มหาวิทยาลัยไทยเปิดหลักสูตรปริญญาตรีธุรกิจเกมส์ – อีสปอร์ต

มหาวิทยาลัยไทยเปิดหลักสูตรปริญญาตรีธุรกิจเกมส์ – อีสปอร์ต

 

 

ปัจจุบันโลกของการเล่นเกมไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป แต่ถูกยกระดับกลายเป็นกีฬาดิจิทัลที่มีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมธุรกิจเกมและอีสปอร์ตในประเทศไทยให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ อาทิ การออกแบบเกม การถ่ายทอดสดเกม หรือแม้แต่การเป็นนักกีฬาระดับโปรเพลย์เยอร์ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีเพื่อผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด สร้างอาชีพที่หลากหลายให้วงการอีสปอร์ต ซึ่งจากงาน AIS x Techsauce Esports Summit งานเสวนาออนไลน์เต็มรูปแบบด้านอุตสาหกรรมธุรกิจเกมและอีสปอร์ตครบวงจรครั้งแรกของไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง “เอไอเอส” ผู้นำด้านอีสปอร์ตของไทย ร่วมกับ Techsauce Media โดยมีตัวแทนจากภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ร่วมพูดคุยถึงการเติบโตของวงการอีสปอร์ต ได้มีการหยิบยกหัวข้อ Academic Gaming Degrees : A Parent’s Guide to ESports ร่วมเสวนาเพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางอาชีพในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต

นางสาวรุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ หัวหน้าแผนกงานธุรกิจเกม เอไอเอส กล่าวว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในไทยในปี 2020 นี้มีแนวโน้มสร้างมูลค่ากว่า 27,000 ล้านบาท และยังช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องใน Esports Ecosystem เติบโตไปด้วย เกิดเป็นอาชีพใหม่ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อีกทาง ซึ่งในส่วนของภาคการศึกษา เอไอเอส ได้เข้าไปทำงานร่วมกับภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาอีสปอร์ต ผ่านชมรมอีสปอร์ตของมหาวิทยาลัย พร้อมสนับสนุนโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานหลัก รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้จัดการแข่งขันอีสปอร์ตภายในมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างทักษะความสามารถการบริหารจัดการด้านอีสปอร์ตให้กับนักศึกษา และผลักดันไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่สร้างรายได้ในอนาคต

Advertisement

นายกฤตย์ พัฒนเตชะ Head of Garena Thailand, Sea Thailand กล่าวถึงโอกาสในการเติบโตของอาชีพในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตว่า วงการเกมอีสปอร์ตถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมาแรง ได้รับความสนใจทั้งจากเด็กและผู้ใหญ่ บางคนก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อทำเป็นอาชีพ ด้วยอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนของธุรกิจจึงมีความต้องการแรงงานที่หลากหลายแขนงและมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันวงการนี้ให้เติบโตยิ่งขึ้นไป ซึ่งเรามองเห็นศักยภาพและโอกาสตรงนี้ที่สามารถสร้างอาชีพได้อีกมากมาย โดยในส่วนของภาคธุรกิจได้มีการนำความรู้ที่เรามี ไปหารือร่วมกับสถานศึกษาเพื่อออกแบบการเรียนการสอน ให้น้อง ๆ นักศึกษาได้รู้ว่าต้องเรียนรู้ทักษะอะไรบ้าง พอจบออกมาแล้วก็สามารถนำความรู้นั้นมาใช้ได้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับต่อไป

ขณะที่การรองรับของสถาบันการศึกษาต่อการเติบโตของอาชีพในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตในปัจจุบันนั้นมีหลักสูตรเพิ่มมากขึ้น ผู้เรียนและผู้ปกครองจึงควรศึกษาหาข้อมูลเพื่อให้ตรงกับสิ่งที่สนใจและอาชีพที่ต้องการทำในอนาคต นายวรานนท์ หรรษ์ไชยาศรี อาจารย์ประจำสาขาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า “ผมมองว่าการขยายตัวในตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับวงการอีสปอร์ต ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พูดในฐานะนักพัฒนาเกม อีสปอร์ตเข้ามาช่วยในเรื่องของการยืดอายุเกมไปอีก 10-20 ปี เด็กเล่นเกม เขาจะมีคาแรคเตอร์ที่เอาชนะอุปสรรคอย่างไม่มีข้อจำกัด พวกเขาจะมองเห็นช่องทางต่าง ๆ ในการพัฒนาเกม ซึ่งการจะสร้างเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง ต้องอาศัยองค์ความรู้เกือบทุกศาสตร์รวมเข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับด้านนี้ เป็นไปได้อยากให้นักเรียนและผู้ปกครองได้ไปงาน Open House ของทุกมหาวิทยาลัย ที่เปิดการสอนเกี่ยวกับภาควิชาที่เกี่ยวกับเกม เพื่อให้รู้ว่าเราเหมาะกับที่ไหน ที่สำคัญลองดูว่าในอนาคตเราอยากทำอาชีพอะไร มหาวิทยาลัยสอนความรู้ได้ในระดับหนึ่ง แต่เราอยากจะโดดเด่นด้านไหน ก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติม เพราะวงการเกม คือ สิ่งที่เราได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นอยากให้หาสิ่งที่ใช่สำหรับเรา

ด้านนายนภนต์ คุณะนิติสาร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวปิดท้ายว่า “จริง ๆ การเรียนด้านนี้ไม่ใช่แค่เล่นเกม แต่มีอาชีพที่หลากหลายอยู่ในนั้น ทุกคนสามารถเข้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้หมด ธรรมชาติของเกม มีความเป็นมัลติมีเดีย ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนอาจไม่ได้มีความถนัดในแบบเดียวกัน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในสร้างเกมนั้นขึ้นมา เด็กที่มาเรียนกับเราเขารู้ว่าตัวเองต้องเป็นอะไรและจะทำอะไร เขารู้ว่าแพสชันอยู่ตรงไหน ก็ทุ่มเทเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ สำหรับผู้ปกครอง ถ้าลูกของท่านชอบเล่นเกม เราอาจต้องคุยกับเขา ว่าอยากจะทำอะไรจริง ๆ ถ้าหากสนใจด้านนี้สามารถเข้ามาเยี่ยมชมที่คณะก่อนได้ ทางมหาวิทยาลัยก็ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้รองรับการเรียนการสอน สิ่งเหล่านี้ถ้านั่งฟังแต่ทฤษฏี คงเป็นไปได้ยาก การที่เด็กได้สัมผัสอุปกรณ์ เขาจะได้เรียนรู้ไปในตัว นอกจากนี้เรากำลังคุยกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำ MOU ในการเรียนรู้นอกสถานที่ เพราะเมื่อเด็ก ๆ ได้มาเห็นและสัมผัสกับอุปกรณ์จริง ก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้อีกด้วย”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image