สกู๊ป : เจาะระบบVARศึก ‘ไทยลีก’ กับความหวังขจัดภัย ‘ล้มบอล’

เทคโนโลยีวิดีโอช่วยตัดสิน (Video Assistant Referee) หรือ VAR ถูกนำมาใช้แพร่หลายในฟุตบอลลีกดังยุโรป ทั้ง ลาลีก้า สเปน, กัลโช่ ซีเรียอา อิตาลี, บุนเดสลีก้า เยอรมนี, ลีกเอิง ฝรั่งเศส และมีเพียง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เท่านั้นที่ยังไม่ได้ใช้เต็มรูปแบบ ขณะที่่ ไทยลีก ก็ได้เริ่มนำเทคโนโลยี VAR เข้ามานำร่องช่วยตัดสิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ตัดสิน

และที่สำคัญเป็นการขจัดปัญหา “ล้มบอล” หรือล็อกผลการแข่งขันให้หมดสิ้นไป…

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท ไทยลีก จำกัด เริ่มนำ VAR เข้ามาใช้ในไทยลีกเป็นประเทศแรกในย่านอาเซียน หลังจากนำร่องใช้เมื่อฤดูกาล 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทำงานระบบมอนิเตอร์จากห้องปฏิบัติการที่ยกไปติดตั้งที่สนามในแต่ละครั้งที่ใช้ แต่แฟนบอลไทยหลายคนสงสัยว่า ในศึกไทยลีก 2019 นี้ VAR ถูกนำเข้ามาใช้อย่าง “เต็มรูปแบบ” แล้วหรือไม่? หรือเป็นการ “นำร่อง” เท่านั้น? หรือเป็นเพียงการ “ทดลอง” ใช้ทั่วไป? จนทำให้เกิดความสับสนกับการใช้เทคโนโลยีทันสมัยนี้

Advertisement

แต่ต้องอธิบายว่า ที่มาที่ไปของเจ้า VAR มีกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะที่สามารถนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบได้ ซึ่งการเข้าสู่ระบบ VAR อย่างถูกต้องเต็มรูปแบบจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนสากล ทั้งการให้ความรู้ต่อบุคลากรผู้ตัดสิน และผู้ช่วยผู้ตัดสิน ซึ่งจำเป็นต้องมีประสบการณ์จริง และผ่านการฝึกอบรมจนเกิดความชำนาญในการใช้ VAR พิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ในสถานการณ์จริง ตามหลักเกณฑ์ 4 ข้อในการเรียกใช้ ประกอบด้วย 1.เป็นประตู/ไม่เป็นประตู 2.จุดโทษ/ไม่จุดโทษ 3.ใบแดงโดยตรง และ 4.ระบุตัวผู้เล่นผิดพลาด

ฟุตบอลไทยลีกกำลังเดินหน้าสู่ระบบ VAR อย่างเต็มรูปแบบในฤดูกาล 2019 แต่ต้องผ่าน 5 ขั้นตอนตามเงื่อนไขมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ที่เริ่มบังคับใช้ระเบียบใหม่หลังจบฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งขั้นตอนแรกเป็นการหารือร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย และร่างข้อตกลง ระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ, สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า-FIFA) และ องค์กรผู้ออกกติกาฟุตบอล (ไอแฟบ-IFAB) เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน

Advertisement

ขั้นตอนที่ 2 การความพร้อมจัดหาผู้ให้บริการเทคโนโลยี VAR ทั้งระบบวิทยุ การส่งสัญญาณภาพ และระบบของผู้ให้บริการต้องได้รับการรับรองจากฟีฟ่า ซึ่งสมาคมฟุตบอลไทยได้ใช้ระบบวิทยุประเภท Trunked radio ของเวคโคโร และสัญญาณภาพการตัดต่อของ EVS ซึ่งได้รับการรับรองจากทั้งฟีฟ่า และไอแฟบ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมความพร้อมบุคลากร การอบรมผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน และคัดกรองผู้ที่พร้อมจะทำหน้าที่

เข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 การทดสอบระบบ VAR ร่วมกันระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ, ฟีฟ่า และไอแฟบ ซึ่งอยู่ในช่วงดำเนินการอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ โดยที่ผ่านมาการรับสัญญาณภาพยังขาดความสเถียรภาพเล็กน้อย รวมทั้งมุมกล้องในการตัดสิน และความชัดของเส้นสนามที่ยังต้องปรับปรุง จึงอยู่ในช่วงทยอยการทดลองอย่างเต็มรูปแบบให้ครบทุกสนาม เพื่อหาข้อบกพร่อง และดำเนินการแก้ไขให้มีความพร้อมทุกด้าน

ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อการทดสอบทุกขั้นตอนเกิดความสเถียรภาพ และทดลองร่วมกันระหว่างทั้ง 3 ฝ่าย ทางฟีฟ่า และไอแฟบ จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ และลงนามข้อตกลงการทำงานร่วมกันต่อไป ซึ่งเทคโนโลยี VAR ถือว่าเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพราะว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างให้เกิดความถูกต้องยุติธรรม พร้อมตอบข้อสงสัยในจังหวะฟุตบอลต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่บางจังหวะในบางสนามควรจะต้องอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับแฟนบอลในสนามเพื่อคลายความสงสัยของพวกเขาด้วย

ฤดูกาล 2019 สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา และยกระดับเกมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพให้มีคุณภาพ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และยังเป็นการปราบปรามขบวนการล็อกผลการแข่งขันที่ยังคงเป็นภัยร้ายของวงการลูกหนังไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่กว่าจะที่สามารถนำเทคโนโลยี VAR นี้เข้ามาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบก็จะต้องผ่าน 5 ขั้นตอน รวมทั้งมีการทดสอบ เพื่อให้ระบบนี้สามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง

หลังจากนี้จะมีการนำผลการทดสอบมาปรับปรุง และพัฒนาต่อไป ก่อนสรุปเสนอต่อฟีฟ่า และไอแฟบ ที่เตรียมจะเดินทางมาประเทศไทย วันที่ 13-15 มีนาคม เพื่อประชุมร่วมับสาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในการสรุปการดำเนินตามขั้นตอนเดียวกันตามมาตรฐานทั่วโลก ก่อนที่จะมีการพิจรณารับรองการใช้เทคโนโลยี VAR ในศึกฟุตบอลไทยลีกต่อไป

แต่คงจะต้องมาช่วยกันจับตาดูกันต่อไปว่า เทคโนโลยี VAR จะช่วยขจัดปัญหาล้มบอลให้หมดสิ้นไปจากวงการฟุตบอลไทยได้อย่างแท้จริงหรือไม่?!

ติดตามข่าวเด็ดกีฬาดัง ทาง Line@ มติชนกีฬา (@matisport) คลิกเลย
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image