มือ1-แชมป์เก่า-ตัวเต็ง ที่น่าผิดหวังในโตเกียว 2020

มือ1-แชมป์เก่า-ตัวเต็ง ที่น่าผิดหวังในโตเกียว 2020

โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผ่านไปครึ่งทาง มีนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและผิดหวังมากมาย โดยเฉพาะมือเต็งหลายคนที่ไปไม่ถึงฝัน พลาดเหรียญทองทั้งๆ ที่ก่อนการแข่งขันถูกยกให้คว้าแชมป์ได้แบบไม่น่ามีปัญหา

เต็งหนึ่งและเต็งแชมป์ที่พลาดหวังในโตเกียว 2020 มีใครบ้าง มาลองดูกัน

เคนโตะ โมโมตะ (แบดมินตัน-ญี่ปุ่น)

Advertisement

โมโมตะ คือ มือ 1 ของโลกในประเภทชายเดี่ยว และได้ลงเล่นในบ้านเกิดของตัวเอง นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา เขาเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแบดมินตันอาชีพ บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ รวมกัน 18 รายการ คว้าแชมป์ได้ถึง 14 รายการ เป็นทั้งแชมป์โลกและแชมป์เอเชีย 2 สมัย ติดต่อกัน ในปี 2018 และ 2019 (ปี 2020 ไม่มีการแข่งขันเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19) ครองมือ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน

ตัวเต็งของเจ้าภาพเจออุปสรรคไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา เพราะในโอลิมปิก 2016 เขาไม่ได้ลงแข่งขัน เพราะถูกแบนจากการไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันแบดมินตัน ปี 2020 ประสบอุบัติเหตุรถชนระหว่างเดินทางไปสนามบิน ที่มาเลเซียอีก ต้นปี 2021 ก็ติดโควิด-19 ท้ายที่สุดมาตกรอบแบ่งกลุ่ม ในบ้านเกิด

Advertisement

โนวัก โยโควิช (เทนนิส-เซอร์เบีย)

ถ้าจะบอกว่าโยโควิชนักเทนนิสที่ดีที่สุดในยุคนี้ก็คงไม่ผิด เพราะเขาเพิ่งคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครบ 20 รายการ มากที่สุดเท่ากับ ราฟาเอล นาดาล และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ทำได้ก่อนหน้านี้ แถมยังคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการในปีนี้ได้ทั้งหมด เป็นมือ 1 ของโลกยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ยิ่งการที่นาดาลและเฟเดอเรอร์ คู่ปรับไม่มาแข่งโอลิมปิกครั้งนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเส้นทางของโยโควิชในการลุ้นเหรียญทองครั้งแรกในโอลิมปิกสดใสเหลือเกิน นอกจากนั้นถ้าเขาคว้าเหรียญทองได้ จะทำให้มีลุ้นโกลเด้นสแลม คือ คว้าแชมป์ 4 แกรนด์สแลม และแชมป์โอลิมปิกในปีเดียวกัน

สุดท้ายแล้ว มือ 1 ของโลกที่ชนะมาสบายๆ แบบไม่เสียเซต จนถึงรอบรองชนะเลิศ สุดท้ายไปพ่ายให้กับ อเล็กซานเดอร์ ซเวเรฟ มือวาง 4 ของรายการจากเยอรมนี ทำให้โยโควิชต้องไปชิงเหรียญทองแดง กับ ปาโบล คาร์เรโน่ บุสต้า มือวาง 6 จากสเปน ยุติเส้นทางโกลเด้นสแลม และยังไม่เคยได้เหรียญทองชายเดี่ยวโอลิมปิกต่อไป

นาโอมิ โอซากะ (เทนนิส-ญี่ปุ่น)

โอซากะคือลูกครึ่งเฮติ-ญี่ปุ่น ที่ไปเติบโตในสหรัฐอเมริกา แต่เลือกเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่น บ้านเกิดของแม่ ให้เหตุผลว่า ถึงจะเป็นลูกครึ่งแต่ก็ซึบซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตลอด

แชมป์แกรนด์สแลม 4 สมัย ตั้งแต่อายุยังน้อย ขึ้นมาเป็นมือ 2 ของโลก ปราบนักเทนนิสฝีมือดีรุ่นพี่ รุ่นน้ามานับไม่ถ้วน แต่โอซากะกลับมีปัญหาสภาพจิตใจ เธอยอมรับว่าเป็นโรคซึมเศร้า และหยุดการแข่งขันไป 2 เดือนก่อนโอลิมปิก รวมทั้งรายการใหญ่อย่างแกรนด์สแลมเฟร้นช์ โอเพ่นและวิมเบิลดัน นอกจากนั้นยังปฏิเสธการให้สัมภาษณ์นักข่าว จนกลายเป็นดราม่า

โอซากะปรากฏตัวในโอลิมปิก ด้วยการเป็นผู้จุดคบเพลิงในพิธีเปิด หลายคนคาดหวังว่าจะได้เห็นเธอกลับมาสนุกกับการเล่นเทนนิสอีกครั้ง 2 รอบแรกในโอลิมปิกผ่านไปได้สวย แต่มาตกรอบสาม ด้วยฝีมือของ มาร์เกต้า วอนดรูโซว่า นักหวดสาวเช็ก 

อาจจะไม่ใช่เรื่องพลิกล็อก เพราะวอนดรูโซว่าผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ มีลุ้นแชมป์ไปแล้ว

โคเฮอิ อูชิมุระ (ยิมนาสติก-ญี่ปุ่น)

อูชิมุระได้รับฉายาว่า “ราชาโคเฮอิ” เพราะเขาเป็นแชมป์ยิมนาสติกศิลป์ บุคคลรวมอุปกรณ์ 2 สมัยหลังสุด เป็นนักยิมชายคนแรกที่ป้องกันแชมป์โอลิมปิกได้รอบ 44 ปี รวมทั้งพาญี่ปุ่นคว้าแชมป์ประเภททีม และได้เหรียญโอลิมปิกมาแล้ว 7 เหรียญ เป็นแชมป์โลก 6 สมัย ไม่เคยมีนักยิมญี่ปุ่นคนไหนที่ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้มาก่อน 

ราชาโคเฮอิไม่ได้ลงแข่งรายการบุคคลรวมอุปกรณ์ แต่เลือกแข่ง 2 รายการ คือ ราวเดี่ยวและราวคู่ เพราะมองว่าร่างกายไม่เหมาะกับบุคคลรวมอุปกรณ์และประเภททีมแล้ว

แต่ในการแข่งขันราวเดี่ยว โคเฮอิหล่นลงมาจากราว ไม่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เป็นสิ่งที่ช็อกสายตาคนดูมาก หลังจากนั้นเขาก็ขอถอนตัวจากราวคู่ไปอีกรายการ 

ถึงแม้ว่าราชาจะตกบัลลังก์ แต่ญี่ปุ่นก็มีราชันคนใหม่ ไดกิ ฮาชิโมโตะ ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์บุคคลรวมอุปกรณ์ชาย ช่วยให้เหรียญทองนี้ยังคงเป็นของญี่ปุ่นอีกสมัย

โจเซฟ สคูลลิ่ง (ว่ายน้ำ-สิงคโปร์)

ฮีโร่เหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สคูลลิ่งคว้าแชมป์รายการผีเสื้อ 100 เมตรชายแบบเซอร์ไพรส์ แถมยังชนะ ไมเคิล เฟลป์ส ตำนานนักว่ายน้ำสหรัฐอเมริกา ไอดอลของตัวเองได้แบบยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตามการกลับมาโอลิมปิกสมัยที่ 2 ของตัวเอง สคูลลิ่งไม่ได้กลับมาแบบฉลามหิวกระหายแชมป์ เพราะให้สัมภาษณ์ก่อนล่วงหน้าว่า ไม่กดดันกับการป้องกันแชมป์ และ 5 ปีที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นกับเขามากมาย

สคูลลิ่งจบอันดับ 44 ในรายการที่ตัวเองเคยเป็นแชมป์ และอันดับ 39 ในรายการฟรีสไตล์ 100 เมตรชาย ปิดฉากโอลิมปิกหนนี้แบบหนังคนละม้วนกับ 5 ปีก่อน 

นักว่ายน้ำสิงคโปร์บอกว่า ถึงจะเตรียมตัวมาอย่างดีใน 15 เดือนก่อนโอลิมปิก แต่ก็ต้องมีวันแย่ๆ แบบนี้เกิดขึ้นบ้าง ไม่ได้มองว่ามันเป็นความผิดพลาดอะไร แต่มองเป็นเชื้อเพลิงที่จะให้การแข่งขันครั้งต่อไปดีขึ้นมากกว่า

ในทางกลับกัน เมื่อดาวบางดวงดับไป ก็ย่อมต้องมีดาวดวงใหม่เจิดจรัสขึ้นมา โอลิมปิกยังไม่จบ มีเรื่องราวให้น่าติดตามอีกเพียบแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image