เคนยา ถือเป็นชาติมหาอำนาจในการวิ่งมาราธอนมาอย่างยาวนาน เพราะความอึดจากยีนในร่างกาย และสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทำให้ปอดเหล็กจากฃประเทศนี้คว้ารางวัลมากมายในการแข่งขันวิ่งระยะไกลรายการใหญ่ๆ ของโลก
อย่างไรก็ตามมีเรื่องน่าตกใจ เมื่อ สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (ไอเอเอเอฟ) ตรวจพบว่า นักวิ่งเคนยาหลายคนใช้สารต้องห้าม และถูกยกเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่มีอัตราเสี่ยงสูงในการโด๊ปยามากที่สุดร่วมกับ เอธิโอเปีย, เบลารุส และ ยูเครน
นักวิ่งจากเคนยาถูกตรวจพบว่าใช้สารต้องห้ามถึง 50 คนในช่วง 6 ปีหลัง เจมิมาห์ ซัมกง เจ้าของเหรียญทองมาราธอนหญิง โอลิมปิกเกมส์ 2016, ริต้า เจปตู อดีตแชมป์ 3 สมัยของรายการบอสตัน มาราธอน
อีกคนที่น่าตกใจ คือ อัสเบล คิปรอป นักวิ่ง 1,500 เมตรชาย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2008 และศึกชิงแชมป์โลก 3 สมัย ถูกตรวจพบสารอีริโทรโพอิติน และติดสินบนเจ้าหน้าที่ จนถูกลงโทษห้ามแข่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
รายล่าสุด คือ ลูซี่ วังกุย คาบูอู นักวิ่งระยะ 10,000 เมตร ที่ติดท็อปเท็น ในโอลิมปิกเกมส์ 2004, 2008 มาแล้ว และยังทำเวลา 2.19.34 ชั่วโมง ในการแข่งขันดูไบ มาราธอนมาแล้วด้วย คาบูอูถูกตรวจพบสารนูโครติค จากมอร์ฟีน และถูกแบนชั่วคราวจากการแข่งขันทุกรายการ
ที่กรุงแอดดิส อาบาบา เมืองหลวงเอธิโอเปีย มีการเปิดเผยว่า สามารถหาซื้อสารต้องห้ามมาใช้กันอย่างง่ายดาย ทำให้ต้องมีการอบรมนักวิ่งเยาวชนให้เข้าใจถึงอันตรายของยาโด๊ป จำนวนนักกีฬาที่โดนแบนลดน้อยลงไปในปัจจุบัน
โม ฟาร่าห์ ปอดเหล็กสหราชอาณาจักรที่เกิดในโซมาเลีย เจ้าของเหรียญทอง 5,000 และ 10,000 เมตรชาย ในโอลิมปิก 2 ครั้งหลัง เก็บตัวฝึกซ้อมในเคนยาและเอธิโอเปียเป็นหลัก เล่าว่า การฝึกซ้อมที่สองประเทศนี้จะมีการตรวจเลือดและปัสสาวะทุก 2 สัปดาห์หรือบ่อยกว่านั้น ซึ่งเขาได้เจอกับกระบวนการนี้มาตลอดตั้งแต่เริ่มไปซ้อมเมื่อปี 2014 และยังออกตัวยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของคิปรอป จากการถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสารต้องห้ามด้วย
“มีบางอย่างที่เข้าใจกันผิดเกี่ยวกับเรื่องของคิปรอป อย่างแรกคือ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเจ้าหน้าที่จะมาตรวจ พวกเขาจะมาอย่างเซอร์ไพรส์ตลอด ต่อมา การรับสินบนเป็นเรื่องที่ผิดกฎของสหพันธ์ แล้วเจ้าหน้าที่คนไหนจะกล้ารับ เรื่องสุดท้าย ไม่เข้าใจว่าทำไมคิปรอปถึงถูกพบว่าใช้ยา”
ฟาร่าห์บอกอีกว่า ถึงแม้ตัวเองจะเคยถูกมองว่าใช้สารต้องห้าม แต่ก็ไม่เคยแตะมัน และพยายามที่จะอยู่ในระเบียบอย่างเคร่งเครียด เพราะถ้าตอนนี้ยังสนุกกับการใช้ยา แล้วอนาคตของนักวิ่งหน้าใหม่จะเป็นอย่างไร?
ขณะที่ ลิลี่ พาทริดจ์ นักวิ่งสาวอังกฤษที่คว้าอันดับ 8 ในลอนดอน มาราธอน ครั้งล่าสุด แสดงความเห็นว่า เมื่อเคนยาไม่สามารถแสดงความน่าเชื่อถือให้โลกได้เห็นได้ สิ่งที่ควรทำ คือ แบนนักวิ่งของประเทศนี้ไม่ให้แข่งขันในรายการระดับนานาชาติไว้ก่อน แล้วใช้การตรวจสอบรูปแบบเดียวเคยใช้กับนักกรีฑารัสเซีย คือ ตรวจร่างกายทีละคน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้โด๊ปยา และใช้ความสามารถที่แท้จริงลงแข่งขัน
“ฉันไม่ได้อยากให้ใครโดนแบนทั้งนั้น แต่ถ้ามันเป็นวิธีที่จะทำให้การแข่งขันใสสะอาดได้ มันก็ควรจะทำ”
ฝ่ายจริยธรรมนักกีฬาของไอเอเอเอฟกำหนดกลุ่มประเทศเอาไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มเอ ประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในรายการระดับโลกอย่างสม่ำเสมอ และประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ กลุ่มบี กลุ่มที่ส่งแข่งในรายการระดับนานาชาติ และกลุ่มซี ประเทศที่ไม่ค่อยส่งนักกีฬาร่วมแข่งขันรายการนานาชาติ
เคนยา, เอธิโอเปีย, ยูเครน, เบลารุสอยู่ในกลุ่มเอ ดังนั้นตามกฎใหม่ของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ นักกีฬาทั้งหมดจะต้องถูกตรวจสารต้องห้ามก่อนการแข่งขันศึกชิงแชมป์โลก และโอลิมปิกเกมส์ทุกครั้ง ซึ่งจะเริ่มใช้กฎนี้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งเป็นข่วงคัดเลือกโควต้าไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น
บาร์นาบาโครีร์ คณะกรรมการบริหารสหพันธ์กรีฑาเคนยา บอกว่า กฎใหม่นี้จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้นักกีฬาใช้สารต้องห้าม และการแข่งขันจะขาวสะอาดมากขึ้น นอกจากนั้นยังจะทำให้เห็นว่าการใช้สารต้องห้ามเป็นภัยอันตรายของคนทั่วโลก
กีฬาเป็นเรื่องของพรสวรรค์และพรแสวง แต่บ่อยครั้งที่สิงสิ่งนี้แพ้ให้กับสารต้องห้าม และทำให้เห็นแล้วว่า บางคนอยากจะชนะก็ไม่สนว่าหนทางจะไปสู่แชมป์นั้นถูกหรือผิด ซึ่งไม่รู้ว่าน่าภูมิใจตรงไหน?