ปัญหาของ ‘มูรินโญ่’ และอนาคตหลังจากนี้

FILE PHOTO: Soccer Football - Champions League - Group Stage - Group H - Juventus v Manchester United - Allianz Stadium, Turin, Italy - November 7, 2018 Manchester United manager Jose Mourinho gestures after the match REUTERS/Stefano Rellandini/File Photo

 

การพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ โชเซ่ มูรินโญ่ เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ถือเป็นบทสรุปที่หลายคนคาดเดาล่วงหน้ามานานพอสมควรแล้ว หลังจากทีมปีศาจแดงทำผลงานย่ำแย่มาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มสูงว่าอาจจะพลาดโอกาสไปเล่นถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาลหน้า เพราะไม่ติดอันดับท็อปโฟร์

เรื่องราวของแมนฯ ยูไนเต็ดหลังจากนี้ คือการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง และการก้าวไปข้างหน้า จะดีหรือร้ายกว่าที่เป็นอยู่ก็ขึ้นอยู่กับโค้ชคนใหม่ นักเตะ และผู้บริหารทีม

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าคิดน่าติดตามไม่น้อยไปกว่ากัน คืออนาคตของตัวกุนซือชาวโปรตุกีส ซึ่งต้องยอมรับตรงๆ ว่าผลงานในช่วงหลังๆ ทำให้เขาโดน “ดาวน์เกรด” ลงเอาเรื่องในสายตาของแฟนบอลทั่วๆ ไป ไม่จำกัดเฉพาะแฟนผีเท่านั้น

Advertisement

เทียบผลงาน 2 ฤดูกาลเกือบครึ่งของมูรินโญ่ในถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด ปีแรก ฤดูกาล 2016-17 เปิดตัวได้ร้อนแรง ลงสนามทุกถ้วย 64 นัด พาทีมคว้าชัย 37 นัด เสมอ 18 แพ้ 9 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ชนะ 57.8 เปอร์เซ็นต์ ถึงจบอันดับ 6 ของตาราง แต่ก็คว้าแชมป์ลีกคัพและยูโรป้าลีก แถมยังมีถ้วยศักดิ์ศรีอย่างคอมมิวนิตี้ชิลด์ช่วงต้นฤดูกาล

ฤดูกาลถัดมา ถึงไม่มีแชมป์ใดๆ ติดมือ แต่ปีศาจแดงจบอันดับ 2 ของตาราง มีสถิติลงสนามทุกถ้วย 56 นัด ชนะ 37 เสมอ 7 แพ้ 12 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ชนะ 66.1 เปอร์เซ็นต์

ส่วนฤดูกาลล่าสุดยังไม่ถึงครึ่งทาง ลงเล่นไปทุกถ้วย 24 นัด ชนะ 10 เสมอ 7 แพ้ 7 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ชนะ 41.7 เปอร์เซ็นต์ โดยตกรอบลีกคัพกับเอฟเอคัพไปแล้ว ปัจจุบันรั้งอันดับ 6 ของตารางพรีเมียร์ลีก มีแต้มตามหลัง ลิเวอร์พูล จ่าฝูง 19 คะแนน ส่วนถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ไปแล้ว แต่เจองานหินกับ ปารีส แซงต์แชร์แมง ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

Advertisement

ตอนคุม เชลซี รอบสอง ก็ลงเอยในลักษณะคล้ายๆ แบบนี้เช่นกัน คือเริ่มด้วยตำแหน่งแชมป์ แต่จบลงแบบผิดฟอร์มอย่างเหลือเชื่อในฤดูกาลต่อๆ มา

ในแง่ผลงาน ฟุตบอลมีขึ้นมีลง ชนะบ้าง แพ้บ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลก และมูรินโญ่ก็ใช่ว่าจะหมดเขี้ยวเล็บ เพราะอย่างน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน ต่อให้ เยอร์เก้น คล็อปป์ ของ ลิเวอร์พูล หรือ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ของ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ทำทีมได้น่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน อย่างน้อยมูรินโญ่ก็ยังมีถ้วยแชมป์ติดมือ ขณะที่ 2 คนนั้นยังปิดฤดูกาลมือเปล่าอยู่เลย

ปัญหาของเจ้าของฉายา “สเปเชียล วัน” คือ หลายคนมองว่า ไอเดียการทำทีมของเขาเริ่มถึงทางตัน บ่อยครั้งที่มูรินโญ่ยึดแผนการเล่นเน้นตั้งรับรอจังหวะสวนกลับ หรือ “จอดรถบัส” จนเกินงาม ขนาดเจอกับทีมเล็กๆ ที่เป็นรองกว่าก็ยังเล่นแผนนี้

ปกติมูเป็นโค้ชสไตล์เน้นผลแข่งเป็นหลักอยู่แล้ว การจัดแผนการเล่นที่รัดกุมจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ปัญหาคือเล่นเกมรับแล้วแต่ยังไม่ดีพอ กลายเป็นว่าโดนเจาะจนทำแต้มหลุดมืออยู่หลายครั้ง

จึงเกิดคำถามว่า แผนของมูรินโญ่ในวัย 55 ปี “เชย” เกินไปสำหรับฟุตบอลยุคนี้แล้วหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเจอกับบรรดากุนซือคนรุ่นใหม่อย่างโปเช็ตติโน่, คล็อปป์ หรือ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า?

มาร์ก ชวาร์เซอร์ นายทวารชาวออสเตรเลีย ซึ่งเคยร่วมงานกับมูรินโญ่ตอนกลับไปคุมเชลซีรอบสองในปี 2013 บอกว่า มูยังห่างไกลจากคำว่า “ตกรุ่น” เพราะโค้ชแต่ละคนก็มีสไตล์ของตัวเอง การตีความเรื่องฟุตบอลนั้นแตกต่างกัน และจากที่ได้ร่วมงานมา มูมักจะนำนวัตกรรมหรือแทกติกใหม่ๆ มาใช้ในการซ้อมเสมอ แน่นอนว่าบางสไตล์อาจจะน่าดูกว่าบางสไตล์ แต่ถ้าทุกทีมเล่นเหมือนกันหมดก็คงน่าเบื่อมากๆ

และถ้าฟุตบอลวัดกันที่ผลงานเป็นหลัก ก็ต้องไม่ลืมว่า มูไปคว้าแชมป์มาแล้วกับทุกสโมสรที่เขาคุมทีมนับตั้งแต่ปอร์โต้เป็นต้นมา

ขณะที่ เบนนี่ แม็คคาร์ธี่ กองหน้าชาวแอฟริกาใต้ ลูกทีมของมูสมัยคุม ปอร์โต้ ชุดแชมป์ยุโรปปี 2004 สำทับว่า ยังไงมูรินโญ่ก็ยังเป็นหนึ่งในโค้ชที่เก่งที่สุดในโลก คนเราจะมาฝีมือตกลงในชั่วข้ามคืนไม่ได้ และอย่าลืมว่าฟุตบอลไม่ได้ขึ้นอยู่กับโค้ชอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่านักเตะจะทำได้ตามที่โค้ชต้องการด้วยหรือไม่

เอ่ยถึงเรื่องนักเตะนับเป็นประเด็นน่าสนใจเพราะว่ากันตามจริงนี่อาจเป็นหัวใจของปัญหาของมูรินโญ่ในช่วงหลังๆ

ปัญหาหลักของมูอาจไม่ใช่วางแผนไม่ดี แต่เพราะนักเตะเล่นกันไม่ได้ตามแผน เพราะบางคนเกิดอาการไม่เชื่อใจ ต่อต้าน หรือไม่ให้ใจโค้ชด้วยส่วนนึงหรือไม่?

ช่วงปลายการทำทีม รีล มาดริด ว่ากันว่ามูมีปัญหาขัดแย้งกับขาใหญ่ในทีม โดยเฉพาะในรายของ อิเคร์ กาซิยาส อดีตนายทวารทีมชาติสเปน ถึงขั้นดร็อปอีกฝ่ายเป็นตัวสำรอง ส่วนตอนคุมเชลซีรอบสอง พอฟอร์มเริ่มสะดุด ก็ว่ากันว่าแข้งหลักของทีม อาทิ เอเด็น อาซาร์ เป็นตัวหลักในการก่อหวอดกับกุนซือชาวโปรตุกีส

พอมาถึงแมนฯ ยูไนเต็ด ก็มีข่าวเรื่องมูรินโญ่มีปัญหาขัดแย้งกับ ปอล ป๊อกบา ในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องนักเตะไม่แฮปปี้ที่ถูกจับเล่นตำแหน่งไม่ถนัด ทั้งโค้ชไม่ชอบใจที่ป๊อกบาไขว้เขวกับกิจกรรมนอกสนามมากเกินไป เรื่องราวบานปลายถึงขั้นต่างฝ่ายต่างออกมาให้สัมภาษณ์กระทบกระทั่งกันผ่านสื่อ และช่วงหลังๆ แข้งดีกรีแชมป์โลก และนักเตะค่าตัวแพงที่สุดของสโมสรอย่างป๊อกบา ก็โดนจับเป็นตัวสำรองแบบไม่แยแส

อันที่จริงสมัยก่อน มูได้ชื่อว่าถึงจะเป็นโค้ชที่โผงผาง พูดจากวนๆ ไม่สนใครโดยเฉพาะสื่อ แต่ก็เป็นโค้ชประเภทได้ใจนักเตะและสนิทสนมกันเป็นอย่างดี แต่กลายเป็นว่าช่วงหลังพอโดนแฟนหรือสื่อจี้ใจดำมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ออกอาการฟิวส์ขาด ตบะแตกง่ายๆ

เรื่องตำหนินักเตะต่อหน้านั้น มูไม่ใช่คนแรก แม้แต่ “ป๋า” ของเด็กผีอย่าง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก็ยังทำบ่อยๆ แต่ปัญหาคือ มูไม่ค่อยไว้หน้าลูกทีมต่อบุคคลที่ 3 หรือสาธารณะอยู่บ่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยสักนิด

ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ส่วนตัวเสีย พอเรื่องเริ่มเลยเถิด บรรยากาศในทีมก็เสียไปด้วย นักเตะขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บทสรุปจึงลงเอยอย่างที่เห็น

ส่วนคำตอบที่ว่าหลังจากนี้ เดอะ สเปเชียล วัน จะกลับมาตั้งหลัก และคุมทีมชั้นนำของของโลกจนประสบความสำเร็จได้อีกหรือไม่ คงอยู่ที่ว่าผู้บริหารสโมสรที่จะจ้างเขาไปคิดว่านักเตะจะรับมือกับความอารมณ์ร้อนของมูได้มากขนาดไหน

ส่วนเรื่องแผนการเล่น “เชย” เกินไปนั้น ถ้าย้อนไป 2 ปีที่แล้ว ยังพาแมนฯ ยูคว้าแชมป์ได้ 2 ถ้วย คงไม่ถึงขั้นตกยุคจนเกินไป

แต่จะไปได้ถึงแชมป์ฟุตบอลลีกอีกหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่ต้องรอพิสูจน์กันอีกที!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image