‘มิลานดาร์บี้’ ที่ไม่เหมือนเดิม

นักเตะทั้ง 2 ทีมเรียงแถวถ่ายรูปก่อนเกมดาร์บี้แมตช์เมืองมิลานจะเปิดฉากเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม (ภาพ Reuters)

หนึ่งในเกมดาร์บี้แมตช์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการลูกหนังโลก คือศึก “มิลาน ดาร์บี้แมตช์” ระหว่าง เอซี มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน สองสโมสรร่วมแชร์รังเหย้า ณ ซานซิโร่ สเตเดียม เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

ค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ถือเป็นดาร์บี้แมตช์เมืองมิลานนัดที่ 290 (ทั้งในเกมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ) ลงเอยด้วยชัยชนะของทีมเจ้าถิ่น “งูใหญ่” เหนือ “ปีศาจแดงดำ” 3-2

อย่างไรก็ตาม มิลานดาร์บี้ในยุคหลังๆ ถือว่าสิ้นมนต์ขลังไปมากเมื่อเทียบกับดาร์บี้แมตช์ของคู่ปรับทีมดังประเทศอื่น อาทิ แมนเชสเตอร์ ดาร์บี้, เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้ และ “ซุปเปอร์กลาซิโก้” ระหว่าง 2 สโมสรใหญ่ของอาร์เจนตินาอย่าง โบค่า จูเนียร์ส และ ริเวอร์เพลท

ทั้งที่ย้อนไปในยุค 90 หรือสัก 10 ปีที่แล้ว ชื่อเสียงของ 2 สโมสรแห่งเมืองมิลานยังเป็นที่เกรงขามของวงการลูกหนังยุโรป ด้วยบรรดาแข้งซุปเปอร์สตาร์มากมาย อาทิ เปาโล มัลดินี่, ฟรังโก้ บาเรซี่ และ มาร์โก้ แวน บาสเท่น ของฝั่งมิลาน และ จูเซปเป้ แบร์โกมี่, วอลเตอร์ เซนก้า รวมทั้ง โรนัลโด้ ของฝั่งอินเตอร์

Advertisement

กูรูลูกหนังหลายรายพยายามวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้มิลานดาร์บี้เริ่มเลือนรางจากความทรงจำและไม่ได้อยู่ในความสนใจของแฟนบอลในปัจจุบัน แบ่งย่อยเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

แข้งมิลานคอตกหลังพ่ายอินเตอร์ (ภาพ Reuters)

อยู่ในช่วงขาลง

ทั้ง 2 สโมสรที่เคยยิ่งใหญ่ต่างอยู่ในช่วงตกต่ำของตัวเอง โดยในศึกกัลโช่ เซเรียอา ฤดูกาลที่แล้ว มิลานกับอินเตอร์ที่มีแชมป์ลีกรวมกัน 36 สมัย จบแค่อันดับ 6 และ 7 ของตาราง ด้วยคะแนน 63 และ 62 คะแนนตามลำดับ โดยหนสุดท้ายที่ทีมใดทีมหนึ่งติดอันดับท็อป 3 ของลีกต้องย้อนไปถึงฤดูกาล 2012-13

Advertisement

5 ฤดูกาลที่ผ่านมา มิลานเปลี่ยนโค้ชมาแล้ว 6 คน ส่วนอินเตอร์ไม่น้อยหน้า เปลี่ยนมา 5 คน

ย้อนไปในปี 2011 มิลานกับอินเตอร์ยังอู้ฟู่ติดอันดับ 7 และ 8 ของสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่มาปีนี้อันดับล่าสุด มิลานอยู่อันดับ 16 มีรายได้ระหว่างปี 2010-2016 ลดลง 16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอินเตอร์หนักกว่า ลดลงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ อยู่อันดับ 19

แน่นอนว่าเมื่อผลงานตกต่ำ รายได้ก็หดหาย ทำให้งบสร้างทีมร่อยหรอไปด้วย แต่ในกรณีของอินเตอร์ ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารงานที่ขาดวิสัยทัศน์ เนื่องด้วยปี 2010 โจเซ่ มูรินโญ่ เพิ่งพาทีมงูใหญ่คว้าทริปเปิลแชมป์ซึ่งรวมถึงถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แต่แทนที่ผู้บริหารจะหารายได้เข้าทีมจากความสำเร็จตรงนี้กลับวางแผนผิดพลาด เช่น ขายเสื้อฉลองแชมป์ราคาค่อนข้างสูง (120 ยูโร) และปล่อยให้มีเสื้อก๊อปทุนต่ำวางขายหน้าสนาม จนแฟนๆ แห่ซื้อของเลียนแบบกันหมด

บรรยากาศภายในสนามซาน ซิโร่ (ภาพ AFP)

ปัญหาการใช้สนามร่วมกัน

ซานซิโร่อาจเป็นหนึ่งในสนามเก่าแก่ที่แฟนบอลหลายคนอยากไปเยือน แต่รังเหย้าของ 2 สโมสรเมืองมิลานกลับกลายเป็นหนึ่งในปัญหาน่าปวดหัวของทีม

การเป็นทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรป แต่ต้องแชร์สนามร่วมกับคู่ปรับร่วมเมือง ทำให้ขาดรังเหย้าอันเป็นเอกลัษณ์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ตัวซานซิโร่ดังจริง ยิ่งใหญ่จริง แต่ทุกครั้งที่ทีมใดทีมหนึ่งใช้สนามนั้นเสร็จ อุปกรณ์ตกแต่งที่เคยประดับประดาจะถูกถอดออกเพื่อเตรียมไว้สำหรับให้อีกทีมได้ประดับบ้าง

เช่นแมตช์เมื่อวันอาทิตย์ อินเตอร์เป็นเจ้าบ้าน หลังเตะเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็จะเคลียร์ป้าย ผ้าคลุม รูป หรือเครื่องประดับสีน้ำเงินทั้งหมดเข้าห้องเก็บของ เตรียมเปลี่ยนเป็นสีแดงดำสำหรับมิลานในแมตช์ต่อไป

เวลาจะปรับปรุงสนามทีก็มีปัญหา เพราะต้องให้ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายมาตกลงกันให้ได้ ไม่มีทางที่จะอนุมัติแผนงานต่างๆ ได้อย่างเร่งด่วนฉับไว

หรือเวลาจะเอาป้ายสปอนเซอร์มาแปะในสนาม ก็ต้องตกลงกันให้เคลียร์ว่าไม่ขัดกับสปอนเซอร์ของทีมใดทีมหนึ่ง เรียกว่าจะขยับตัวทำอะไรทีก็ติดขัดไปหมด

มัสซิโม่ โมรัตติ (ซ้าย) และซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ (ภาพจาก raisport.rai.it)

เจ้าของเก่าถอดใจ

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี เคยเป็นเจ้าของทีมมิลานระหว่างปี 1996 ถึงเดือนเมษายนปีนี้ ซึ่งในยุคหนึ่ง มิลานประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ยุโรป 2 สมัย ในปี 2003 และ 2007 ส่วนอินเตอร์ในความครอบครองของมหาเศรษฐี มัสซิโม่ โมรัตติ (ระหว่างปี 1995-2013) ก็เป็นทีมแรกของอิตาลีที่คว้า 3 แชมป์ในปีเดียวกันได้

มาตอนนี้หลังจากทีมเริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งแบร์ลุสโคนี่และโมรัตติต่างเลิกทุ่มทุนสร้างทีมและตัดสินใจขายหุ้นในที่สุด โดยมิลานตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนรอสโซเนรี่ สปอร์ต กรุ๊ป ของ หลี่ ยงหง นักธุรกิจจีน ซึ่งซื้อมาในราคา 628 ล้านปอนด์ (27,632 ล้านบาท) ขณะที่กลุ่มธุรกิจ ซูหนิง จากจีนเช่นกัน เข้าซื้อหุ้นอินเตอร์ 68.55 เปอร์เซ็นต์ ในราคา 590 ล้านปอนด์ (25,960 ล้านบาท) เมื่อกลางปี 2016

แฟนบอลชาวเอเชียของทั้ง 2 สโมสรเข้าไปชมการแข่งขันด้วยกัน (ภาพ Reuters)

เจ้าของใหม่จริงใจแค่ไหน?

เจ้าของสโมสรจากจีนมีมุมมองและวิสัยทัศน์ต่อทีมที่แตกต่างกัน จาง จินตง ประธานบริษัทซูหนิง กล้าทุ่มเงินมหาศาลผ่าตัดทีมอินเตอร์ใหม่ จนผลงานหลังจบนัดล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ อินเตอร์เป็นรองจ่าฝูงกัลโช่ มี 22 คะแนน จาก 8 นัด ตาม นาโปลี เพียง 2 แต้ม ขณะที่มิลานรั้งอันดับ 10 ของตาราง มีเพียง 12 คะแนน

ซูหนิงยังวางแผนระยะยาวปรับปรุงสนามซานซิโร่ใหม่ ลดจำนวนความจุจาก 80,000 ที่นั่ง ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 5 ของยุโรป เหลือ 55,000 ที่นั่ง แล้วใช้พื้นที่ที่เหลือไปกับการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทันสมัยครั้งใหญ่

ขณะที่ฝั่งกลุ่มทุนรอสโซเนรี่เน้นทุ่มเงินกับทีมเป็นหลัก และนักวิเคราะห์บางคนมองว่าการเข้ามาเทกโอเวอร์ทีมมิลานครั้งนี้เพื่อสนองนโยบายเจาะตลาดยุโรปของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนมากกว่า (ขณะที่ของฝั่งซูหนิงโดนสื่อจีนโจมตีว่าไปซื้อทีมเพื่อใช้เป็นที่ฟอกเงินเสียมากกว่า)

ยังมีทฤษฎีอีกหลายข้อที่เชื่อมโยงการเข้าถือหุ้น 2 สโมสรเมืองมิลานของนักธุรกิจจีนว่าน่าจะเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินของมหาอำนาจจีนที่ลึกซึ้งกว่าการแค่เก็งกำไรในธุรกิจกีฬาอย่างเดียว

หากสโมสรฟุตบอลเก่าแก่ทั้งสองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการใดๆ ตามบทวิเคราะห์ดังกล่าวจริง ก็น่ากลัวว่าวันเวลาที่จะเห็นพวกเขากลับมายิ่งใหญ่แบบยืนระยะยาวๆ อีกครั้ง อาจต้องรออีกนานแสนนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image