จาก ‘เลีย โธมัส’ สู่มติ ‘ฟีน่า’ เพื่ออนาคตของนักกีฬาข้ามเพศ

จาก ‘เลีย โธมัส’ สู่มติ ‘ฟีน่า’ เพื่ออนาคตของนักกีฬาข้ามเพศ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ หรือ ฟีน่า ได้มีมติเห็นชอบนโยบายเกี่ยวกับนักกีฬาข้ามเพศ ในการประชุมสมัยวิสามัญ ระหว่างการแข่งขันกีฬาทางน้ำชิงแชมป์โลก 2022 ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี โดยใจความสำคัญของนโยบายดังกล่าว คือ การห้ามไม่ให้นักกีฬาข้ามเพศเข้าร่วมการแข่งขันในระดับโลกของผู้หญิง หากนักกีฬาดังกล่าวได้ผ่านช่วงวัยเจริญพันธุ์มาแล้ว

สาเหตุที่ทำให้ฟีน่าหันมาสนใจประเด็นดังกล่าว คือกรณีของ เลีย โธมัส นักกีฬาว่ายน้ำหญิงข้ามเพศชาวอเมริกัน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ 500 หลาหญิง ระดับมหาวิทยาลัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาสนับสนุนการอนุญาตให้โธมัสและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศศลงแข่ง แต่ทางองค์กรต่างๆ รวมไปถึงเพื่อนร่วมทีมของโธมัส กลับมองว่าการอนุญาตให้เขาลงแข่งในรายการเดียวกับผู้หญิงนั้น “ไม่ยุติธรรม”

ประเด็นการถกเถียงเรื่องโธมัส ทำให้ทางสหพันธ์ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ได้ออกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศสามารถเข้าร่วมในการแข่งขันระดับโลกได้ โดยมีข้อแม้ว่าพวกเขาจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎของทางสหพันธ์ รวมไปถึงการตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นเวลา 36 เดือนก่อนการแข่ง

Advertisement

เบรนท์ โนวิคกี้ กรรมการบริหารฟีน่าได้ออกมาอธิบายว่า การร่างนโยบายที่เกิดขึ้น มีความครอบคลุมและผ่านการใช้หลักวิทยาศาสตร์มาแล้ว พร้อมเน้นว่าแนวทางของสหพันธ์คำนึงถึงความเท่าเทียมในการแข่งขันเป็นสำคัญ

ฮุสเซน อัล-มุสลาม ประธานฟีน่า ได้ออกมากล่าวอีกว่า ฟีน่าต้องการที่จะรักษาสิทธิของนักกีฬาที่จะเข้าร่วมแข่งขัน แต่ก็ต้องป้องกันความเท่าเทียมในการแข่งด้วยเช่นกัน ก่อนเสริมว่า เราต้อนรับนักกีฬาทุกคน การเปิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมการแข่งในระดับโลกได้อย่างเท่าเทียม และทางสหพันธ์จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังไม่เคยมีการทำเช่นนี้ในกีฬาประเภทอื่น และตัวเขาอยากให้นักกีฬาได้มีส่วนร่วมและได้ออกความเห็นในขั้นตอนการจัดการที่กำลังจะเกิดขึ้น

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงนโยบายข้างต้นทำให้ ชาร์รอน เดวีส์ อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติอังกฤษ ออกมาชื่นชมทางสหพันธ์ พร้อมกล่าวว่าเธอภูมิใจกับมติดังกล่าว เนื่องจากเมื่อ 4 ปีก่อน เดวีส์ส่งจดหมายร่วมกับนักกีฬาอีกกว่า 60 คน เพื่อเรียกร้องให้ทางสหพันธ์ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งในการประชุมครั้งล่าสุด ที่ทางสหพันธ์ได้ทำการวิจัย รวมถึงพูดคุยกับทั้งนักกีฬาและโค้ช ทำให้ออกมาเป็นนโยบายดังกล่าว

“ว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ไม่แบ่งแยกใคร เราต้อนรับทุกคนที่อยากมาว่ายน้ำ แต่เสาหลักของกีฬาคือความเท่าเทียม และนั่นหมายถึงต้องเท่ากันทั้งสองเพศด้วย นั่นเป็นเหตุผลกีฬามีการการแบ่งแยกประเภทการแข่งขันออกเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน” อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติอังกฤษกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย แอธลีท อัลลาย ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่สนับสนุนโธมัส กล่าวว่า นโยบายของฟีน่านั้น เป็นการเลือกปฏิบัติและอันตราย ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งยังขัดกับบทบัญญัติของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลปี 2021 อีกด้วย พร้อมเสริมว่าทางสหพันธ์จะไม่สามารถนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ได้ เนื่องจากพวกเขาจะละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักกีฬาที่ต้องการลงแข่ง

นอกจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นด้วยเช่นกัน

นักสรีรศาสตร์ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ทำให้ผู้ชายแตกต่างกับผู้หญิง เช่น ความสูง ขนาดของปอดและหัวใจ จะเกิดขึ้นตอนอายุ 12 ปีและจะเห็นได้ชัดตอนอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นผลจากปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและจำนวนโครโมโซม Y และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถหายไปได้ แม้ว่าจะมีการลดปริมาณของฮอร์โมนดังกล่าวในร่างกายลงก็ตาม

ส่วนทางด้านนักสิทธิและทนายความได้ออกมาเตือนว่า การจัดการแข่งขันให้กับนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะจะต้องไม่เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ พร้อมมองว่านโยบายของฟีน่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการให้สิทธิเสรีภาพกับนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น

ไม่ว่าการถกเถียงเรื่องนโยบายของฟีน่าจะจบลงในทิศทางใด ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจของสหพันธ์ในวันนี้จะกลายเป็นรากฐานให้กับแนวคิดเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image