‘มวยเด็ก’ วาระที่ ‘ผู้ใหญ่’ ต้องใส่ใจ

กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม จากเหตุสลด “น้องเล็ก” เพชรมงคล ส.วิไลทอง นักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิตด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง หลังขึ้นชกแพ้น็อกเวทีมวยชั่วคราว โรงเรียนวัดคลองมอญ จ.สมุทรปราการ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน

เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาทบทวนร่างแก้ไข พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญคือห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นต่อยมวยโดยเด็ดขาด ตามข้อเสนอและงานวิจัยของแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ประเด็นดังกล่าวมีทั้งกลุ่มสนับสนุนด้วยความเป็นห่วงความปลอดภัยและสุขภาพของเด็ก ขณะเดียวกันสังคมมวยก็ดาหน้ากันออกมาคัดค้าน ด้วยข้ออ้างเป็นการทำลายวงการมวยไทย

ลองมาดูความเห็นของกลุ่มคนทั้งสองฝ่ายกัน

Advertisement

“บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช.อยู่ด้วย แสดงความเห็นว่า เข้าใจเหตุผลของทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายแพทย์ทำวิจัยกันมาเป็น 10 ปี ว่าหากเด็กได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองจะทำให้ความเจริญเติบโตไม่ปกติ ต้องเคารพในแง่ของแพทย์ แต่ก็เข้าใจพวกกลุ่มคนมวยไทย ทั้งค่ายมวย นักมวย ซึ่งต้องมีภาระหาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ ประเด็นนี้มีการพูดกันมานานแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต้องหาทางออกที่ดีร่วมกัน เช่น พูดคุยเพื่อพบกันครึ่งทาง ให้นักมวยใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายทั้งเฮดการ์ด, สนับศอก, สนับแข้ง คุยกันให้ลงตัว เข้าใจว่าทางแพทย์น่าจะยอมรับฟังเหตุผลเช่นกัน คนมวยไทยก็ต้องเข้าใจความหวังดีของแพทย์ด้วยเช่นกัน

“การเรียกร้องเป็นสิ่งที่ดี แต่การเกินเลยถึงขั้นจะมาเดินถนนประท้วงกันนั้น ผมไม่เห็นด้วย ผมเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันจะดีกว่า” พล.ต.จารึกกล่าว

“ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” นายทวี อัมพรมหา เลขาธิการสมาคมมวยไทยนายขนมต้ม บอกว่า กรณีของน้องเล็กเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งตอนโดนหมัดนั้นแล้วฟุบลงไปหัวฟาดพื้น และกรรมการเข้าไปเซฟรับศีรษะไม่ทัน จะไปโทษกรรมการหรือนักมวยคงไม่ได้ ส่วนแนวทางการป้องกัน อาจจะสวมเฮดการ์ดป้องกัน และที่สำคัญคนวงการมวยต้องถอยออกมาตั้งหลักก่อน ตัดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวออกไปบ้าง

Advertisement

สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักชกเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ บอกว่า จุดยืนของตัวเองคัดค้านแน่นอน เพราะมวยไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ สมัยก่อนอายุ 7 ขวบ ก็ชกกันแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นอุบัติเหตุ หากมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จริง จะขอเป็นคนนำขบวนเพื่อนนักมวยต่อต้านแน่นอน เพราะไม่ควรห้ามไม่ให้เด็กชกมวย แต่ควรหาทางป้องกัน ในกฎมีระบุอยู่แล้วว่าต้องใส่นวมขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 ออนซ์เพื่อป้องกัน ต้องมีตรวจเช็กสภาพความพร้อมของร่างกายทุกครั้งก่อนชก และนักมวยต้องพัก 21 วันจึงจะชกได้อีกครั้ง แต่โปรโมเตอร์ตามต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้

ขณะที่ในเวทีการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ THE 13TH WORLD CONFERENCE ON INJURY PREVENTION AND SAFETY PROMOTION (SAFETY 2018) หรือ “การประชุมว่าด้วย การป้องกัน การบาดเจ็บ และการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13” มีการเปิดเวทีกลุ่มย่อยรับฟังความเห็นจากนักวิชาการด้านความปลอดภัยในเด็ก ในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.มวย ควบคุมไม่ให้นำเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นแข่งขันชกมวย และต้องขออนุญาตนายสนามมวยและปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในกลุ่มเด็ก อายุ 12-15 ปี

ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ก้าวเข้าสู่วงการมวยไทยตั้งแต่ยังเล็กและเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประมาณ 2-3 แสนคนทั่วประเทศ ด้วยประสบการณ์ที่น้อยประกอบกับกติกาการชกที่เน้นความรุนแรง เด็กย่อมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อสมอง จากการวิจัยการบาดเจ็บในสมองของนักมวยเด็กโดยวิธี MRI (Magnetic Resonance Imaging) ผลการ MRI สมองนักมวยเด็ก 323 คน เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ชกมวย 253 คน พบว่า นักมวยเด็กจะประสบกับภาวะดังนี้ สมองเสื่อมก่อนวัย การทำงานของสมองด้านความจำลดลง สามารถนำไปสู่การบกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อมได้ จะส่งผลต่อการศึกษาเล่าเรียน และการดำรงชีวิตของพวกเขาในอนาคต

ระบบประสาทเสียหาย เซลล์สมองและใยประสาทฉีกขาดและถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ นักมวยเด็กมีเลือดออกในสมองจากการถูกชกที่ศีรษะบ่อยครั้ง ทำให้มีธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารพิษสะสมในเนื้อสมอง ยิ่งชกนานไอคิวยิ่งลด ไอคิวของเด็กไทยทั่วไปอยู่ระหว่าง 90-110 คะแนน (สามารถเรียนจบอนุปริญญาหรือปริญญาตรีได้) แต่ไอคิวของเด็กชกมวยจะน้อยกว่าเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน โดยลดลงต่อเนื่องตามระยะเวลาในการชก นักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปี มีไอคิว 84 คะแนน (คะแนน 80-89 จะสามารถเรียนจบ ม.ปลายเท่านั้น)

“เด็กเหล่านี้จะใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อหยุดชก หากโตไปแล้วไม่ได้เข้าสู่วงการมวยอาชีพ ไม่ได้เป็นนักกีฬามวยระดับชาติจะกลับเข้าสู่สังคม และใช้ชีวิตปกติได้อย่างไรในสภาพสมองที่บอบช้ำ พร้อมระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าคนทั่วไป และอาจมีโรคทางประสาทในอนาคต เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน ในอนาคตจะเป็นภาระต่อคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง” ศ.พญ.จิรพรแสดงความเป็นห่วง

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันการชกมวยเด็กเป็นลักษณะมวยอาชีพได้รับค่าตอบแทน ถือเป็นการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งในระดับสากล โดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐระบุว่า มวยเด็กเป็นการทารุณกรรมและเป็นการใช้แรงงานเด็กในขั้นเลวร้ายที่สุด ฉะนั้นมวยไทยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องเป็นเพียงวัฒนธรรมและกีฬาสมัครเล่น มีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุ ต้องไม่เป็นอาชีพ และไม่เป็นการพนัน ควรฝึกมวยในเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพให้เป็นกีฬาแบบไม่ปะทะ โดยปรับเปลี่ยนกฎกติกาและหาอุปกรณ์ รวมทั้งมาตรการต่างๆ จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาลดผลกระทบต่อสมอง และมีการดูแลนักมวยหลังการชกอย่างเหมาะสม

“ไม่มีอายุใดที่จะปลอดภัยต่อการถูกชกที่ศีรษะ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ สมองมนุษย์เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้ใหญ่ไม่ควรใช้สิทธิตัดสินให้พวกเขาถูกทำร้าย จากผลการวิจัยดังกล่าวหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องตระหนักต่อปัญหานักมวยเด็ก และนำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 เพื่อกำหนดให้มวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นการแข่งขันที่ต้องมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.มวยฉบับใหม่ จะมีผลต่อสังคมไทยได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ ผู้ชกมวย ครอบครัวเด็ก และประชาชนไทย” รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าว

ปัญหามวยเด็กจึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องดำเนินการเพื่อปกป้องอย่างจริงจัง เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image