‘ยุสร่า มาร์ดินี่’ เงือกสาวผู้แหวกว่ายหนีสงครามสู่ ‘โอลิมปิกเกมส์’

 

มนุษย์บางคนมีศักยภาพมากพอในเรื่องหนึ่ง แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะขาดโอกาส หลายคนกลับทิ้งโอกาส และอีกจำนวนมากไม่ขวนขวายมันมา
แต่ ยุสร่า มาร์ดินี่ กลับไม่ได้รวมอยู่ในคำนิยามเหล่านี้เลย

ไม่กี่เดือนที่แล้ว สองพี่น้องมาร์ดินี่หาทางอพยพจากกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ที่มีสงครามติดต่อมาเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อไปหาชีวิตที่ดีกว่า ยุสร่ากับพี่สาว ซาร่าห์ วางแผนที่จะไปยังกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ต่อไปยังนครอิสตันบูล ก่อนจะเข้าเมืองอิสเมียร์ที่ตุรกี ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปที่เกาะเลสโบของประเทศกรีซ

แต่ทว่าการเดินทางไปสู่ชีวิตใหม่ครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่ใจหวัง เพราะเรือที่กำลังพาสองพี่น้องและผู้อพยพอีก 20 คน เกิดดับกลางทาง และเรือลำนั้นจริงๆ แล้วสามารถรับน้ำหนักผู้โดยสารได้เพียง 6-7 คนเท่านั้น

Advertisement

หลายชีวิตพยายามว่ายน้ำพาตัวเองเข้าสู่ฝั่ง เวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงครึ่ง มาร์ดินี่ทั้งพี่และน้องขึ้นฝั่งที่จุดหมายปลายทางที่วางไว้

“ฉันคิดว่าถ้าฉันจมน้ำคงเป็นเรื่องที่น่าอายมาก ทำไมน่ะเหรอ เพราะฉันเป็นนักว่ายน้ำไง”

จากเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้เธอกำลังจะไปว่ายน้ำที่รีโอเดจาเนโร สังเวียนการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016 ในฐานะนักว่ายน้ำของ ทีมผู้อพยพ

Advertisement

 

Refugees-Olympic-Team_2

 

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล(ไอโอซี) ได้มีนโยบายให้มีทีมผู้อพยพเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักกีฬาที่ดีพอ แต่บ้านเกิดมีปัญหาจนต้องอพยพไปใช้ชีวิตที่อื่น ได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

สิงหาคมปีที่แล้ว มาร์ดินี่ยังคงพยายามหาทางออกจากบ้านเกิดที่ลุกเป็นไฟ แต่สิงหาคมปีนี้ เธอกำลังจะไปแข่งขันโอลิมปิก

“ฉันอยากให้ผู้อพยพทุกคนภูมิใจในตัวฉัน เพราะฉันก็ต้องให้กำลังใจพวกเขาเช่นกัน” นักว่ายน้ำวัย 18 ปีกล่าว

สองพี่น้องมาร์ดินี่มาถึงกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว และด้วยความช่วยเหลือของล่ามชาวอียิปต์ในอพาร์ทเม้นท์ของพวกเธอ ทำให้สองพี่น้องได้มีโอกาสได้ซ้อมกับสโมสรว่ายน้ำ วาสเซอร์ฟรอนด์ สแปนเดา 04 หนึ่งในสโมสรเก่าแก่ของกรุงเบอร์ลิน

 

fdafa7b7e694e15db1dd00a4c646945e

(โทมัส บาค)

โทมัส บาค ประธานไอโอซีบอกว่า เดิมทีตนคิดว่าทีมนักกีฬาอพยพในโอลิมปิกจะเป็นทีมเล็กๆ แต่หลังจากเห็นศักยภาพของนักกีฬาที่บ้านเกิดมีสงครามแล้ว หลายคนดีพอจะร่วมแข่งขันโอลิมปิกได้ ไอโอซีจึงได้ช่วยเหลือพวกเขา โดยเฉพาะการหยิบยื่นโอกาสอันล้ำค่าในการร่วมแข่งขันที่รีโอเดจาเนโร

“นักกีฬาทีมอพยพ 43 คน จะแข่งขันภายใต้ธงสัญลักษณ์โอลิมปิกเกมส์ มีสิทธิมีเสียงเหมือนนักกีฬาชาติอื่นๆ มีเพลงของไอโอซีเป็นเพลงประจำทีม และจะร่วมเดินขบวนในพิธีเปิดที่สนามมาราคาน่า ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ด้วย” ประธานไอโอซีกล่าว

หลายคนอาจจะมองว่านักกีฬา 43 คนในทีมผู้อพยพได้รับโอกาสเพราะความน่าสงสาร แต่ตรงกันข้าม หลายคนมีฝีมือเจ๋งพอจะผ่านรอบคัดเลือกได้ถ้าบ้านเกิดไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติ

สเวน สเปนเนเกรบส์ โค้ชของสโมสรวาสเซอร์ฟรอนด์ สแปนเดา 04 ต้นสังกัดของมาร์ดินี่บอกว่า นักว่ายน้ำสาวซีเรียมีพัฒนาการที่เยี่ยมยอดมากในการซ้อมกับสโมสรมา 5 เดือน เดิมทีทีมโค้ชมองว่าเธอน่าจะพัฒนาตัวเองและไปลุ้นทำเวลาผ่านควอลิฟายในโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้ แต่ความสามารถของเธอเดินหน้าเร็วกว่าที่พวกเขาคาดเอาไว้

 

Ysra Mardini (age 17), during a training session at the swimming club Wasserfreunde Spandau 04. Sarah (age 20) and Ysra Mardini (age 17), Syrian sisters from Damascus, swam from Turkey to the Greek island of Lesbos for seeking asylum. ; The Mardini sisters left Syria in August, 2015, because they had given up the hope that the war will end soon. They travelled to Lebanon, then to Turkey and paid smugglers to take them to Greece. But the Turkish coastguard drove their boat back. At second time the small boat was totally overloaded with people. After half an hour the engine failed. So, the sisters and three other refugees jumped into the water to push the boat forward. Three hours later they all reached Lesbos. Finally Sarah and Ysra made it to reach Austria and then Germany.  Both are excellent swimmers. Ysra, the younger one, has represented Syria at the world championships in Turkey in 2012. Before their flight Sarah worked as a lifeguard in a swimming pool in Syria. After arriving the sisters came in touch with Wasserfreunde Spandau 04, a swimming club near to their refugee shelter. Now, both girls training on a daily basis.

ทุกวันนี้มาร์ดินี่ได้ลงซ้อมในสระมาตรฐานโอลิมปิกใกล้โรงเรียนของเธอเอง วันละสองรอบ รอบละ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงที่ยังอยู่ในซีเรีย มาร์ดินี่ก็ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการโอลิมปิกซีเรียเช่นกัน จนมีประเด็นว่า จะเป็นอย่างไรถ้าโอลิมปิกซีเรียมาโน้มน้าวเธอให้แข่งขันในนามบ้านเกิดแทนที่จะเป็นทีมผู้อพยพ เพราะนั่นคือแผนโฆษณาชวนเชื่อหนึ่งของ บาชาร์ อัล-อัซซาด ประธานาธิบดีซีเรียคนปัจจุบัน

เปเร่ มิโร่ รองผู้อำนวยการฝ่ายความสัมพันธ์ของกระบวนการโอลิมปิก ในไอโอซี เปิดเผยว่า ไอโอซีได้สอบถามไปยังโอลิมปิกซีเรียว่าจะมีข้อขัดข้องหรือไม่ ถ้ามาร์ดินี่จะแข่งขันในนามทีมนักกีฬาอพยพ และได้คำตอบว่าไม่มีปัญหา แต่ซีเรียก็ยังติดตามผลงานของมาร์ดินี่อยู่ตลอด

สำหรับนักว่ายน้ำสาววัย 18 เอง ตอบในประเด็นนี้ว่า
“แน่นอนว่าฉันคิดถึงบ้านเกิด คิดถึงเตียงอุ่นๆ ที่บ้าน แต่ฉันจะสร้างชีวิตของฉันที่เยอรมนี แล้ววันหนึ่งที่ฉันแก่ตัวลง ฉันจะกลับไปสอนคนที่ซีเรียด้วยประสบการณ์ที่พบเจอมา และอยากให้ผู้อพยพทุกคนภูมิใจกับฉัน เพราะฉันจะแสดงให้พวกเขาเห็นว่าถึงแม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับการเดินทางที่ลำบากแสนสาหัส แต่เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้”

ถึงวันนี้มาร์ดินี่และนักกีฬาทีมอพยพรวม 43 ชีวิตจะไม่ได้ต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเอง แต่สิ่งที่พวกเขาและเธอกำลังจะแสดงให้ชาวโลกได้เห็น คือ แม้จะไม่มีบ้าน แต่ทุกคนยังมีความฝัน และสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ คงหนีไม่พ้นการทำฝันให้เป็นจริง เพื่อวันหนึ่งจะได้ถือเกียรติยศกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image