ส.บอลไทย ประสานรัฐ ดิ้นช่วยสโมสร หลังกระทบค่าลิขสิทธิ์ยิงสด-สปอนเซอร์ชะงัก

ส.บอลไทย ประสานรัฐ ดิ้นช่วยสโมสร หลังกระทบค่าลิขสิทธิ์ยิงสด-สปอนเซอร์ชะงัก

ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกแนวทางมาตรการผ่อนปรนสำหรับกิจการและกิจกรรมออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกให้กิจการ และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยกลับมาดำเนินการก่อนในวันที่ 3 พฤษภาคมเป็นวันแรก ส่วนกิจกรรมการแข่งขันกีฬา เช่นสนามมวย สนามฟุตบอล จัดว่ามีความเสี่ยงสูง จึงต้องจัดไว้เป็นกลุ่มท้ายสุดที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4 นั้น

“บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ในส่วนของการแข่งขันฟุตบอลนั้น ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนไปหมดแล้ว มีข้อสรุปจากสโมสรร่วมกันว่า การแข่งขันนั้นจะเลื่อนออกไปเป็นเดือนกันยายน พ.ศ.2563 และแข่งขันไปจบในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564 แทน เริ่มแข่งขันจากนัดที่ 5 เป็นต้นไป และเปิดตลาดซื้อขายยนักเตะใหม่ โดยทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ถ้าหากว่าสถานการณ์ดีขึ้น ความเสี่ยงน้อยลง มีนโยบายผ่อนปรนให้จัดการแข่งขันแบบเปิดหรือแบบปิดได้

นายกลูกหนังไทย กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องปัญหาการเงินนั้น ไม่ใช่เพียงแค่สมาคม หรือว่าสโมสรในประเทศไทยที่มีปัญหากัน มันเป็นปัญหาที่เจอกันทั่วโลก เรื่องนี้ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และองค์กรฟุตบอลต่างๆ อยู่ในระหว่างประชุมว่า จะช่วยเหลือ เยียวยาอย่างไร มีมาตรการหรือข้อกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่ ขณะที่ประเทศไทย สมาคมได้ทำหนังสือถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งรัฐบาลว่า ทั้งสมาคมและสโมสรนั้นได้รับผลกระทบใดๆ บ้างจากคำสั่งของรัฐบาล

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวเสริมว่า สมาคมนั้นต้องดิ้นรน เนื่องจากว่าค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด หรือสปอนเซอร์ต่างๆ ที่เราไม่ได้ดำเนินการตามสัญญาที่ตกลงเอาไว้ เรื่องนี้ไม่สามารถโทษใครได้ เพราะมันชะงักกันไปหมด ทุกคนมีภาระของตัวเอง และสมาคมก็ต้องพยายามบริหารให้ผ่านช่วงนี้ไปได้ เช่นเดียวกับสโมสรที่ต้องแก้ปัญหาเช่นกัน

Advertisement

“ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด หรือวางแผนล่วงหน้าว่า มันจะเกิดขึ้น และไม่มีใครมีประสบการณ์ตรงนี้มาก่อน แต่เชื่อว่าทาง กกท., กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงรัฐบาล จะมีวิธีการเยียวยาองค์กรกีฬาต่างๆ ไม่ใช่แค่ฟุตบอลอย่างเดียว เพียงแต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้นยังไม่ทราบได้เท่านั้น”

ทั้งนี้ ในส่วนของวงการฟุตบอลนั้น หลังจากที่มีข้อตกลงเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนตุลาคม ทำให้บางสโมสรนั้นปล่อยตัวนักเตะในช่วงนี้ และบางสโมสรมีข้อตกลงในการลดเงินเดือนนักเตะ จนกว่าการแข่งขันจะกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง และบางทีมก็มีการยกเลิกสัญญานักเตะด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ บรรดานักฟุตบอลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ต่างทำอาชีพเสริมหารายได้พิเศษ เช่น อดิศร พรหมรักษ์, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี เปิดร้ายขายกาแฟอะเมซอน, อดิศักดิ์ ไกรษร ขายทุเรียนจากสวนตัวเอง, ธีรเทพ วิโนทัย ขายหน้ากากอนามัย, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม ขายไตปลาคั่วแห้ง, สุเชาว์ นุชนุ่ม ทำไร่มันสำปะหลัง, อนุรักษ์ ชมภูพฤกษ์ และกฤษดา เหมวิพัฒน์ ขายรองเท้าสตั๊ด, เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ ทำฟาร์มเลี้ยงวัว ธุรกิจครอบครัว, วสุศิวกิจ ภูสีฤทธิ์ เปิดร้านต้มยำตำแซ่บ ฯลฯ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image