สกู๊ปพิเศษ : หงส์ระวังซ้ำรอย! ทีมลูกหนังฝันสลายเพราะเหตุไม่คาดฝัน

หงส์ระวังซ้ำรอย! ทีมลูกหนังฝันสลายเพราะเหตุไม่คาดฝัน

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า เส้นทางสู่แชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรกที่แสนจะสวยหรูของ ลิเวอร์พูล จู่ๆ จะต้องมาสะดุดหยุดลงกลางคันเพราะสถานการณ์โรคระบาด
ทั้งที่พวกเขาอยู่ห่างจากถ้วยแชมป์แค่เพียงชัยชนะ 2 นัด (หรือนัดเดียวถ้าแข่งกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้) แต่เวลานี้ไม่เพียงต้องเฝ้ารอกลับมาเตะใหม่อย่างไม่รู้อนาคตเท่านั้น ถ้าโชคร้ายสุดสุด สถานการณ์ไม่ดีขึ้น แล้วทีมอื่นๆ ในลีกลงมติเสียงข้างมากให้ฤดูกาลนี้เป็นโมฆะ ก็จะกลายเป็นว่า แชมป์ลีกสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ใครๆ ก็คิดว่า “นอนมา” ต้องยืดเวลาออกไปอีก!
อย่างไรก็ตาม หงส์แดงไม่ใช่ทีมแรกที่เกียรติประวัติตรงหน้าเสี่ยงจะหลุดมือเพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีบางทีมที่ต้องชอกช้ำเพราะสาเหตุนอกเหนือการควบคุมมาก่อนแล้วเช่นกัน…

แชมป์ยุโรปของเอฟเวอร์ตัน?
ปี 1985 เอฟเวอร์ตัน คือทีมที่กำลังมาแรง ลูกทีมคนหนุ่มของ ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ คว้าแชมป์ลีกด้วยผลงาน 90 คะแนน ทิ้งห่างคู่ปรับร่วมเมืองอย่างลิเวอร์พูลถึง 13 แต้ม
ท็อฟฟี่สีน้ำเงินยังก้าวไปคว้าแชมป์ยุโรปถ้วยรองอย่าง คัพ วินเนอร์ส คัพ ด้วยชัยชนะเหนือ บาเยิร์น มิวนิก ในปีเดียวกัน
จบฤดูกาลนั้น เคนดัลล์เสริมทัพด้วยการคว้า แกรี่ ลินีเกอร์ โดยมีเป้าหมายที่ถ้วยใหญ่ ยูโรเปี้ยนคัพ
แต่แล้วสิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ในนัดชิงยูโรเปี้ยนคัพระหว่างลิเวอร์พูลกับ ยูเวนตุส ปีเดียวกัน เกิดโศกนาฏกรรมอัฒจันทร์ถล่มที่สนามเฮย์เซล สเตเดียม เพราะแฟนหงส์พยายามเบียดกำแพงที่ทรุดไปยังฝั่งแฟนยูเว่ จนเป็นเหตุให้แฟนบอลซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลียน เสียชีวิต 39 ราย

แกรี่ ลินีเกอร์ ถูกดึงเสริมทัพเอฟเวอร์ตัน (Reuters)

ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สโมสรอังกฤษโดนแบนจากการเล่นถ้วยยุโรป 5 ปี ซึ่งในช่วง 2-3 ปีแรกนั้น เอฟเวอร์ตันยังทำผลงานดีต่อเนื่องในลีกผู้ดี อีกทั้งผลงานของสโมสรอังกฤษในการเล่นยูโรเปี้ยนคัพช่วงก่อนโดนแบนก็ถือว่าดีเยี่ยม (คว้าแชมป์ 7 จาก 9 ปี) แต่พอพ้นโทษแบนแล้ว พวกเขาก็ไม่แกร่งเท่าเดิม
ไม่มีใครบอกได้ว่า ถ้าอังกฤษไม่โดนแบนจากถ้วยยุโรปเสียก่อน บางทีตำแหน่งแชมป์ยุโรปที่ท็อฟฟี่หมายปอง อาจจะไม่ไกลเกินเอื้อมก็ได้

ยูโกสลาเวียโดนแบนปี 1987-1992
ช่วงต้นยุค 90 ทีมฟุตบอลทีมชาติสโลวาเกียมีนักเตะระดับซุป’ตาร์ของยุโรปอยู่แน่นทีม ไม่ว่าจะเป็น เดยัน ซาวิเซวิช, ดรากัน สตอยโควิช, โรเบิร์ต โปรซิเนกกี้, ดาวอร์ ซูเคอร์, เปดราก มิลาโตวิช หรือ ซโวนิเมียร์ โบบัน
นักเตะเหล่านี้กระจายกันเล่นอยู่ในลีกชั้นนำของยุโรปหลายสโมสร และทำผลงานได้ดีต่อเนื่องในระดับทีมชาติ
ทั้งคว้าแชมป์ฟุตบอลเยาวชนโลกปี 1987, เข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1990 จนเป็นทีมจับตามองของคนในแวดวงลูกหนัง
แต่แล้ว 2 ปีต่อมา ยูโกสลาเวียเกิดสงครามกลางเมือง และมีปัญหาขัดแย้งระหว่าง 6 แคว้นภายในทวีความรุนแรง จนโดน สหประชาชาติ (ยูเอ็น) แบนจากการร่วมกิจกรรมของกลุ่มประเทศยุโรป
ยูโกไม่ได้เข้าร่วมศึก ยูโร 92 และ ฟุตบอลโลก 1994 โดยทัวร์นาเมนต์แรกนั้น เดนมาร์ก ได้สิทธิแข่งแบบกะทันหัน ก่อนสร้าง “เทพนิยายเดนส์” ก้าวไปคว้าแชมป์อย่างเหลือเชื่อ
ช่วงที่โดนแบน นักเตะยูโกสลาเวียหลายคนต่างทำได้ดีในระดับสโมสร โดยเฉพาะซาวิเซวิชและโบบันที่พา เอซี มิลาน เชือด บาร์เซโลน่า คว้าถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีกปี 1994
กว่าที่ 5 ประเทศเกิดใหม่จากการล่มสลายของยูโกสลาเวียจะได้กลับมาแข่งขันอีกครั้งก็ในศึก ยูโร 96 ซึ่งตอนนั้นนักเตะก็กระจัดกระจายไปตามชาติเกิดใหม่หมดแล้ว

Advertisement
ทีมชาติยูโกสลาเวียในฟุตบอลโลก 1990 (Reuters)

ลีกอียิปต์เป็นโมฆะหลังเหตุจลาจล
ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2012 ลีกลูกหนังอียิปต์สั่นสะเทือนเมื่อเกิดเหตุจลาจลหลังเกมระหว่าง อัล มาสรี กับ อัล อาห์ลี จนรัฐบาลตัดสินใจสั่งระงับการแข่งขันฟุตบอลลีกเพราะหวั่นปัญหาความปลอดภัย แม้ว่าหลายทีมจะทักท้วงว่าการชัตดาวน์นี้อาจทำให้ทีมมีปัญหาการเงินจนล้มละลายได้
จังหวะที่หยุดเตะนั้น ฮาราส เอล โฮดุด ทีมที่ปกติรั้งตำแหน่งกลางตาราง ทำเซอร์ไพรส์นำจ่าฝูงของลีก มีแต้มนำอัล อาห์ลี ทีมดังดีกรีแชมป์ทวีปแอฟริกา และแชมป์เก่า 7 สมัยซ้อน 1 คะแนน และมีเกมในมืออีก 1 นัด
เนื่องจากตอนนั้นแต่ละทีมเพิ่งแข่งกันไป 14-17 นัด จากทั้งหมด 30 แมตช์ สุดท้ายในเดือนมีนาคม สมาคมฟุตบอลอียิปต์จึงตัดสินใจให้ฤดูกาลนั้นเป็นโมฆะเพราะคำนวณแล้วว่าเหลือเวลาไม่พอเตะ ส่งผลให้ฮาราส เอล โฮดุด หมดโอกาสคว้าแชมป์ (ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่)
ต่อมาก็เกิดเหตุประท้วงใหญ่ทางการเมืองข้ามปี กว่าที่ลีกอียิปต์จะกลับมาเตะฟุตบอลอาชีพได้ก็ในฤดูกาล 2013-14 ซึ่งฮาราส เอล โฮดุด ก็กลับไปสู่สถานะทีมกลางตารางเหมือนเดิมแล้ว

เหตุจลาจลที่ทำให้ลีกลูกหนังอียิปต์เป็นโมฆะในปี 2012 (AP)

บาร์ซ่ากับทริปเปิลแชมเปี้ยนส์ลีกที่ไปไม่ถึง
ตอนที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้าไปกุมบังเหียน บาร์เซโลน่า ในปี 2008 สโมสรแห่งคาตาลันได้สืบทอดปรัชญา “โททัล ฟุตบอล” ของ โยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานลูกหนังผู้ล่วงลับมาใช้อย่างลงตัว โดยมีแข้งแกนหลักสุดแกร่ง 3 คน คือ ลิโอเนล เมสซี่, อันเดรส อิเนียสต้า และ ชาบี้
เป๊ปพาบาร์ซ่าประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ คว้าแชมป์ลาลีก้า 3 ปีซ้อน และได้ถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2 ปีติด โดยในปี 2010 พวกเขามีหวังจะทาบรัศมี อายแอ็กซ์ ในยุคของครัฟฟ์ ที่ครองแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 3 ปีซ้อนระหว่างปี 1971-1973
อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2010 เกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่ไอซ์แลนด์ จนเถ้าภูเขาไฟคละคลุ้งไปทั่วยุโรป การคมนาคมหลายอย่างต้องหยุดชะงักเนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี
แต่เกมฟุตบอลยังต้องเดินหน้าต่อไป ดังนั้น แมตช์แชมเปี้ยนส์ลีกรอบรองชนะเลิศที่บาร์ซ่าต้องไปเยือน อินเตอร์ มิลาน พวกเขาจึงต้องใช้เวลาบนรถบัส 2 วันจึงจะเดินทางถึง

สุดท้ายบาร์ซ่าบุกพ่าย 1-3 และอินเตอร์ก้าวไปคว้าแชมป์ยุโรปปีนั้น แต่หลายคนก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้าทีมต่างดาวมีโอกาสเตรียมตัวอย่างปกติ ไม่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งบนรถบัสแบบข้ามวันอย่างนี้ ผลที่ออกมาจะดีกว่านี้หรือไม่? (เพราะปีต่อมาพวกเขาก็ทวงแชมป์ได้อีกครั้ง)

Advertisement
บาร์ซ่าบุกพ่ายอินเตอร์ มิลาน ในรอบตัดเชือกแชมเปี้ยนส์ลีก ปี 2010 (Reuters)

เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ และเป๊ปกับลูกทีมก็คงได้แต่โทษฟ้า โทษภูเขาไฟที่บังเอิญมาระเบิดเอาเวลานั้นอย่างเดียวเท่านั้น!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image