‘ส.บอล’ยัน’กกท.’รับรองระเบียบไปแล้ว ชี้ต้องการคนโปร่งใสไม่ตั้งใจขัดขาใครทั้งสิ้น

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ​

ความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หลังจากที่สมาคมฯ ได้มีประกาศกำหนดวันประชุมใหญ่พิเศษ เพื่อมีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมอัลมีรอซ และได้เริ่มเปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครชิงตำแหน่งนายกฯ รวมถึงสภากรรมการ ได้ยื่นเอกสารแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่า “บังยี” นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ ได้ประกาศตัวชัดเจนว่าจะลงทวงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กลับคืนมา แต่ทว่าเมื่อเปิดจากระเบียบของสมาคมฯ​ ปรากฎว่ามีข้อขัดข้องในเรื่องของคุณสมบัติ ที่จะต้องไม่เคยถูกลงโทษจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ​ (ฟีฟ่า) หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ทำให้นายวรวีร์อยากขอความเป็นธรรมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยให้ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. ช่วยเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้นั้น

ล่าสุด “บิ๊กแชมป์” นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครนายกฯ นั้น ได้มีการแก้ไขในข้อบังคับของสมาคมฯ ไปเมื่อการประชุมใหญ่สามัญประจำปี มตินี้ผ่านการรับรองของสโมสรสมาชิกมาแล้ว และได้ส่งให้กับทางกกท.ได้ตรวจสอบว่าขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทางกกท.ไม่ได้มีการโต้แย้งอะไรกลับมา จากนั้นสมาคมฯ ก็ส่งให้กับทางเอเอฟซีพิจารณาก็ไม่มีข้อโต้แย้งเช่นกัน ดังนั้นทางสำนักเลขาธิการจึงได้จัดการเลือกตั้งตามข้อบังคับที่ได้ประกาศออกไป

“การที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครนายกสมาคมฯแบบนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ออกมาเพื่อสกัดกั้นใคร เปรียบเหมือนการเลือกซีอีโอเข้ามาบริหารองค์กร ควรจะต้องมีความโปร่งใส หรือการที่บุคคลที่ถูกสมาคมฟ้องร้อง ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนั้น จะทำให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีความได้” นายกรวีร์ กล่าว

Advertisement

ขณะที่จากการที่ได้มีการประกาศ 69 เสียงที่มีสิทธิเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ทว่าจากระเบียบนั้นยังมีตัวแทนที่อยู่นอกเหนือจาก 69 เสียง ก็คือ 1. สโมสรชนะเลิศและรองชนะเลิศ ของกีฬาฟุตซอลลีกสูงสุด 2.ทีมชนะเลิศกีฬาฟุตซอลลีกหญิงในลีกสูงสุด 3.ทีมชนะเลิศของกีฬาฟุตบอลลีกชายหาด 4.สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่สมาคมและสหพันธ์สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพรับรอง รวมทั้งหมด 5 เสียงด้วยกัน แต่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งนายกรวีร์ ชี้แจงว่า สโมสรเหล่านี้เพิ่งเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯ เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี และยังไม่ได้มีการรับรองโดยสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ จึงทำให้ครั้งนี้ยังไม่มีสิทธิในการออกเสียง ถ้าหลังจากเดือนเมษายนนี้ที่จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้ว ครั้งต่อไปก็จะมีสิทธิ์ในการออกเสียงได้

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามไปยัง นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ เรื่องข้อกำหนดวันเลือกตั้ง ทำไมถึงต้องเป็นวันที่ 12 กุมภาพันธ์นั้น นายพาทิศ​ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เนื่องจากว่าสภากรรมการชุดปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะไม่มีอำนาจในการทำงานต่างๆ อย่างเช่นการตัดสินใจ หรือเซ็นงบประมาณ เบิกจ่ายต่างๆ สำนักเลขาธิการจะทำได้แค่ดำเนินการตามหน้าที่ที่มีอยู่เท่านั้น ให้งานเดินไปได้ แต่จะไม่สามารถเซ็นเบิกเงินต่างๆ ได้

นายพาทิศ กล่าวปิดท้ายว่า จริงๆ ตามหลักมันสามารถเลือกตั้งได้ภายใน 90 วันหลังจากที่หมดวาระ แต่ตอนนี้มีหลายอย่างที่ต้องการคนมีอำนาจในการตัดสินใจ เช่นการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี หรือฟุตบอลลีกในประเทศ ก็จะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ถ้าไม่มีนายกสมาคมฯ ก็จะไม่สามารถเซ็นเบิกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือเงินสนับสนุนของสโมสร ค่าเดินทาง เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องทำเพื่อให้งานของสมาคมฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image