ถอดบทเรียน’เลสเตอร์ ซิตี้’ จากหนีตายรอดตกชั้น สู่การเถลิงบัลลังก์แชมป์

เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนไปทั่วเกาะอังกฤษและวงการฟุตบอลทั่วโลก กับการขึ้นเถลิงบัลลังก์แชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษของ “เลสเตอร์ ซิตี้”

พาดหัวข่าวของแต่ละสำนักยกย่องให้ชัยชนะของพวกเขาเป็นเรื่อง “มหัศจรรย์” เป็นชัยชนะที่ไม่มีใครคาดคิดคาดฝันว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะในตอนต้นฤดูกาล อัตราการต่อรองการเป็นแชมป์ของพวกเขาอยู่ที่ 5,000 ต่อ 1 เท่านั้น

พูดง่ายๆ คือทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า “เป็นไปไม่ได้”

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้คือการที่ทีมของ วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของธุรกิจ “คิง เพาเวอร์” กลับเดินหน้าคว้าชัยอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด

Advertisement

ด้วยงบประมาณที่ไม่อาจเทียบได้กับทีมยักษ์ใหญ่ นักเตะในทีมแทบไม่เป็นที่รู้จัก แต่ทั้งหมดกลับสร้างสรรค์ผลงานสุดอลังการชนิดหักปากกาเซียนหลายต่อหลายนัด

ก่อนที่ปิดท้ายจะคว้าแชมป์ไปได้อย่างยิ่งใหญ่ราวกับ “เทพนิยาย”

ทั้งหมดเกิดเป็นคำถามต่อปรากฏการณ์นี้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

Advertisement

คำตอบเพื่อถอดบทเรียนนี้ และชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ได้รับจากปรากฏการณ์ “เลสเตอร์ ซิตี้”

ได้ถูกรวบรวมเอาไว้ในบรรทัดถัดไป


กำเนิด “เลสเตอร์ โมเดล” 

ทีมสปิริต และการจัดการทีมที่ลงตัว

Leicester City's English midfielder Marc Albrighton (C) celebrates scoring their fourth goal during the English Premier League football match between Leicester City and Swansea at King Power Stadium in Leicester, central England on April 24, 2016. / AFP PHOTO / BEN STANSALL / RESTRICTED TO EDITORIAL USE. No use with unauthorized audio, video, data, fixture lists, club/league logos or 'live' services. Online in-match use limited to 75 images, no video emulation. No use in betting, games or single club/league/player publications. /

“อันดับแรกผมคิดว่าเป็นเรื่องของทีมสปิริต”

นี่คือสิ่งที่ “เอก ฮิมสกุล” กูรูลูกหนัง เจ้าของดีกรีสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2006 แฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลโลก 2002 แฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลยูโร 2004 ได้เริ่มต้นขึ้น

“นับตั้งแต่ช่วงปลายฤดูกาลที่แล้วที่ต้องหนีตกชั้นมาจนถึงฤดูกาลนี้ สิ่งที่เลสเตอร์แสดงให้เห็นอยู่ตลอดคือ ทีมสปิริต เรื่องของการช่วยกันวิ่งช่วยกันไล่”

“ทีมใหญ่ๆ บางทีเวลาเจอทีมสไตล์อย่างเลสเตอร์จะไม่ชอบเลย เพราะเล่นด้วยยาก และวิ่งไล่บี้กันทีไม่มีหมด”

เอกเสริมต่อว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่นักเตะหลักแต่ละคนมาอยู่ในฟอร์มสุดยอดพร้อมๆ กัน และในช่วงเวลาที่สำคัญนักเตะทุกคนก็ยังคงรักษามาตรฐานของตัวเองเอาไว้ได้ตลอด

ที่สำคัญคือ นักเตะสำคัญเหล่านี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหนักจนมาลงช่วยทีมไม่ได้อีกด้วย

“นักเตะอย่างริยาด มาห์เรซ ที่ดูอ้อนแอ้นหน่อย น้อยครั้งมากที่ไม่ได้ลงสนาม หรือเจมี วาร์ดี้ ที่วิ่งไล่บอล เข้าชนเข้าสกัดหนักๆ ตลอดแม้ว่าจะเป็นกองหน้าก็ไม่เจออาการบาดเจ็บเล่นงาน”

อีกหนึ่งปัจจัยคือ การดึง “เคลาดิโอ รานิเอรี่” ผู้จัดการทีมที่โชกโชนประสบการณ์เข้ามากุมบังเหียน

เอกเสริมว่า รานิเอรี่ถือว่าเป็นกุนซือที่เก่งคนหนึ่ง เพียงแต่เขาอาจจะโชคไม่ดีในช่วงที่ไปคุมทีมใหญ่ในยุโรป แต่การมาคุมเลสเตอร์ในครั้งนี้ถือว่าเขาได้ดึงเอาศักยภาพของนักเตะแต่ละคนออกมาได้เป็นอย่างดี

“ผมเคยสัมภาษณ์พูดคุยกับรานิเอรี่ในช่วงต้นฤดูกาลที่เลสเตอร์เริ่มชนะติดต่อกัน โดยถามเขาว่าปกติแล้วเรามักจะเห็นเขาคุมทีมโดยเน้นเกมรับเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำไมเลสเตอร์ในช่วงนั้นถึงบุกแหลก เล่นบอลเร็ว”

“รานิเอรี่ตอบกลับมาว่า เขาจะจัดการวางระบบการเล่นของทีมโดยมองจากความเหมาะสมของนักเตะที่เขามี”

“คือเขาเห็นว่า นักเตะอย่างวาร์ดี้มีความเร็ว เขาก็เน้นวางบอลข้ามกองหลัง หรือริยาด มาห์เรซ ที่มีทักษะการเลี้ยงที่ดีก็จับไปยืนริมเส้น แต่เน้นให้ตัดเข้าในเพื่อที่จะยิงได้เลย”

ส่วนความรู้สึกที่เขาได้รับจากปรากฏการณ์นี้ เอกบอกว่า ส่วนตัวเขาประทับใจมากแม้ว่าเขาจะเป็นแฟนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ตาม

“ช่วงต้นฤดูกาลทีมรักของผมเล่นบอลได้น่าเบื่อ เน้นครองบอลเป็นหลัก พอมีโอกาสได้ดูเลสเตอร์ที่เล่นบอลได้น่าตื่นตาตื่นใจ ต่อบอล 3-4 จังหวะถึงหน้าประตู เหมือนอย่างแมนฯยูสมัยที่มีคริสเตียโน่ โรนัลโด้ อยู่ในทีม ดูแล้วสนุก เลยเอาใจช่วย เอาใจเชียร์”

เอกบอกว่า ความสำเร็จของเลสเตอร์ยังเป็นนิมิตหมายอันดีต่อวงการฟุตบอล เป็น
“เลสเตอร์โมเดล” ให้ทีมอื่นๆ เห็นว่าพวกเขาก็สามารถเป็นแชมป์ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนมหาศาลเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

“ฟุตบอลอังกฤษจะมีความตื่นเต้นมากขึ้น ต่อจากนี้จะไม่มีบิ๊กโฟร์ บิ๊กไฟว์ แต่ทีมอื่นๆ ก็คิดว่าตัวเองสามารถลุ้นแชมป์ได้ทั้งหมดจากสิ่งที่เลสเตอร์โมเดลได้สร้างเอาไว้” เอกทิ้งท้าย

 

pra01090559p3

แรงบันดาลใจของวงการฟุตบอล

พิสูจน์ว่า เงินไม่ได้การันตีความสำเร็จ

ด้าน วโรดม ปัญจวัฒนา หรือ “ต้น” แฟนพันธุ์แท้ลิเวอร์พูลคนล่าสุด กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเลสเตอร์ คือการเริ่มต้นได้ดีและไร้แรงกดดัน

“คือเลสเตอร์เริ่มต้นแบบไม่มีใครคาดหวัง แต่เริ่มต้นได้ดีมาก พอผ่านครึ่งฤดูกาลมา คู่แข่งแต่ละทีมดันตกม้าตายกันหมดอีก ความกดดันไม่มี แถมความมั่นใจยังมา”

ต้นเสริมต่อว่า อีกหนึ่งความดีความชอบต้องยกให้ทีมงานและแมวมองของทีม ที่เลือกซื้อนักเตะได้ในราคาที่เหมาะสม แถมซื้อมาแล้วสามารถใช้งานได้ในทันทีอีกต่างหาก

โดยเฉพาะ “สตีฟ วอล์ช” ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ที่เป็นผู้ค้นพบทั้ง ริยาด มาห์เรซ, เจมี่ วาร์ดี้, เอ็นโกโล่ ก็องเต้ 3 นักเตะคนสำคัญของทีมในฤดูกาลนี้

ต้นกล่าวอีกว่า ฤดูกาลหน้าจะเป็นปีที่ยากลำบากของเลสเตอร์อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไปคือจะต้องรักษามาตรฐานเดิมให้ได้นานที่สุด

“ปีหน้าคงเป็นแบบนี้ได้ยากนะ เพราะใครเจอเลสเตอร์คงเน้นเกมรับก่อนแน่นอน ที่สำคัญเลสเตอร์ไม่ใช่ทีมใหญ่ที่มีแม่เหล็กในการดึงดูดนักเตะให้อยู่กับทีมต่อได้ในระยะยาว โดยเฉพาะนักเตะที่เริ่มดังขึ้นมาแล้วอย่างมาห์เรซ และก็องเต้”

“ประเด็นที่อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือ นักเตะแกนหลักหลายคนเริ่มมีอายุมาก ไม่ว่าจะเป็นเวส มอร์แกน กัปตันทีมในวัย 32 ปี หรือกองหน้าตัวความหวังอย่างเจมี่ วาร์ดี้ ฤดูกาลหน้าก็จะมีอายุ 30 ปี”

“ดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือจะต้องรักษาแกนหลักไว้ต่อไปให้ได้ และหาตัวแทนเอาไว้ด้วย เพื่อความสำเร็จในระยะยาว”

 

เคลาดิโอ รานิเอรี่ และ "สตีฟ วอล์ช" ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ที่เป็นผู้ค้นพบทั้ง ริยาด มาห์เรซ, เจมี่ วาร์ดี้, เอ็นโกโล่ ก็องเต้
เคลาดิโอ รานิเอรี่ และ “สตีฟ วอล์ช” (ขวา) ผู้ช่วยผู้จัดการทีมที่เป็นผู้ค้นพบทั้ง ริยาด มาห์เรซ, เจมี่ วาร์ดี้, เอ็นโกโล่ ก็องเต้

 

ส่วนความสำเร็จของเลสเตอร์ ซิตี้ นั้น ต้นมองว่าเป็น “แรงบันดาลใจ” แก่วงการฟุตบอลทั่วโลก และทำให้เห็นว่าเงินไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ทีมฟุตบอลประสบความสำเร็จไปทั้งหมด

“สิ่งที่เลสเตอร์ทำได้ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งวงการ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะในทีมเล็กๆ ว่าพวกเขาก็มีความหวัง”

“และแม้ว่าเงินจะทำให้ประสบความสำเร็จ แต่ไม่สามารถสร้างความประทับใจแบบนี้ได้” ต้นทิ้งท้าย

เจาะลึกแผนการเล่นกับนักรัฐศาสตร์

รูปแบบ”สวนกลับ”ที่ตั้งคำถามกับ”บาร์ซาสไตล์”

เป็นอีกหนึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้ชื่นชอบวงการลูกหนังเป็นพิเศษ ตฤณ ไอยะรา ซึ่งได้กล่าวว่า ความอัศจรรย์ของ “จิ้งจอกสยาม” ในฤดูกาลอยู่ในระดับที่เทียบเท่าหรือมากกว่า น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ หรือ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดชนิดเหลือเชื่อเช่นเดียวกัน

“ที่ดูอัศจรรย์มากกว่าเป็นเพราะทั้งสองทีมล้วนกุมบังเหียนด้วยกุนซือที่เคยเป็นผู้ชนะแชมป์ลีกมาก่อน ไม่ใช่  ‘คนคิดมาก’ อย่างเคลาดิโอ รานิเอรี่ ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้จัดการทีมที่ไม่เด็ดขาด”

“อีกทั้งยังมีทีมที่ประกอบไปด้วยนักเตะที่สร้างชื่อติดทีมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ ซิลตัน ของเจ้าป่า หรือโคลิน เฮนดี้ ของกุหลาบไฟ ไม่ใช่ทีมที่มีนักเตะโนเนมหรือมีชีวิตค้าแข้งพเนจร อย่างแคสเปอร์ ชไมเคิล, เจมี่ วาร์ดี้, ริยาด มาห์เรซ หรือเอ็นโกโล่ ก็องเต้”

 

5
ริยาด มาห์เรซ และเจมี วาร์ดี้ สองแนวรุกสุดอันตรายของเลสเตอร์

ตฤณกล่าวอีกว่า นอกจากนี้เลสเตอร์ยังมีการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลและวิเคราะห์แผนการเล่น

“เจมี วาร์ดี้ กล่าวไว้ว่า รานิเอรี่จะดูคลิปผู้เล่นที่ต้องลงแข่งด้วยในการเจอสุดสัปดาห์มากกว่าห้าสิบครั้ง ก่อนเลือกคลิปประมาณสิบรายการให้นักเตะในทีมดูเป็นการเตรียมตัว หรือการใช้ไอแพดในการอธิบายแทคติค”

“ซึ่งแทคติคในสนามของเลสเตอร์ดูผิวเผินแล้วคือ วิธีการเล่นของทีมเล็กทั่วไป คือตั้งรับลึกและรอจังหวะสวนกลับ แต่เลสเตอร์มีความโดดเด่นจากทีมเล็กอยู่หลายประการ 1.การเปิดเกมโต้กลับที่รวดเร็วของแคสเปอร์ ชไมเคิล ผู้รักษาประตู 2.การตัดบอล (intercept) กลางสนามที่คิดเป็นอัตราสูงสุดของลีก”

“3.การใช้บอลยาวในการจู่โจมเข้าสู่พื้นที่ 20-30 หลาหน้าปากประตูฝั่งตรงข้าม (final third) อย่างรวดเร็ว 4.การตั้งรับในแนวลึกที่เปรียบเสมือนการล่อให้คู่ต่อสู้เสียหลุดจากคุ้มครองพื้นที่หน้าประตูเพื่อเปิดโอกาสในการเล่นโต้กลับด้วยความเร็ว และการช่วยเกมรับของนักเตะแนวรุก”

“ในสายตาผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลในต่างประเทศ วิธีการเล่นของเลสเตอร์ในฤดูกาลนี้ มีความคล้ายคลึงกับทีมแอตเลติโก้ มาดริด ที่กำลังลุ้นแชมป์ลาลีกา และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก”

150531H2T91890

นอกจากนี้ในแง่ของความเป็นทีม ตฤณอธิบายว่า นักเตะทุกคนพร้อมจะเล่นอย่างมีวินัยและทุ่มเท โดยเฉพาะในการรักษาผลต่างของสกอร์ หลังจากขึ้นนำแล้ว และนักเตะพร้อมจะใช้การบีบพื้นที่ระหว่างกองหลังและกองหน้าในระยะห่างเพียง 25 หลา

ซึ่งเป็นการปิดพื้นที่ในการทำเกมรุกอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะโต้กลับด้วยการจ่ายบอลไปให้แนวรุกที่มีความเร็วสูง

“ด้วยสไตล์การเล่นของเลสเตอร์จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เป็นทีมแชมป์ที่มีสัดส่วนการเล่นบอลสั้นและครองบอลที่น้อยกว่าทีมอื่น”

“เป็นการตั้งคำถามต่อวิธีการเล่นแบบ บาร์ซาแจ็กซ์ (Barcajax) ที่เน้นการครองบอลให้มากที่สุด และการลำเลียงบอลสั้นเพื่อสร้างโอกาสทำประตู” ตฤณทิ้งท้าย

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์จำนวนมากที่มีต่อความสำเร็จของ “เลสเตอร์ ซิตี้” ในฤดูกาลนี้

ส่วนฤดูกาลหน้า พวกเขาจะทำได้อีกครั้งหรือไม่

คงต้องติดตามกันต่อไปกันอย่างใจจดจ่อ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image