน ทำให้ตอนนี้ต้องกลับมาสร้างกันใหม่อีกครั้ง

“ผมจะอยู่ที่นี่อย่างน้อย 3 ปี เพื่อจะสร้างเยาวชนขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพาปากีสถานเป็นทีในระดับเอเชียให้ได้” กุนซือวัย 52 ปีกล่าว

ประเทศนี้ได้เปรียบตรงที่มีผู้อพยพเข้าไปอยู่ในยุโรปจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ จึงมีนักเตะเชื้อสายปากีสถานในเกาะอังกฤษจำนวนมาก ซึ่งโนเกร่าสามารถดึงแข้งเหล่านี้มาเป็นกำลังหลักในทีมชาติได้ เซช เรห์มาน กองหลังฟูแล่ม อัดนาน อาเหม็ด อดีตมิดฟิลด์ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์, ทรานเมียร์ โรเวอร์ส ที่ปัจจุบันเล่นอยู่กับทีมนอกลีกในอังกฤษ หรือ คาชิฟ ซิดดีคี่ กองหลังนอร์ธแฮมป์ตัน ทาวน์ ทีมในลีกทู

นอกจากสามแข้งหน้าประจำในทีมชาติแล้ว โนเกร่าสามารถตามหานักเตะที่มีเชื้อสายปากีจากหลายๆ ประเทศในยุโรป สกอตแลนด์, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์ มาร่วมทีมได้

คาชิฟ ซิดดีคี่

ซิดดีคี่บอกว่า ปากีสถานมักจะหาโค้ชเก่งๆ มาทำทีมอยู่เสมอ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้โค้ชจากอเมริกาใต้มาทำทีม และโนเกร่าก็ประสบความสำเร็จจากการทำงานในซาอุดีอาระเบียมาแล้ว ทำให้มีความหวังว่าจะเป็นเช่นนั้นที่ปากีสถานด้วย

นอกจากการสร้างทีมขึ้นมาใหม่แล้ว การสร้างกระแสให้คนในประเทศตื่นตัวกับฟุตบอลให้ใกล้เคียงกับบ้าคริกเกตก็เดินหน้าไปเช่นกัน

โรแบร์ ปิแรส, นิโกล่าส์ อเนลก้า อดีตสองนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส ไรอัน กิ๊กส์ ตำนานานักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ โรนัลดินโญ่ แข้งบราซิลเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ ร่วมเตะฟุตบอล 7 คนกับคนท้องถิ่น รวม 2 แมตช์ ซึ่งมีแฟนบอลเข้าชมแน่นความจุสนามที่การาจีเลยทีเดียว

การเดินหน้าปฏิวัติฟุตบอลปากีสถานครั้งนี้ถือเป็นงานหนัก เหมือนเป็นการเริ่มใหม่จากศูนย์ โอกาสจะเดินตามรอยมหาอำนาจในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน หรือออสเตรเลียอีกยาวไกล แม้แต่จะเบียดชนะอินเดีย เพื่อนบ้านร่วมโซนเอเชียใต้ก็ยังถือว่าหนักหนาสาหัส

แต่ถ้าไม่เริ่ม และนั่งจมอยู่กับความขาดแคลน ก็คงโดนยักษ์ใหญ่เหยียบย่ำไปวันๆ เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image