‘ก้องศักด’ ยัน ส.กีฬาที่ต้องตรวจโควิดนักกีฬาก่อนกลับมาแข่งออกค่าใช้จ่ายเอง
ตามที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนามในประกาศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อนุญาตให้ 14 ชนิดกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, บาสเกตบอล, ตะกร้อ, กอล์ฟ, เทนนิส, จักรยานยนต์, รถยนต์, แบดมินตัน, สนุกเกอร์, เจ็ตสกี, จักรยาน โบว์ลิ่ง และมวย จัดการแข่งขัน โดยไม่มีผู้ชมเข้าชมในสนาม ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป หลังจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้พิจารณารายละเอียดของคู่มือจัดการแข่งขัน ดังกล่าว เป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคู่มือจัดการแข่งขัน โดยไม่มีผู้ชม ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น มีการระบุว่า 5 ชนิดกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, บาสเกตบอล, ตะกร้อ และมวย นักกีฬาต้องผ่านการตรวจไวรัสโควิด-19 ทางห้องปฎิบัติการแบบบุคคล หรือ แบบรวมตัวอย่าง (Pooled Sample Testing) ส่วนอีก 9 ชนิดกีฬา ได้แก่ กอล์ฟ, เทนนิส, จักรยานยนต์, รถยนต์, แบดมินตัน, สนุกเกอร์, เจ็ตสกี, จักรยาน และโบว์ลิ่ง ไม่ต้องตรวจแต่อย่างใด
ในส่วนของวอลเลย์บอล เรืออากาศเอก จักรสุวรรณ โตเจริญ เลขาธิการสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สมาคมได้เตรียมที่จะทำเรื่องเสนอรัฐบาล ให้ช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจไวรัสโควิด-19 กับนักตบลูกยางของทั้ง 8 สโมสร ชาย และหญิง ที่จะทำศึกวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก รอบไฟนอลส์ วันที่ 21-30 กรกฎาคม
“แน่นอนว่า สำหรับการจัดการแข่งขัน สมาคมฯ พร้อมเดินหน้าเต็มที่ แต่งบประมาณในส่วนของการตรวจไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องที่เร่งด่วนเข้ามา จึงจำเป็นที่จะต้องปรึกษาหน่วยงานรัฐก่อนว่า ควรมีทางออกอย่างไร เพราะหากเป็นระดับหน่วยงานรัฐประสานกัน ในเรื่องการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายไม่แพงจนเกินไป” เรืออากาศเอกจักรสุวรรณกล่าว
“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า หลังมีการปลดล็อกให้กีฬาอาชีพสามารถกลับมาจัดการแข่งขันได้ โดยไม่มีผู้ชม ซึ่งทุกกีฬา ต้องปฏิบัติตามคู่มือการจัดการแข่งขันกีฬาอย่างเคร่งคัด โดยในคู่มือระบุให้มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนแข่งขัน ซึ่งยอมรับว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกชนิดกีฬาจำเป็นต้องทำ และได้เน้นไปที่กีฬาประเภททีมเป็นหลัก เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด อีกทั้งค่าใช่จ่ายในการตรวจก็ลดลงกว่าเดิมมากแล้ว
”เรื่องค่าใช่จ่ายที่เพิ่มขึ้นมานั้น กีฬาที่ได้รับอนุญาตแข่งขัน ล้วนเป็นกีฬาอาชีพ ซึ่งมีรายได้จัดการแข่งขัน มีผู้สนับสนุนอยู่แล้ว ดังนั้น ควรจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เองทั้งหมด ไม่ควรให้เป็นภาระของภาครัฐ เพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ปิดกั้น หากชนิดกีฬาใดติดขัด ก็ให้เข้ามาปรึกษากกท. ได้ ซึ่ง กกท. ก็จะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ว่าจะสามารถช่วยในส่วนใดได้บ้าง” ดร.ก้องศักดกล่าว