‘บิ๊กก้อง’ เล็งยึดโมเดล ‘แมนเชสเตอร์’ ยื่นเสนอขอจัดศึก ‘ยูธโอลิมปิกเกมส์2026’

“บิ๊กก้อง” นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) พร้อมด้วย พันโทรุจ แสงอุดม รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ กกท. ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้กับ ชาร์ลส จอห์นสตัน ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพย์สิน สำนักงานกีฬาประเทศอังกฤษ และเอม่อน โอรูกส์ วิทยากรจากเวิลด์ อคาเดมี ออฟ สปอร์ต ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน

ภายหลังจากการพูดคุยกัน นายก้องศักด กล่าวว่า การมาคุยวันนี้ได้รู้ว่าการบริหารจัดการของอังกฤษนั้นเป็นอย่างไร อังกฤษนั้นใช้งบประมาณปีละ 300 ล้านปอนด์ (ราว 12,900 ล้านบาท) ทำให้เห็นว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับกีฬามาก ในส่วนนี้เป็นเรื่องของกีฬาเพื่อมวลชน ในการทำให้คนมีวัฒนธรรมในการเล่นกีฬา ทำให้เป็นวิถีชีวิต และการทำงานแบบนี้ทำร่วมกันทั้งเครือสหราชอาณาจักร เพื่อขยายฐานคนเล่นกีฬา ไปต่อยอดกับสำนักงานกีฬาสหราชอาณาจักร (ยูเคสปอร์ต) เพื่อดูแลต่อในส่วนของเป็นเลิศ ส่งแข่งขันต่างๆ

บิ๊กก้อง กล่าวต่อว่า ในการพูดคุยอังกฤษได้ยกแมนเชสเตอร์โมเดลมาให้ดู คือการที่จะขอเป็นเจ้าภาพกีฬาใดๆ ไม่ได้หวังผลเรื่องหน้าตาอย่างเดียว แต่เป้าหมายคือการใช้การแข่งขันนำไปสู่การพัฒนาเป็นสปอร์ตซิตี้ ผลักดันให้คนออกกำลังกายมากขึ้น ปรับปรุงสถานที่ออกกำลังกาย ซึ่งถือว่าเป็นการวางแผนระยะยาว

“คิดว่าได้บทเรียนจากการคุยครั้งนี้ เพราะประเทศไทยกำลังจะวางแผนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพยูธโอลิมปิกเกมส์ 2026 การได้แนวคิดนี้มาถือว่าตรงกัน อังกฤษใช้กีฬาเครือสหราชอาณาจักร มาปลุกกระแส ไทยก็จะใช้ยูธโอลิมปิกเกมส์มาปลุกกระแสเช่นกัน อยากต่อยอดไปให้ถึงชุมชน ให้เป็นวิถึชีวิตของคนเช่นกัน กลับไปก็คงจะคุยกันที่เมืองไทยว่าจะเตรียมการอย่างไรบ้าง”

Advertisement

“ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไม่ใช่แค่เป็นเลิศอย่างเดียว ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นในแนวทางที่ดี เพราะมีคณะกรรมการนโยบายกีฬาแห่งชาติเป็นตัวประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งกกท., กรมพลศึกษา และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และท้องถิ่น ไปในทางเดียวกัน ก็จะประสบความสำเร็จได้” ผู้ว่าการกกท. กล่าว

นายก้องศักด กล่าวเสริมว่า ทางอังกฤษนั้นไม่ได้จัดกีฬาแห่งชาติเหมือนประเทศไทย มีเพียงแต่ระดับเยาวชนเท่านั้น เพราะต้องการสร้างดาวรุ่ง จะมีเพียงชิงแชมป์ระดับประเทศแยกเป็นชนิดกีฬา แต่ไม่เป็นระดับมหกรรม ด้วยความที่มองว่ามีการแข่งขันเยอะอยู่แล้ว

“อังกฤษเข้าใจธรรมชาติกีฬาเป็นอย่างดี อย่างฟุตบอล มีการแข่งขันลีกที่แข็งแกร่งก็ไปสนับสนุนตรงนั้น แต่พอเป็นฮอกกี้ ลีกไม่แกร่ง แต่ระดับมหาวิทยาลัยแข่งขันเข้มข้น ก็ไปสนับสนุนระดับมหาวิทยาลัยแทน แต่ละกีฬามีความแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มเดียวกันทั้งหมด นับเป็นเรื่องที่น่ามองและนำเอามาเป็นตัวอย่างได้” บิ๊กก้อง กล่าวปิดท้าย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image