สกู๊ปพิเศษ : อินดอร์มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ เกมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ!

สกู๊ปพิเศษ : อินดอร์มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ เกมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ!

รัฐบาลไทยตัดสินใจรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับทวีปเอเชียในปีหน้านั่นคือ กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ค.ศ.2021 / พ.ศ.2564 อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว หลังมีการลงนามเซ็นสัญญารับเป็นเมืองเจ้าภาพหรือ Host City Contract ระหว่าง รัฐบาลไทย กับ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) เจ้าของเกมการแข่งขันไปเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา

โดยมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทย ส่วนฝั่งโอซีเอนั้นมี ชีคอาหมัด อัล-ฟาฮัด อัล-ซาบาห์ ประธานโอซีเอ ร่วมลงนาม ผ่านระบบการประชุมทางไกล หรือ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ “โควิด-19” ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในยามนี้

 

Advertisement

ประเด็นที่ประเทศไทย เดินเครื่องรับเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬารายการนี้ถูกผลักดันโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ, การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 สมัย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เป็นการเจรจาเบื้องต้นกันไว้ตั้งแต่ก่อนที่ไวรัส “โควิด-19” จะออกมาเขย่าโลก ดังนั้นเรื่องที่หลายต่อหลายคนแสดงความเห็นคัดค้านการเป็นเจ้าภาพของไทยกับมหกรรมกีฬาทวีปเอเชียรายการนี้เพราะอาจตกในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในช่วงเวลาที่จัดแข่งขันนั้น ประเด็นนี้น่าเห็นใจรัฐบาลไทยเหมือนกันเพราะเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม และรัฐบาลไทยก็ตกลงกับโอซีเอ ในการรับเป็นเจ้าภาพไปก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของไวรัส “โควิด-19”

Advertisement

 

กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ค.ศ.2021 / พ.ศ.2564 ถูกกำหนดไว้จัดแข่งขันในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ที่ จ.กรุงเทพมหานคร และ จ.ชลบุรี โดยเบื้องต้นกำหนดจัดให้มีการแข่งขันจำนวน 24 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑาในร่ม, คิวสปอร์ต, โบว์ลิ่ง, ลีลาศ, หมากรุก, ฟุตซอล, โรลเลอร์สปอร์ต / ปีนหน้าผา, ว่ายน้ำระยะสั้น, มวย, ยูยิตสู, จักรยาน BMX, ตะกร้อลอดห่วง/เซปักตะกร้อ, คูราช, ฟลอร์บอล, เนตบอล, เทควันโด, ฮอกกี้ในร่ม, คาราเต้, อีสปอร์ต, แบดมินตัน, ปันจักสีลัต, เชียร์ลีดดิ้ง, แซมโบ และเรือพายในร่ม

ว่าไปแล้วการเป็นเจ้าภาพของไทยอาจจะต้องขยับไปจัดปลายปีด้วยซ้ำเพราะช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2564 ทุกฝ่ายประเมินกันว่าชาวโลกยังคงทำสงครามกับ เชื้อไวรัส “โควิด-19” ไม่เสร็จสิ้นแน่นอน มีแนวโน้มสูงที่จะขยับออกไปแข่งขันช่วงปลายปี หรือหลังจากการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เลื่อนไปแข่งขันระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม พ.ศ.2564

ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันมากคือ ไทยแลนด์คิดอย่างไรถึงได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับเอเชียในยามที่สภาวะเศรษฐกิจทิ้งดิ่ง ประชาชนกำลังเดือดร้อน และคงจะต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีกว่าจะฟื้นฟูกลับมายืนระยะได้

ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาบริหารประเทศ มักจะคิดกันว่า ประเทศไทยจะอาศัยการจัดกีฬา การเป็นเจ้าภาพกีฬา ประกาศให้ชาวเอเชีย ประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ไทยแลนด์นั้นแข็งแกร่ง ไทยแลนด์นั้นมีความพร้อม ไทยแลนด์เป็นดินแดนศิวิไล เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในแง่ของการได้ประชาสัมพันธ์ประเทศไปสู่สายตาชาวโลก เป็นการกระตุ้นเรื่องของการท่องเที่ยวเพราะมีนักกีฬา เจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ฯลฯ

ฝ่ายบริหารมองกันว่า การจัดกีฬานานาชาติ การจัดประชุมนานาชาติในเมืองไทยนั้น คุ้มค่า แต่ความจริงที่รัฐบาล รวมถึงคีย์แมนวงการกีฬาลืมนึกกันไปนั่นคือ คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ประชาชนคนไทยต้องก้มหน้ายอมรับความเจ็บปวดกับการชอบทำตัวแบบ “หน้าใหญ่” ของผู้บริหารกีฬาเมืองไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์บ่งชี้ชัดเจนว่า การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาทั้งระดับเอเชีย และระดับโลกของเมืองไทยล้วนแต่เป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” แทบทั้งสิ้น

เม็ดเงินมหาศาลหลัก 1-2 พันล้านบาทที่มาจากภาษีประชาชนคนไทยไม่ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่ากลับคืนสู่ประชาชน แต่ถูกนำไปละเลงแบบไร้ค่ากับการเป็นเจ้าภาพกีฬาในเวลาที่ประเทศชาติยังไม่มีความพร้อมเหลือกินเหลือใช้

ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน ไทยเคยเปิดซิงรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 1 มาแล้วเมื่อปี ค.ศ.2005 / พ.ศ.2548 โดยใช้กรุงเทพมหานคร, จ.สุพรรณบุรี, จ.ชลบุรี เป็นเมืองจัดแข่งขัน

เช่นเดียวกัน ไทยก็เปิดซิง รับเป็นเจ้าภาพ กีฬาเอเชี่ยนมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 1 อีกเช่นกันในอีก 4 ปีต่อมา ค.ศ.2009 / พ.ศ.2552 โดยใช้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลัก

กระทั่งปี ค.ศ.2017 / พ.ศ.2560 โอซีเอ มีมติให้ทั้ง 2 เกมคือ เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ และเอเชี่ยนมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ควบรวมเป็นมหกรรมกีฬาเดียวกัน ภายใต้ชื่อ เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ และให้จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี เพราะมีการเพิ่มการแข่งขัน กีฬาเอเชี่ยน ยูธ เกมส์ และ เอเชี่ยนบีชเกมส์ ขึ้นมาอีก

การเป็นเจ้าภาพของไทย เคยผ่านมาแล้วทั้งอินดอร์เกมส์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ขณะที่ชาติใหญ่มหาอำนาจกีฬาในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ ยังไม่เคยคิดที่จะเสนอตัวรายการดังกล่าว เพราะประเมินกันแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุนของภาครัฐบาล

นี่ยังไม่รวมถึงแผนงานใหญ่ของประเทศไทยที่คิดการใหญ่ถึงขั้นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน ฟุตบอลโลก ค.ศ.2034 รวมไปถึง โอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ค.ศ…. กันอีก

การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาของไทยไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่เราควรทำเมื่อเราพร้อมในทุกด้านทั้งเรื่องของเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชน การเมืองต้องนิ่ง สภาพแวดล้อมเรื่องการคมนาคมขนส่ง การแพทย์ พยาบาล ฯลฯ พร้อมถึงขีดสุด เพราะปากท้องของคนในชาติเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

ถ้าเราไม่พร้อมก็ไม่ควรดันทุรังไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ…แบบที่ทำกันอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image