บิ๊กอ๊อด ตั้งคณะทำงานศึกษาโยกคิวไทยลีกเตะข้ามปี วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

บิ๊กอ๊อด ตั้งคณะทำงานศึกษาโยกคิวไทยลีกเตะข้ามปี วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แพร่ระบาดในประเทศไทย กระทบถึงการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ซึ่งหลังจากจบเกมเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด ได้หยุดการแข่งขัน แม้จะมีแผนกลับมาเตะอีกทีวันที่ 2-3 พฤษภาคม แต่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยอมรับว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันคงเตะตามกำหนดเดิมไม่ได้แล้ว พร้อมวาง 4 แผน 4 ช่วงเวลา ที่จะมาแข่งใหม่ แผนทช้าที่สุดคือ เริ่มอีกครั้ง วันที่ 1 สิงหาคม และจบวันที่ 20 ธันวาคม แต่ต้องตัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทุกรายการ

อย่างไรก็ตาม ต่อมา พล.ต.อ.สมยศ ระบุว่า หนึ่งในแผนการที่เตรียมไว้คือ ขยับฤดูกาลแข่งขัน จากเดิมที่แข่งกุมภาพันธ์-ตุลาคม ของแต่ละปี มาเป็นการเตะแบบข้ามปี คือ เริ่มกันยายน และจบพฤษภาคมของอีกปี เหมือนลีกยุโรป เพื่อหนีช่วงฤดูฝน นับเป็นการพลิก วิกฤติโควิด เป็นโอกาส เพราะการจัดช่วงฤดูฝน มีปัญหาหลายอย่าง เช่นการเดินทาง สภาพสนาม โอกาสที่นักเตะจะได้รับบาดเจ็บมีสูง ตนคิดจะเปลี่ยนมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ฤดูกาลแข่งขันลงล็อกหมดแล้ว ขยับลำบาก

ล่าสุด พล.ต.อ.สมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยับฤดูกาลนั้น ได้ให้คณะทำงานศึกษาไว้อย่างละเอียด หากขยับจริงก็ต้องเปลี่ยนช่วงตลาดซื้อขายนักเตะด้วย รอบแรก 12 สัปดาห์ ช่วงเดือน มิถุนายน ถึงสิงหาคม และรอบ 2 ระหว่างฤดูกาล 4 สัปดาห์ ประมาณเดือนมกราคม ขณะเดียวกัน คณะทำงานศึกษาข้อดี ข้อเสีย ซึ่งหากเปลี่ยนฤดูกาลแข่งขัน โอกาสที่จะได้คือ

1.ปฏิทินแข่งจะสอดคล้องกับสภาพอากาศประเทศไทย ไม่ต้องเล่นฝ่าฝน ในช่วงที่การแข่งเข้มข้น
2.ตลาดซื้อขายนักเตะสอดคล้องกับยุโรป เพิ่มโอกาสให้สโมสรเจรจาดึงนักกีฬา-โค้ช ที่มีคุณภาพในรอบสัญญาสากล อาจได้เห็นนักเตะชั้นนำมาไทยลีกมากขึ้น โดยจากเดิม นักเตะที่มาไทย จะมาจาก 3 ลีกชั้นนำในเอเชียตะวันออก หรือผู้ที่ไม่มีสัญญากับทีมใด
3.คุณภาพการแข่งขันโดยรวมดีขึ้นหลายด้าน อาทิ สภาพสนาม คุณภาพการถ่ายทอดสด ยอดผู้ชม

Advertisement

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็คือ
1.ชนกับการแข่งรายการระดับอาเซียน เช่น ซีเกมส์, เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ อาจทำให้ความนิยมบอลไทย ในภูมิภาคอาเซียนน้อยลง
2.ต้องเจรจาสัญญากับหลายฝ่าย ทั้งผู้จัดแข่งขัน อาทิ สปอนเซอร์, ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, นักกีฬา-สตาฟฟ์ เนื่องจากสัญญาเดิม อาจยึดตามฤดูแข่งเป็นหลัก
3.การเปลี่ยนปฏิทินตามยุโรป อาจทำให้ความนิยมลีกไทย ลดลง เนื่องจากช่วงเข้มข้นของการแข่งขันเพื่อแย่งแชมป์ เดิมทีไม่ตรงกัน ก็จะมาตรงกับรายการที่คนไทยชื่นชอบ เช่น พรีเมียร์ลีก หรือยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก
4.ตลาดซื้อขายที่เปลี่ยนไป ทำให้สโมสรไทย ซื้อ-ขาย ผู้เล่นในลีกชั้นนำเอเชียตะวันออก อย่าง ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้ ยากขึ้น อาจลดโอกาสส่งนักเตะไทยไปญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าว สามารถแก้ไขตามความเหมาะสมของสถานการณ์

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวอีกว่า ข้อมูลคณะทำงานศึกษามานั้น ต้องพิจารณาอย่างละเอียด ถี่ถ้วน ก่อนจะมีการตัดสินใจถึงการขยับช่วงแข่งขันของฤดูกาล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับวงการฟุตบอลไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ บจก.ไทยลีก นัดสโมสรสมาชิกหารือกำหนดการแข่งขันใหม่ ในวันที่ 14 เมษายน ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งคาดว่าจะได้แนวทางที่แน่ชัดตามมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image