ชำแหละสถิติ 109 ประตูทีมชาติ ‘โรนัลโด้’

REUTERS/Franck Fife

ชำแหละสถิติ 109 ประตูทีมชาติ ‘โรนัลโด้’

ศึก ยูโร 2020 รอบแรกผ่านพ้นไป มีสถิติน่าสนใจเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ที่โดดเด่นที่สุด ณ ชั่วโมงนี้ คงต้องยกให้ความร้อนแรงของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซุป’ตาร์กัปตันทีมชาติโปรตุเกสที่ตอนนี้นำดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์ ด้วยผลงาน 5 ประตู

โรนัลโด้ลงสนาม 3 นัด ยิงทุกนัด แม้จะเป็นจุดโทษไปแล้ว 3 ลูก แต่ก็ยืนยันถึงความเด็ดขาด มุ่งมั่น และจิตใจที่แข็งแกร่งของเขาได้เป็นอย่างดี

5 ประตูที่ทำได้ในทัวร์นาเมนต์นี้ทำให้โรนัลโด้กลายเป็นเจ้าของสถิติส่วนบุคคลที่สำคัญ 3 อย่าง

อย่างแรกคือ การทำสถิติยิงประตูสูงสุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันยูโร จนถึงตอนนี้ 14 ประตูเข้าไปแล้ว จากการลงสนามในยูโร 5 สมัย ทำลายสถิติเดิมที่ มิเชล พลาตินี่ นโปเลียนลูกหนังชาวฝรั่งเศสทำไว้ 9 ประตูอย่างราบคาบ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ผลงานของพลาตินี่นั้น เกิดขึ้นในการแข่งขันครั้งเดียว คือ ยูโร 84 ซึ่งเขาพาทีมตราไก่เป็นแชมป์

หมายความว่า โรนัลโด้ยังต้องยิงเพิ่มอีก 4 ประตูในทัวร์นาเมนต์นี้ เพื่อทาบสถิติยิงประตูในยูโรหนเดียวสูงสุดของพลาตินี่

สถิติต่อมาคือการเป็นนักเตะที่ยิงประตูในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ หรือฟุตบอลโลกและฟุตบอลยูโรมากที่สุดตลอดกาลของโลก คือยิงรวม 21 ประตู แบ่งเป็นฟุตบอลโลก 7 ประตู ฟุตบอลยูโร 14 ประตู ขณะที่สถิติเดิมเป็นของ มิโรสลาฟ โคลเซ่ อดีตดาวยิงอินทรีเหล็กที่ทำไว้ 19 ประตู

Advertisement
อาลี ดาอี – โรนัลโด้ (AFP)

อีกสถิติที่เพิ่งเกิดหลังจบนัดล่าสุดกับฝรั่งเศสคือ การทำประตูระดับทีมชาติสูงสุดตลอดกาล เทียบเท่าสถิติ 109 ประตู ที่ อาลี ดาอี ตำนานกองหน้าทีมชาติอิหร่านทำไว้

สถิติของโรนัลโด้เกิดขึ้นในการลงสนามให้โปรตุเกสรวม 178 นัด เฉลี่ยยิงได้ 1 ประตู ทุกๆ 130 นาที

สำหรับ 109 ประตูของโรนัลโด้แบ่งตามการแข่งขัน ได้แก่ แมตช์อุ่นเครื่อง-กระชับมิตร 19 ประตู (51 นัด), ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 31 ประตู (41 นัด), ฟุตบอลยูโร รอบคัดเลือก 31 ประตู (35 นัด), ยูโร 14 ประตู (24 นัด), ฟุตบอลโลก 7 ประตู (17 นัด), ยูฟ่า เนชั่นส์ลีก 5 ประตู (6 นัด) และฟุตบอลคอนเฟเดอเรชั่นส์คัพ 2 ประตู (4 นัด)

สถิติที่น่าสนใจในการทำ 109 ประตูในนามทีมชาติของโรนัลโด้คือ เกือบครึ่งของประตูที่เขาทำได้มักเกิดขึ้นในช่วง 30 นาทีสุดท้ายของเกม

โดยยิงได้ในช่วง 15 นาทีสุดท้าย 31 ครั้ง และยิงได้ระหว่างนาที 61-75 ของการแข่งขัน อีก 22 ลูก

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ยอมแพ้หรือถอดใจ และความกระหายที่จะทำประตูเพิ่มในช่วงเวลาสำคัญ

ขณะที่สถิติยิงประตูในช่วงนาทีอื่นคือ ช่วง 15 นาทีแรก ยิงได้ 11 ลูก, ช่วงนาที 16-30 ยิงได้ 17 ลูก, นาที 31-45 ยิงได้ 16 ลูก และนาที 46-60 ยิงได้ 12 ลูก

(Matthias Hangst/Pool Photo via AP)

ส่วนตำแหน่งการยิงประตูนั้น 89 ประตูที่เขาทำได้ เกิดขึ้นในพื้นที่กรอบเขตโทษ ขณะที่การยิงไกลนอกกรอบเขตโทษ ทำได้ 20 ครั้ง ที่เหลือเป็นการยิงลูกโทษ 14 ประตู และฟรีคิกอีก 9 ประตู

ทีมชาติที่โดนเขายิงประตูมากที่สุดคือ ลิทัวเนีย และสวีเดน ต่างตกเป็นเหยื่อของโรนัลโด้ประเทศละ 7 ประตูเท่าๆ กัน และที่น่าสนใจคือ ในการเจอกับคู่แข่งหลากหลายทีมนั้น ฝรั่งเศสเป็นทีมที่เขาไม่เคยยิงประตูได้มาก่อนเลย ก่อนจะมาถึงศึกยูโร 2020 นัดสุดท้ายของกลุ่มเอฟ ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อวันคืนวันพุธที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเขารับหน้าที่สังหารจุดโทษเข้าไปถึง 2 ครั้ง

สำนักข่าว บีบีซี ยกความ “บังเอิญ” ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถิติยิงประตูทีมชาติของโรนัลโด้และดาอี รวมถึงตำนานในอดีตอย่าง เฟเรนก์ ปุสกัส อดีตดาวยิงฮังการีผู้ล่วงลับเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ดาอีซึ่งเคยเล่นให้บาเยิร์น มิวนิก ทำลายสถิติยิงประตูทีมชาติสูงสุด 84 ประตูของปุสกัสลงได้ในปี 2003 ซึ่งปีนั้นเป็นปีเดียวกับที่โรนัลโด้ประเดิมลงเล่นให้ทีมชาติพอดี

พอมาค่ำคืนวันพุธที่ CR7 ทาบสถิติของดาอีได้สำเร็จ ก็มาเกิดขึ้นที่สนาม ปุสกัส อารีน่า ประเทศฮังการี ที่ตั้งชื่อตามตำนานดาวยิงผู้ล่วงลับเสียอีก

(AP Photo/Laszlo Balogh, Pool)

ถ้าเทียบสถิติเฉพาะของโรนัลโด้กับดาอี แม้ดาอีจะยิงได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่า คือ 149 นัด ขณะที่โรนัลโด้ใช้เวลา 178 นัด แต่ก็มีสื่อและแฟนบอลบางส่วนโต้ว่า คู่แข่งของดาอีนั้น “ง่าย” กว่าโรนัลโด้ เนื่องจากเป็นทีมชาติกลุ่มประเทศเอเชียถึง 95 ประตู จากทั้งหมด 109 ประตูที่เขาทำได้

ทีมที่โดนดาอียิงมากที่สุดคือ มัลดีฟส์กับลาว ชาติละ 8 ประตู รองลงมาคือ เลบานอน 6 ประตู

แต่ก็จะมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า คู่แข่งหลายทีมที่โรนัลโด้ยิงได้ก็มีอันดับโลกฟีฟ่า แรงกิ้ง ค่อนข้างต่ำเช่นกัน อาทิ อันดอร์ราและลักเซมเบิร์กที่โดนยิงไปชาติละ 6 ประตู

สำหรับเจ้าของสถิติอันดับรองๆ ลงมาคือ ม็อกห์ตาร์ ดาฮารี ของมาเลเซียในยุค 70-80 ยิงได้ 89 ประตู (แต่ยังไม่มีบันทึกสถิติรับรองแน่ชัดทั้งหมด) ตามด้วยปุสกัส 84 ประตู และ ก็อดฟรีย์ ชิตาลู ของแซมเบีย ยิงในช่วงยุค 60-80 รวม 79 ประตู

อย่างไรก็ตาม แม้โรนัลโด้จะมีโอกาสดีมากๆ ในการทุบสถิติของดาอี รวมทั้งมีลุ้นทาบสถิติยิงในยูโรครั้งเดียวของพลาตินี่ ถ้าจะว่ากันเรื่องสถิติยิงประตูล้วนๆ แบบไม่แบ่งเพศชายหรือหญิง คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะทำลายได้สำเร็จ

สถิติปัจจุบันเป็นของ คริสตีน ซินแคลร์ แข้งสาวชาวแคนาเดียน ที่ทำไปทั้งหมด 186 ประตู จากการลงสนาม 299 นัด

…และที่สำคัญคือเธอยังไม่ได้แขวนสตั๊ดซะด้วยสิ!

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image