ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา! ปิดตำนาน33ปี นิตสารสนุ้ก ‘คิวทอง’ เตรียมอำลาแผง ผันตัวสู่ออนไลน์

นิตยสารสนุกเกอร์ฉบับแรก และฉบับเดียวของไทย “คิวทอง” ถึงเวลาต้องอำลาหลังจากที่ออกวางตลาดฉบับแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2528 จากบัดนั้นถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 33 ปี โดยหนังสือสนุกเกอร์คิวทอง เกิดขึ้นในช่วงนายศักดา รัตนสุบรรณ ที่มีพลังเพื่อผลักดันกีฬาแขนงนี้ เพราะเป็นหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ซึ่งมีความผูกพันธ์กับคณะกรรมการโอลิมปิกที่มี พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นประธานและมี พ.อ.อนุ รมยานนท์ เป็นเลขาธิการ พร้อม พ.ต.จารึก อารีราชการัณย์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ช่วยเลขาธิการในฐานะ สื่อมวลชน กับ ผู้บริหารองค์กรกีฬาได้มีการขอร้องให้โอลิมปิกช่วยผลักดัน สนุกเกอร์-บิลเลียด เข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ที่ประเทศอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพในปี 2530 เพราะการจะเสนอชนิดกีฬาต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นปี

สำหรับสาเหตุที่ต้องออกนิตยสารสนุกเกอร์ คิวทอง เนื่องมาจากนายศักดาได้เปิดคอลัมน์ “นินทาเซียน” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งเป็นข่าวสังคมซุบซิบทั่วไป แต่เจาะจงเฉพาะคนในวงการสนุกเกอร์อย่างเดียว ซึ่งส่งผลให้ผู้อ่านที่ชื่นชอบกีฬาแขนงนี้ติดกันเกรียว แต่ได้สร้างปัญหาสู่หลายครอบครัวโดยมี ผู้ปกครอง โทรมาด่าบรรณาธิการรวมถึงแม่บ้านที่เป็น ภรรยาก็ต่อว่าหนังสือพิมพ์ เพราะตั้งแต่มีคอลัมน์ “สนุกเกอร์” ปรากฏว่า ลูกเต้าไม่ไปโรงเรียน มั่วอยู่ในโต๊ะบิลเลียด ส่วนผู้นำครอบครัวก็เล่นกันข้ามวันข้ามคืนไม่สนใจกลับบ้าน ซึ่งบรรณาธิการ นายประชา เหตระกูล ได้รับการร้องเรียนมามากจึงต้องเรียกหัวหน้าข่าวไปชี้แจง พร้อมยื่นคำขาดให้ลดจำนวนวันเขียนคอลัมน์สนุกเกอร์ให้น้อยลง

ด้วยเหตุนี้คือที่มาของการกำเนิดคิวทอง ที่ต้องนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของคนในวงการต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงสำคัญที่จะมีการผลักดันสนุกเกอร์เข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์เป็นครั้งแรก นิตยสารคิวทอง จึงคลอดสู่สายตาเมื่อเดือนสิงหาคม 2528 โดยช่วงแรกออกเป็นรายปักษ์ 15 วัน และยืดเวลาเป็นรายเดือนในปีถัดมา เพราะการทำหนังสือยุคนั้นถือเป็นเรื่องยาก ไม่เหมือนยุคดิจิทัลที่ใช้คอมพิวเตอร์จัดทำรูปเล่มทั้งหมด ซึ่งออกวางตามแผงทั่วประเทศในราคาเพียง 20 บาทเท่านั้น

33 ปีที่คิวทองยืนหยัดมาได้ก็ด้วยพันธมิตรที่มีความผูกพันธ์ในด้านส่วนตัวด้วยการสนับสนุนลงโฆษณา โดยมิได้มุ่งหวังถึงผลในการโฆษณา เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำงานในการผลักดันกีฬาแขนงนี้เป็นที่ยอมรับของคนไทย ซึ่งในอดีตเห็นบิลเลียด-สนุกเกอร์เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง ผู้ปกครองยุคนั้นสั่งห้ามลูกหลานเหยียบย่างสู่สถานที่แห่งนี้ ถือเป็นแหล่งอโคจร ที่รวบรวมบรรดาพวกสารพัดกุ๊ย ตั้งแต่ พวกโจร พวกฉกชิงวิ่งราว พวกมิจฉาชีพทุกประเภท มักรวมอยู่ในโต๊ะบิลเลียด

Advertisement

หลังจากนั้นไม่นานวงการสอยคิวก็เริ่มเป็นที่ยอมรับเมื่อ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ประกาศให้บิลเลียด-สนุกเกอร์ เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่ กกท.ต้องให้การสนับสนุนงบประมาณในการส่งแข่งซีเกมส์ โดยประกาศในปี 2528 จนถึงปัจจุบันซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคนที่อยู่ในวงการนี้ รวมถึงผู้ปกครอง ก็เริ่มคล้อยตามและให้การสนับสนุนลูกหลานจนทำให้ ไทย กลายเป็นเจ้าของแชมป์สมัครเล่นโลกถึง 7 คน นับตั้งแต่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย, หนู ดาวดึงส์, ต่าย พิจิตร, ศักดิ์ชัย ซิมงาม, บิ๊ก สระบุรี, เอฟ นครนายก และแจ๊ค สระบุรี ซึ่งไม่รวมแชมป์เยาวชนโลกชาย-หญิงอีกหลายคน รวมทั้งแชมป์โลกซีเนียร์ (อายุเกิน 40 ปี) ส่วนแชมป์เอเชียไม่ต้องพูดถึง คนไทย กวาดแชมป์ได้มากที่สุดกว่า 10 คน

นิตยสารคิวทองระบุว่า 33 ปีที่คิวทองยืนหยัดถึงวันนี้ ต้องขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนที่มีความจำเป็นต้องปิดตัวเอง แต่จะไม่หนีไปไหนไกลคงพบกันในเว็บไซต์คิวทอง ใครอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสนุกเกอร์ก็ให้ติดตาม เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว อดใจหาย ต้องทำใจกราบลาแฟนๆ เหมือนกับที่ปรมาจารย์ กิมย้ง เกริ่นไว้เบื้องต้น ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา สำหรับแฟนนิตยสารคิวทองสามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหว ในแวดวงสนุกเกอร์ ได้ทาง เว็บไซต์ www.cuethong.com เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/cuethong และทวิตเตอร์ www.twitter.com/Cuethong

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image