‘วีระศักดิ์’ ถามคนจัดมวยทำตามกฎครบหรือยัง? ยันให้ ‘สนช.’ ฟันธงเด็กต่ำกว่า 15 ปี ต่อยมวยได้หรือไม่?

ความคืบหน้ากรณี “น้องเล็ก” เพชรมงคล ป.พีณภัทร นักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิตคาสังเวียน ด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง หลังพ่ายน็อก ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ ยก 3 ในการชกที่ เวทีมวยชั่วคราว โรงเรียนวัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยการแข่งขันชกมวยรายการดังกล่าวได้ขออนุญาตทำการแข่งขันได้อย่างถูกต้อง และเป็นการแข่งขันชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ชิงถ้วยรางวัลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เหตุการณ์สลดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาทบทวน เสนอร่าง แก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ฉบับใหม่ ที่มีสาระสำคัญคือ ห้ามไม่ให้ผู้จัดรายการแข่งขันกีฬามวยและนายสนามมวยอนุญาตให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าร่วมแข่งขัน เว้นแต่ได้รับความชอบจากนายทะเบียน แต่สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีนั้น จะไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ซึ่งคนวงการกีฬามวยไทยออกมาต่อต้านกันเพราะมองว่าจะเป็นการทำลายวงการมวยไทยนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกีฬามวย ที่ห้องประชุมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถ.ราชดำเนิน

นายวีระศักดิ์กล่าวหลังการประชุมว่า หลังจากได้มีการรวบรวมข้อมูลจากการสอบปากคำและการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบว่า มีหลายอย่างที่ไม่ตรงไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ผู้ที่เป็นผู้อนุญาตให้ขึ้นชกเป็นลุงของเด็ก แต่ตามกฎหมายระบุไว้ว่าผู้ปกครองต้องเป็นพ่อกับแม่ ประเด็นนี้จึงต้องไปสอบสวนเพิ่มว่าเป็นผู้ปกครองที่ใช้อำนาจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขณะที่ผู้จัดมวยรายการนี้ยอมรับแล้วว่าไม่มีการตรวจร่างกายก่อนการขึ้นชก อย่างไรก็ตามได้ให้คณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้จัด ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน แพทย์สนาม ผู้ปกครอง นายสนามมวย ทำหน้าที่ทุกอย่างผิดหรือถูกต้องอย่างไร เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง เป็นอุทาหรณ์ว่าใครอยากจะจัดมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องแม่นระเบียบและกฎหมาย เพราะทำได้ไม่ครอบคลุมก็มีโอกาสผิดกฎหมายอาญาสูงมาก

Advertisement

รัฐมนตรีกีฬากล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะต้องปรึกษากับกระทรวงแรงงงานและหน่วยงานด้านสิทธิ ถึงข้อตกลงอนุสัญญาตามกฎหมายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ครอบคุลมถึงกรณีนี้ด้วยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องกติการะหว่างประเทศ ก็ต้องให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศ เพราะไทยเป็นภาคีของสัญญาฉบับนี้อยู่ เรื่องต่อมา ในที่ประชุมมีการนำเสนอรร่าง พ.ร.บ.มวย ฉบับใหม่มาแล้ว และที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างฉบับนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา ประกบกับร่างของ สนช.ต่อไป ในกฎหมายพูดสิ่งที่เป็นมวยไทย สิ่งที่เป็นกีฬามวย และการต่อสู้กันแต่ไม่เรียกว่ากีฬามวย อีกส่วนหนึ่งพูดถึงเรื่องการขึ้นชกมวยของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้ให้เอาเรื่องนี้ใส่เข้าไปในชั้นการพิจารณาของสนช. เพราะมีเรื่องพิจารณาหลายเรื่องมากๆ ท้ายที่สุดแล้วเป็นหน้าที่ของ สนช.จะพิจารณาว่าอายุเท่าไรควรทำอะไร ไม่ควรพึงพิจารณาแค่ว่า ให้ฝึกได้ ให้เรียนได้ กรณีตัวอย่าง มีการแข่งมวยไทย โดยสถาบันการพลศึกษา แต่ไม่ได้เอาคะแนนจากการดูว่าใครชกมากกว่าเพื่อหาผู้ชนะ แต่ดูจากใครออกท่าแม่ไม้มวยไทยได้มากกว่า สวยกว่า จึงจะเป็นผู้ชนะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการประชุมครั้งมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชกมวยหรือไม่ รัฐมนตรีกีฬาตอบว่า ยังไม่มีการพูดถึงเด็กอายุ 12 ปี เพราะแม้แต่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ที่บอกว่าต้องขออนุญาตก่อนการขึ้นชก และกฎระเบียบต่างๆ ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.มวยนั้น อยากถามว่าทำกันได้หรือยัง จริงๆ แล้วการต่อยมวยไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็มีความเสี่ยง สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี กระหม่อม กระโหลก ของเด็กวัยนี้ยังไม่ยึดสนิท แม้จะใช้เฮดการ์ดป้องกันก็ยังมีการกระเทือนอยู่

Advertisement

“กฎที่มีอยู่ได้ทำหรือยัง เพราะถ้าท่านยังไม่ทำตาม พ.ร.บ.มวย ก็ถือว่าสิ่งที่ทำกันมันไม่ใช่กีฬา และมีผลต่อกฎหมายอาญาทั้งนั้น ดีที่สังคมให้ความสนใจในเรื่องนี้ ทำให้มีแนวคิดและวิธีหลากหลายที่จะนำมาใช้คุ้มครองสภาพร่างกายนักมวย ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตามให้เหมาะกับอายุของแต่ละคน” นายวีระศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image