นับถอยหลังสู่ ‘โตเกียว 2020’ โอลิมปิกในวันที่โลกป่วย

นับถอยหลังสู่ ‘โตเกียว 2020’ โอลิมปิกในวันที่โลกป่วย

โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว เจ้าภาพกำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม แต่โอลิมปิกครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่มีอุปสรรคมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะเจอไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก จนต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป 1 ปีเต็ม

เส้นทางการเป็นเจ้าภาพของโตเกียว เริ่มตั้งแต่ปี 2013 ที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล(ไอโอซี) รับสมัครและโหวตเลือกเมืองเจ้าภาพ ซึ่งต้องทำก่อนการแข่งขันล่วงหน้า 7 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับการเตรียมการของเจ้าภาพ โดยในรอบสุดท้ายของการคัดเลือก มี 3 เมืองที่ผ่านเข้ารอบมาได้ คือ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, กรุงมาดริด ประเทศสเปน, นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี สุดท้ายเป็นโตเกียวที่ชนะไป เป็นการได้สิทธิจัดโอลิมปิกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ต่อจากเมื่อปี 1964 และเป็นชาติในเอเชียชาติแรกที่ได้จัดโอลิมปิกมากกว่า 1 ครั้ง

เดิมทีญี่ปุ่นกำหนดวันเวลาเอาไว้ที่ 24 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม 2020 และเจ้าภาพก็พร้อมเต็มที่ก่อนกำหนดหลายเดือน อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ในช่วงนั้นทำให้มีความเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพของคนทั่วโลก 

Advertisement

ในช่วงต้นปี 2020 มีการพิจารณากันว่าจะเลื่อนการแข่งขันออกไปหรือไม่ แต่ โธมัส บาค ประธานไอโอซีได้ยืนยันว่า จะไม่เลื่อนและไม่ยกเลิก เพราะเป็นการทำลายความตั้งใจของนักกีฬาที่เตรียมตัวมาตลอด 4 ปี อย่างไรก็ตามมีหลายชาติที่ออกมากดดันให้เลื่อนการแข่งขันออกไปเพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อโควิด-19 

ออสเตรเลีย และ แคนาดา เป็นชาติที่ออกมาเรียกร้อง หลังจากนั้นก็เริ่มมีกระแสการต่อต้านการแข่งขันในช่วงที่โลกอยู่ในสภาวะวิกฤติ สุดท้ายไอโอซีและญี่ปุ่นจะจึงประกาศเลื่อนการแข่งขันออกไป โดยยังใช้ชื่อ “โตเกียว 2020” เหมือนเดิม แม้จะแข่งขันในปี 2021 ก็ตาม

ตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นแค่ช่วงเวลาการรอคอยที่จะแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีอุปสรรคอีกมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เรื่องแรก คือ งบประมาณที่ต้องพุ่งสูงขึ้นในช่วงระยะห่าง 1 ปี ซึ่งต้องใช้ในการดูแลสนามแข่งขัน สนามซ้อม หมู่บ้านนักกีฬา และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน ทำให้ยอดสรุปรวมคาดว่าอยู่ที่ 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(477,400 ล้านบาท) เพิ่มจากงบเดิมวางไว้ถึง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(86,800 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ตัวเลขก่อนจะเลื่อนก็เป็นงบประมาณในการจัดโอลิมปิกที่สูงสุดในประวัติศาสตร์แล้ว

Advertisement

ต่อมาเป็นเรื่องของการแข่งขันรอบคัดเลือก ที่หลายสนามจะต้องยกเลิกและเลื่อนออกไป เพราะประเทศเจ้าภาพในการคัดเลือกยังเจอโควิด-19 เล่นงานอย่างหนัก ทำให้การคัดเลือกล่าช้า รวมทั้งหลายกีฬาต้องเปลี่ยนระบบจากแข่งขันรอบคัดเลือก เป็นใช้อันดับโลกในการให้โควต้าไปแทน สุดท้ายทุกกีฬาก็จัดการทุกอย่างจบลงด้วยดี และพร้อมที่จะแข่งขันตามโปรแกรมที่วางไว้

อีกปัญหาใหญ่ของเจ้าภาพ คือ จะให้แฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขันได้หรือไม่ เพราะมีคำเตือนว่าเมื่อให้คนทั่วโลกไปรวมตัวกันจำนวนมากอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ แต่เมื่อมีการขายบัตรเข้าชมไปแล้ว ทำให้ต้องมาประเมินกันถึงสิ่งที่ได้และเสียหลังจากจบการแข่งขัน

ในที่สุดก็มีการประกาศห้ามแฟนกีฬาต่างประเทศเข้าสนาม ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น และกำหนดว่าในแต่ละสนามจะเข้าชมได้เพียงครึ่งของความจุ แต่จะไม่เกิน 10,000 คน ถึงแม้ความจุจะมากขนาดไหนก็ตาม

ล่าสุด ในหลายเมืองก็ประกาศห้ามแฟนกีฬาชาวญี่ปุ่นเข้าชมในสนามแล้ว เพราะมีการเตือนว่าอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในกรุงโตเกียว แล้วก็ตามต่อมาด้วยหลายจังหวัดฮอกไกโด, ไซตามะ, ชิบะ, คานากาวะ, ฟูกุชิมะ ยกเว้นมิยากิและชิซึโอกะ เท่านั้น ที่ยังอนุญาตให้เข้าชมได้

นอกจากนั้นยังห้ามแฟนร่วมชมการแข่งขันวิ่งมาราธอน ตลอดสองข้างทางในวันแข่งขัน ขณะที่การแข่งขันจักรยานถนนและไตรกีฬา ก็ขอให้ประชาชนออกห่างจากบริเวณแข่งขันเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จนถึงตอนนี้เหมือนกับว่ากีฬาจะต้องแข่งกันเองเชียร์กันเองเกือบทุกสนาม

ส่วนประชาชนญี่ปุ่นก็แสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลยังยืนกรานที่จะจัดการแข่งขัน ทั้งๆ ที่ยังต้องรับมือการติดเชื้อ และบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องทำงานอย่างหนักแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเดินขบวนประท้วง พร้อมทั้งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิก ล่าสุด มีการฉีดน้ำดับคบเพลิงที่กำลังวิ่งกันอยู่ เป็นข่าวดังไปทั่วโลกมาแล้ว รวมทั้งลงชื่อให้ยกเลิกโอลิมปิก ใน www.change.org มีผู้ร่วมลงชื่อหลายแสนคน

ถึงจะถูกต่อต้านจากคนในประเทศ แต่ไอโอซีและรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไป โดยมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนคนในประเทศ ให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาต้องตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ นักกีฬาและเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจทุกวัน ลดจำนวนวันที่นักกีฬาจะอยู่ในญี่ปุ่น เดินทางเข้ามาก่อนการแข่งขันน้อยวันลง และเดินทางกลับทันทีหลังจบการแข่งขัน 1 วัน

โตเกียว 2020 ถูกคาดหมายว่าจะเป็นโอลิมปิกที่ไฮเทคและมีเรื่องน่าตื่นตื่นใจมากที่สุด แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย ก็ยังเชื่อว่าญี่ปุ่นจะจัดการแข่งขันออกมาได้น่าสนใจมากที่สุดท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย และหวังว่าจะมีผู้ติดเชื้อจากมหกรรมครั้งนี้น้อยที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในส่วนของไทยมีนักกีฬาได้โควต้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 42 คน มีลุ้นเหรียญรางวัลจากกีฬาความหวัง ทั้งมวยสากลและเทควันโด และอาจจะมีเซอร์ไพรส์จากอีกหลายชนิดกีฬา อย่าลืมติดตามให้กำลังใจกันในวันแข่งขัน เหรียญมีแน่ แต่จะเป็นเหรียญอะไร และกี่เหรียญเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image