สกู๊ปพิเศษ : ขุดต้นกำเนิด ‘ฟอลส์ ไนน์’ อาวุธชิ้นล่าสุดของทัพ ‘ช้างศึก’

เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยที่ อากิระ นิชิโนะ กุนซือ “ช้างศึก” ฟุตบอลทีมชาติไทย เลือกใช้แผนกองหน้าตัวหลอกหรือ “False 9” (ฟอลส์ ไนน์) ในเกมฟุตบอล 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่ไทยเสมอกับเวียดนามไป 0-0

นิชิโนะส่ง “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ ไปเป็นตัวเดินเครื่อง โดยไม่มีกองหน้าอาชีพลงเล่น 11 ตัวจริงแม้แต่คนเดียว และมี “นิว” ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ กับ “เช็ค” สุภโชค สารชาติ ดันขึ้นไปยืนในแดนหน้า
ฟอลส์ ไนน์อาจจะเป็นแผนที่ไม่ค่อยได้เห็นในฟุตบอลทีมชาติไทย แต่ในวงการลูกหนังโลกประวัติศาสตร์ของมันเรียกได้ว่ายาวนานเกือบจะ 100 ปีแล้ว

 

Advertisement

ในอดีตเบอร์ 1-11 สามารถบอกตำแหน่งของนักเตะคนนั้นๆ ได้เลย และเบอร์ 9 ในสนาม ถือเป็นเบอร์เสื้อที่นักเตะกองหน้าตัวเป้าจะใส่ลงเล่นเท่านั้น ซึ่งหน้าเป้าของฟุตบอลอังกฤษในยุคเกือบ 100 ปีที่แล้ว จะต้องสูงใหญ่ มีความเร็ว เล่นเกมรุกเพื่อยิงประตูเท่านั้น ไม่ต้องลงไปช่วยล้วงบอล หรือกระชากลากเลื้อยอะไร ปัจจุบันกองหน้าแบบนี้ถูกขนานนามว่า “กองหน้าสไตล์โบราณ” นั่นเอง

แต่ไม่ใช่ว่าทุกทีมจะมีกองหน้าแบบนั้นเสมอไป หรือกุนซือบางคนอาจจะไม่ได้หลงใหลในการใช้แผนเดิมๆ จึงเกิดกองหน้าตัวหลอกขึ้นมา หน้าที่ คือ ดึงกองหลังให้หลุดจากตำแหน่ง และคอยจ่ายบอลให้เพื่อนร่วมทีมเข้าไปยิงประตู หรือตัวเองยิงประตูเองก็ได้ เหมือนเป็นวาทยากรควบคุมวงออเครสต้าในรูปของสนามฟุตบอลนั่นเอง

 

Advertisement

โดยครั้งแรกที่มีการใช้ฟอลส์ ไนน์ ต้องย้อนไปในทศวรรษ 1930 มัทเธียส ซินเดลาร์ กองหน้าทีมชาติออสเตรีย เป็นผู้เปิดประวัติศาสตร์เอาไว้ และถูกตั้งฉายา “โมซาร์ทแห่งโลกลูกหนัง”

ซินเดลาร์เป็นนักเตะที่ไม่ได้ตัวใหญ่โตตามสไตล์กองหน้าตัวเป้ายุคนั้น แต่มีจุดเด่นตรงที่เลี้ยงบอลได้ดี และมีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์เกม จึงถูกดันลงไปเชื่อมเกมในแดนกลางมากกว่าจะยืนค้ำในแดนหน้า เขาลงเล่นในตำแหน่งนี้ในฟุตบอลโลก 2 สมัย ปี 1934 และ 1938 โดยในปี 1934 แผลงฤทธิ์ยิงคนเดียว 3 ประตู ช่วยให้ออสเตรียคว้าอันดับ 4 มาครองได้

คนต่อมาคือ นันดอร์ ไฮเดกกูติ ตำนานกองหน้าฮังการี ในยุคเดียวกับ เฟเรนซ์ ปุสกัส, ซานดอร์ คอสซิส สองตำนานดาวยิงของทีมฮังการี ในยุคนั้นไฮเดกกูติสวมเบอร์ 9 ลงสนาม ในทีมชาติฮังการีที่ถูกเรียกว่า “โกลเด้นทีม” เพราะมีนักเตะชั้นยอดเต็มไปหมด ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะต้องถูกประกบด้วยเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ แต่ไฮเดกกูติกลับมีหน้าที่วิ่งพล่านในแดนของคู่แข่ง และเปิดช่องให้คอสซิสและปุสกัสเข้าไปกดประตูเป็นว่าเล่น
โกลเด้นทีมของฮังการีในทศวรรษ 50 คว้าเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ 1950 และเป็นรองแชมป์ฟุตบอลโลก 1952 ได้อย่างยิ่งใหญ่

 

หลังจากนั้นฟอลส์ ไนน์ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายๆ ทีมของยุโรป ในยุค 1960-1980 มีนักเตะที่เป็นกองหน้าตัวหลอกชั้นยอดมากมาย ทั้ง อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ กองหน้ารีล มาดริด, โยฮันน์ ครัฟฟ์ นักเตะเทวดาที่เรียกได้ว่าเป็นฟอลส์ ไนน์ ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกลูกหนัง เป็นฟอลส์ ไนน์ ที่อันตรายทั้งการสร้างสรรค์เกมและการยิงประตูให้ทั้งกับอายแอ็กซ์, บาร์เซโลน่า รวมทั้งเนเธอร์แลนด์

ฟรานเชสโก้ ต๊อตติ อดีตกัปตันทีมโรม่า สานต่อตำแหน่งนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม ลิโอเนล เมสซี่ ก็ยังคงเป็นฟอลส์ ไนน์ ที่บาร์ซ่าขาดไม่ได้ หรือแม้แต่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในวันที่อยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เป็นฟอลส์ ไนน์ มาระยะหนึ่ง ก่อนพัฒนาตัวเองมาเป็นยอดกองหน้าจอมถล่มประตูแบบทุกวันนี้ รวมทั้ง โรแบร์โต้ ฟิร์มิโน่ ก็เป็นวาทยากรในสนามให้กับลิเวอร์พูลและประสบความสำเร็จอย่างมากในหลายฤดูกาลหลัง

 

“อากิระ นิชิโนะ” ใช้ฟอลส์ ไนน์ กับทีมชาติญี่ปุ่น ในฟุตบอลโลก 2018 มาแล้ว และสร้างผลงานได้ดี ผ่านเข้ารอบสอง แบบเกือบชนะเบลเยียมได้ด้วยซ้ำ เพราะมีทั้ง ชินจิ คากาวะ, เคสึเกะ ฮอนดะ, เกงคิ ฮารากูชิ ที่เป็นนักเตะฝีเท้าจัดจ้านกันทั้งนั้น

มองย้อนกลับมาที่ทีมช้างศึก ฟอลส์ ไนน์ เป็นเรื่องใหม่ของนักเตะไทยในยามเล่นทีมชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การให้เวลาในการทำความเข้าใจระบบทั้งหมด เพราะไม่ใช่แค่ชนาธิปหรือใครในทีมที่รับบทบาทนี้จะเข้าใจแทคติคในการเป็นฟอลส์ ไนน์เท่านั้น แต่เพื่อนร่วมทีมทุกคนต้องเข้าถึงและคลาสถึงด้วย ความไหลลื่นมันจึงจะเกิด

เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้ว และเดินหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ความบันเทิงของกองเชียร์ก็น่าจะเกิดขึ้นแบบนันสต็อปกันเลยทีเดียว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image