เน้นรัฐ-เอกชนจับมือลงทุน ‘อุตสาหกรรมกีฬา’ แก้กฎหมายเอื้อ-สร้างคนออกกำลัง-รายได้อื้อ

พ.ท.รุจ แสงอุดม รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เป็นประธานในการบรรยายในหัวข้อพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ พ.ศ.2556 และรับฟังความคิดเห็นร่างแผนแม่บทการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศไทย พ.ศ.2561-2564 ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การบรรยายพิเศษ มี ดร.เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ และ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นวิทยากร

พ.ท.รุจกล่าวว่า ความร่วมมือของภาคเอกชนของรัฐเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาวงการกีฬาอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้มีเม็ดเงินในการลงทุนมากขึ้น เมื่อมองต่อยอดไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬายิ่งมีความจำเป็น เพราะปัจจุบันกีฬาสามารถสร้างรายได้มากมาย เมื่อนำไปรวมกับการท่องเที่ยว เป็นสปอร์ตทัวริสม์ ขยายตัวเป็นศูนย์กลางกีฬาของภูมิภาค จังหวัดต่างๆ เป็นเมืองกีฬา แต่งบประมาณของรัฐบาลยังมีจำกัด การเข้ามาร่วมทุนของภาคเอกชน จะทำให้มีการพัฒนาและสร้างความเจริญทั้งในภาคของกีฬาและอุตสาหกรรมกีฬาได้มากกว่าที่คิด

ผศ.ดร.ธนวรรธน์บรรยายถึงเรื่องสถานการณ์อุตสาหกรรมกีฬาโลกว่า เมื่อปีที่แล้ว ตลาดกีฬาโลกสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล ประมาณ 90,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ปี 2560 ของประเทศไทย รวมประมาณ 196,538.63 ล้านบาท ในรอบ 5 ปี ระหว่าง 2556-2560 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 0.8 จำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกีฬาในไทยอยู่ที่ 5,383 ราย

Advertisement

สำหรับจุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องของุตสาหกรรมกีฬานั้น เป็นฐานผลิตสินค้าและอุปกรณ์หลายชนิดซึ่งมีคุณภาพ ภาคเอกชนมีศักยภาพทั้งในการผลิตสินค้า จัดการแข่งขัน มีความพร้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬา มีพื้นที่และระบบคมนาคมที่สะดวกในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านกีฬาทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มีบุคลการและสถาบันการศึกษารองรับ รวมทั้ง 5 ปีที่ผ่านมามีผลประกอบการเติบโต

ส่วนจุดอ่อน คือ ขาดการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ขาดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ขาดการรวมกลุ่มหรือสร้างเครือข่ายของอุตสาหกรรมการกีฬาที่ชัดเจน ที่สำคัญกฎหมายต่างๆ ยังไม่เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ ขาดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านอุตสาหกรรมการกีฬา หลักสูตรการเรียนการสอนยังไม่ครอบคลุมและรองรับอุตสาหกรรมกีฬาทั้งระบบ โครงสร้างพื้นฐานดีแต่ยังขาดการดูแล และไม่สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ร่างแผนแม่บทการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศไทย พ.ศ.2561-2564 มีเป้าหมาย 4 ด้าน คือ 1.สร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมการกีฬา โดยความร่วมมือจากรัฐและเอกชน สร้างเครือข่าย แก้ไขกฎหมาย และสร้างคลังข้อมูล 2.สร้างบุคลากรกีฬา ทั้งคนออกกำลังกาย, นักกีฬา และผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา 3.ส่งเสริมกิจกรรมกีฬาให้มีกิจกรรมกีฬาตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศและนานาชาติ รวมทั้งช่วยผลักดันสปอร์ตทัวริสม์ 4.ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมการกีฬา และนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ

Advertisement

ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าวปิดท้ายว่า ผลลัพธ์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศไทยจะช่วยให้มีคนกีฬาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คนเหล่านี้จะมาใช้สินค้า บริการด้านกีฬา, มีนักกีฬาและบุคลการกีฬาที่เหมาะสมกับการแข่งขัน มีสถิติการแข่งขันที่ดีขึ้น, เกิดการสร้างเครือข่ายในระดับประเทศช่วยให้มีข้อมูลในการพัฒนาคนกีฬาัดเจนและกว้างขึ้น เมื่อผู้คนสนใจกีฬามากขึ้น จะเข้ามาจับจ่ายสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมมากขึ้น เกิดเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศ สร้างนวัตกรรมใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมการกีฬาของไทยและของโลกอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image