อย่าปล่อยโอกาสทองช่วง ‘โควิด’ สอนลูกออกกำลัง ‘กาย’ และ ‘สมอง’

อย่าปล่อยโอกาสทองช่วง ‘โควิด’ สอนลูกออกกำลัง ‘กาย’ และ ‘สมอง’

แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ในประเทศไทยจะอยู่ในขั้นเบาใจได้ระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะไวรัสร้ายตัวนี้อาจจะแฝงอยู่ในร่างกายใครหลายๆคน เพียงแต่ไม่แสดงอาการให้ปรากฏเท่านั้น ซึ่งผู้สูงอายุและเด็กนับว่าเป็นกลุ่มที่อ่อนแอและมีโอกาสรับเชื้อได้ง่ายที่สุด

ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคนี้อย่างได้ผลชัดเจน วิธีการป้องกันตนเองที่ดีที่สุด คือ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และหากเป็นไปได้ ไม่มีธุระจำเป็นก็ควรเก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด

ปัญหาที่ตามมาคือ ครอบครัวที่มีลูกหรือเด็กต้องหยุดเรียนอยู่ที่บ้าน โดยไม่มีการกำหนดกิจกรรมหรือมอบหมายความรับผิดชอบให้เด็กทำในแต่ละช่วงเวลาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะทำให้เด็กใช้เวลาว่างไปกับการดูทีวี เล่นเกม เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือใช้เวลาว่างที่ไม่สร้างสรรค์ ถือว่าพ่อแม่สูญเสียโอกาสทองในการสร้างอบอุ่นและความผูกพันธ์ที่ดีในครอบครัว ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกช่วงนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

 

Advertisement

 

การเพิ่มการเรียนรู้ให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นในช่วงของสถานการณ์ “โควิด-19” หรือในทุกช่วงเวลาที่มีโอกาสคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผู้ปกครองจะดูแลและควบคุมให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม

Advertisement

ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย แนะนำว่า เราควรเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียน และที่ออกกำลังกายสำหรับเด็ก โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนครูผู้สอนด้วยการจัดเตรียมกิจกรรมส่งเสริมทักษะและความรู้ให้เด็กได้ลงมือกระทำ เป็นการพัฒนาสุขภาพร่างกายและสมอง กิจกรรมที่ทำจะต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติที่สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจได้ไม่ยุ่งยาก เป็นตารางกำหนดให้เด็กใช้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำปรึกษา และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูก โดยการวางเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การพัฒนาความรับผิดชอบและระเบียบวินัยให้กับลูก ขณะเดียวกัน ต้องให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ผ่อนคลาย ไม่กดดัน หรือทำให้รู้สึกเครียด ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการหรือการเรียนรู้ของเด็กแต่ประการใด

 

 

กิจกรรมที่เป็นการพัฒนาสมองอย่างเช่น การเล่นกำมือแบมือ คำใบ้ปริศนา การต่อบัตรคำ การต่อครอสเวิร์ดซึ่งดูเป็นการเล่นง่ายๆ แต่ล้วนเป็นการพัฒนาสมองที่ต้องใช้กระบวนการคิดหรือการคาดการณ์อย่างมีเหตุผลทั้งสิ้น ถือเป็นกิจกรมการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมการคิดอย่างมีเหตุผลให้กับเด็ก

ส่วนกิจกรรมทางกาย อาจจะให้ทำท่าการเคลื่อนไหวเลียนแบบสัตว์ เช่น ท่าหมีคลาน การยืนทรงตัวขาเดียว การกระโดดแบบกบ หรือการกระโดดแบบจิงโจ้เป็นต้น หรือฝึกทักษะการโยนรับโดยประยุกต์ใช้หมอนแทนลูกบอลเล่นเป็นเกมให้เด็กทำแค่พอรู้สึกเหนื่อยหรือเกิดความสนุกสนานได้ออกกำลังกาย

กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นและพัฒนาความคิดให้เด็กรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งผลดีในระยะยาวในการพัฒนาวุฒิภาวะ ความรับผิด ความมีวินัยโดยไม่รู้ตัว

แต่ปัญหาสำคัญคือ ผู้ปกครองหรือพ่อแม่มีเวลาให้กับลูกและพร้อมที่จะให้คำแนะนำในสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์กับลูกของตนเองมากน้อยแค่ไหน

หลายครอบครัวปากกัดตีนถีบ พ่อแม่ออกไปทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวและต้องปล่อยลูกอยู่กับบ้านตามลำพังไม่มีคนดูแลก็จะขาดการพัฒนา

 

 

 

สิ่งที่ทำได้คือ กำหนดตารางให้ลูกทำกิจกรรม เด็กในวัย 6 ขวบถึง 12 ขวบ หรือช่วงป.1-6 เริ่มเป็นวัยที่รับฟังเหตุผล สามารถพูดคุยสื่อสารทำความเข้าใจกับเค้าได้ แต่ถ้าอายุน้อยกว่านี้ วุฒิภาวะความมีเหตุผลและการรับผิดชอบต่อตัวเองน้อยมาก ยิ่งในสภาพสังคมไทย เด็กมักขาดวินัยขาด ความรับผิดชอบ เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาใส่ใจหรืออยู่กับลูก เด็กจึงทำอะไรตามใจตนเอง ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กทั้งสิ้น

“ช่วงวิกฤติโควิด จึงช่วยสะท้อนภาพสังคมไทยหลายอย่าง ครอบครัวใดมีวิธีการบริหารจัดการปัญหาอุปสรรคอย่างไร พึ่งพาตนเองได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็นปัญหาต่อตัวเองและสังคมหรือไม่ การสร้างวินัยให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ มีความสำคัญมาก อย่านึกว่าเด็กจะไม่รู้เรื่อง เด็กทารกหรือเด็กเล็ก แม้ว่าจะยังไม่สามารถสื่อด้วยการพูดเหมือนเด็กโต แต่สามารถรับรู้ได้จากการสัมผัส ยกตัวอย่างเด็กทารกบางคนทำไมอยากให้คนบางคนอุ้ม แต่กับบางคนไม่อยากให้อุ้ม เพราะการสัมผัสแรกที่เขาได้รับเป็นการสัมผัสที่ขาดความอ่อนโยนนุ่มนวล เด็กก็จะไม่ชอบ การสอนเด็กให้เข้าใจจึงต้องให้เด็กได้รับรู้ผ่านการลงมือกระทำหรือสัมผัสด้วยตนเอง โดยมีพ่อแม่เป็นครูคอยให้คำแนะนำ เป็นความรู้ที่สอนจากความเป็นจริงสัมผัสได้เด็กจึงจะเกิดการเรียนรู้และเข้าใจ ไม่ใช่สอนด้วยการบอกเล่าหรือสั่งให้เด็กทำตาม เพราะเด็กจะไม่เข้าใจ เช่น เรามักสอนเด็กให้เป็นคนดีโดยการบอกกล่าว ซึ่งเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ตัวตนของความดีเป็นอย่างไรเด็กไม่รู้สิ่งที่จะสอนเด็กได้ดีที่สุดคือ การสอนผ่านพฤติกรรมและการกระทำ สอนให้เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรมเช่น เมื่อกลับจากโรงเรียนควรทำการบ้านให้เสร็จและจัดเตรียมสิ่งของที่จะไปเรียนในวันรุ่งขึ้นให้เรียบร้อยก่อนไปเล่นหรือดูทีวี, การจัดเก็บสิ่งของที่ใช้เสร็จแล้วกลับวางเข้าที่เดิม ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อส่วนรวม และเมื่อเด็กทำดีพ่อแม่ต้องชื่นชมให้กำลังใจ ย้ำไปเรื่อยๆ เด็กจะค่อยๆเรียนรู้และซึมซับว่า ..ความดีคืออะไร.. มีคุณค่าและผลดีต่อตนเองและส่วนรวมอย่างไร”

 

 

ศ.ดร.เจริญ ยังแนะนำอีกว่า นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ควรจะสนับสนุนให้เด็กเล่นกีฬา ปลูกฝังให้กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะกีฬาถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวิธีคิด ทักษะการคิด ความมีวินัย แต่ก็จะต้องหาสถานที่ฝึก วางรากฐานที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นกันเอง เพราะเรื่องทักษะการออกกำลังกายมีคนจำนวนมากยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ส่วนใหญ่ไปเน้นผลแพ้ชนะซึ่งไม่ใช่แก่นแท้ของการเล่นกีฬา และสุดท้ายในเด็กจะเกิดความกลัว ความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเล่นกีฬา

“สิ่งสำคัญที่ผมเน้นเป็นประจำคือ อย่าเลียนแบบ ให้เรียนรู้”

อนึ่ง สามารถเข้าไปดูคลิปการออกกำลังกาย รวมถึงคำแนะนำในการออกกำลังกายต่างๆ ได้ที่ Youtube Channel : Prof.Charoen Krabuanrat หรือเข้าไปที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Charoen Krabuanrat

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image