‘วิทยาศาสตร์การกีฬา’ อาวุธแห่งความสำเร็จของ ‘เจมส์บอนด์’

เชื่อว่าคนในวงการกีฬาไทย ตั้งแต่ระดับผู้บริหารลงมาจนถึงนักกีฬา ไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า “วิทยาศาสตร์การกีฬา”

วิทยาศาสตร์การกีฬาถูกพูดถึงกันในวงการกีฬาไทยมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ที่น่าตกใจคือ มีการนำมาใช้และปฏิบัติจริงได้อย่างถูกต้องแทบจะนับคนได้

วิทยาศาสตร์การกีฬาไม่เคยโกหกใคร เพราะเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ วัดประเมินผลได้ด้วยการติดตามพัฒนาการความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับตัวนักกีฬาและถ้าพูดถึงวิทยาศาสตร์การกีฬ ในบ้านเรา เกือบทุกคนจะต้องนึกถึง ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของเมืองไทยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาไทยหลายประเภทกีฬา จากการนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ในการพัฒนาสร้างสรรค์การฝึกซ้อมและพัฒนาความสามารถให้นักกีฬาได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล แบดมินตัน มวยสากล เทเบิลเทนนิส ร่มร่อน ฯลฯ

ล่าสุดผลงานของ อ.เจริญ คือ การใช้เวลาเพียงแค่ 10 สัปดาห์ ในการฝึกซ้อมให้ “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ นักว่ายน้ำทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองพร้อมกับทำลายสถิติว่ายน้ำประเภทกบ 200 เมตรชาย ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสถิติที่ทำได้เป็นการทำลายสถิติของตัวเองที่ทำไว้ในซีเกมส์ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่อินโดนีเซียด้วย

Advertisement

“โค้ชว่ายน้ำคือ สาธิต หงษ์ทอง ที่เป็นผู้พาเจมส์บอนด์มาขอให้ผมช่วยพัฒนา เมื่อได้คุยกันถึงเบื้องหลังการฝึกซ้อมที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าเจมส์บอนด์ไม่เคยสร้างเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อเลย ผมจึงเริ่มต้นด้วยการสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อและปรับโปรแกรมการว่ายน้ำร่วมกับโค้ช ซึ่งเหลือเวลาในการฝึกซ้อมจริงๆประมาณ 10 สัปดาห์ก่อนไปซีเกมส์ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกนักกีฬาจะมีอาการระบมกล้ามเนื้อมากเนื่องจากกล้ามเนื้อขาดความแข็งแรง แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ด้วยเจมส์บอนด์มีสมาธิ ความมุ่งมั่น และความพยายามในการฝึกซ้อมทุกครั้งดีมาก จึงเชื่อว่าน่าจะมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้น บวกกับการฝึกในน้ำที่ได้แนะนำให้ปรับปรุงความเร็วในการออกสตาร์ต ความเร็วในการกลับตัว รวมทั้งการปรับอัตราเร่งความเร็วในช่วง 30-40 เมตรแรก ซึ่งมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นโดยตลอด จึงทำให้เชื่อมั่นว่า สามารถทำลายสถิติได้ถ้าสามารถควบคุมจังหวะและความเร็วในการว่ายน้ำได้เหมือนที่ฝึกซ้อม ซึ่งตัวนักกีฬาเองยังไม่เชื่อที่ผมพูด”

ผู้คร่ำหวอดในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาบอกอีกว่า ขณะนี้มีหลายสมาคมกีฬา ขอให้เข้าไปช่วยวางโปรแกรมการฝึกซ้อมให้ ล่าสุดคือ ทีมมวยสากล ที่นักมวยชุดนี้ไม่เคยนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้เลย และเมื่อการฝึกซ้อมผ่านไป 3 สัปดาห์ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น วิทยาศาสตร์การกีฬามีการพัฒนาตลอดเวลา ขณะนี้ไปไกลถึงการสร้างความทรงจำในสมองกันแล้ว เราต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ อยากให้คนวงการกีฬาไทยเรียนรู้ และรู้จริง ไม่ใช้ความเคยชินในการฝึกซ้อมแบบเดิมๆ นักกีฬาไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก ถ้ามีการฝึกซ้อมที่ถูกต้อง กีฬาของเราหลายชนิดจะไปไกลถึงระดับโลก

Advertisement

นอกจากนี้วิทยาศาสตร์การกีฬาจำเป็นต้องเริ่มสร้างกันตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเล่นกีฬาหรือยังไม่เคยเล่นกีฬามาก่อน เพราะนอกเหนือจะสร้างเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว เด็กยังได้ฝึกทักษะในการตัดสินใจ การประสานการทำงานของสมองและร่างกาย ระเบียบวินัย และการอยู่ร่วมกับคนอื่น อันเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

สุดท้ายแล้วความสำเร็จของนักกีฬาไม่ใช่แค่พรสวรรค์และการซ้อมที่ดีพอเท่านั้น เพราะวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นเหมือนอาวุธสำคัญที่ทำให้คนที่ใช้อย่างเข้าใจและจริงจัง ไปได้ไกลกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image