สู้ชีวิต! ค่ายมวย-นักมวยดัง ดิ้นรนทำอาชีพเสริมหารายได้สู้วิกฤตโควิด-19

สู้ชีวิต! ค่ายมวย-นักมวยดัง ดิ้นรนทำอาชีพเสริมหารายได้สู้วิกฤตโควิด-19

ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกแนวทางมาตรการผ่อนปรนสำหรับกิจการและกิจกรรมออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกให้กิจการ และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยกลับมาดำเนินการก่อนในวันที่ 3 พฤษภาคมเป็นวันแรก ส่วนกิจกรรมการแข่งขันกีฬา เช่นสนามมวย สนามฟุตบอล จัดว่ามีความเสี่ยงสูง จึงต้องจัดไว้เป็นกลุ่มท้ายสุดที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4 หลังจากที่สนามมวยถูกสังคมมองว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดวงกว้างของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น

คนวงการมวยต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ทำให้ทั้งนักมวย ค่ายมวย และโปรโมเตอร์มวย ต่างปรับตัวดิ้นรนสู้ชีวิตหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ โดยทาง “แป๊ะ มีนบุรี” หัวหน้าค่ายมวยแป๊ะ มีนบุรี กรุงเทพฯ กล่าวว่า ยามวิกฤตเช่นนี้ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และมีนักมวยในค่ายที่ต้องดูแลกว่า 30 ชีวิต ช่วงนี้วิกฤตนี้ ค่ายมวยต้องปิดลง ไม่มีรายได้เข้ามา นักมวยต่างก็แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาตัวเองกันไปก่อน แต่ทางค่ายไม่มีรายได้ก็จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว พอดีครอบครัวภรรยาทำกุ้งอบเกลือได้ ก็เลยตัดสินใจรับซื้อกุ้งสดมาอบย่างเกลือขาย หรือทำกุ้งเผาบ้าง ก็พอพยุงตัวอยู่ได้ในช่วงนี้ เพราะวงการมวยไม่รู้จะกลับมาเมื่อไหร่ ก็ขอให้ทุกคนสู้ และผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้ด้วยดี

แป๊ะ มีนบุรี

ขณะที่ “นกน้อย ที.เอ็น.มวยไทยยิม” หัวหน้าค่ายมวยที.เอ็น.มวยไทยยิม ย่านสุขาภิบาล 2 กรุงเทพฯ กล่าวว่า หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่ายมวยได้ปิดตัว นักมวยเกือบ 10 คนก็กลับไปอยู่บ้านแต่ละคน ส่วนที่เหลือ 5-6 คนก็ยังอยู่กันที่ค่าย ยอมรับว่าเดือดร้อนมาก เพราะไม่มีรายได้เข้ามา แต่รายจ่ายก็ยังคงเดิม และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่วงการมวยจะกลับมาได้ แต่ก็ได้บอกให้นักมวยรักษาความฟิตของร่างกายเอาไว้ เพราะถ้ามวยกลับมาจะได้พร้อม นอกจากนี้ ทางค่ายก็ได้หารายได้มาจุนเจือด้วยการทำทำน้ำพริกกากหมูโคตรแซ่บออกมาขาย

นกน้อย ที.เอ็น.มวยไทยยิม

“บุญเยี่ยม ส.บุญเยี่ยม” หัวหน้าค่ายมวย ส.บุญเยี่ยม ย่านรามอินทรา กรุงเทพฯ กล่าวว่า ได้ออกมาขับแท็กซี่ เพื่อหารายได้จุนเจือเลี้ยงครอบครัว และนักมวยในค่าย ซึ่งถือเป็นการหวนกลับมายึดอาชีพขับแท็กซี่อีกครั้ง เพราะถ้าหากอยู่เฉยๆ ทุกคนต้องอดตายแน่นอน ดังนั้น อะไรทำได้ก็ต้องทำไปก่อน จึงได้หันมายึดอาชีพขับรถแท็กซี่ เพื่อความอยู่ในระหว่างที่รอให้วงการมวยกลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ทั้งนี้ก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้เกี่ยวข้องขอให้เข้ามาช่วยเหลือคนวงการมวย ค่ายมวยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย

Advertisement
บุญเยี่ยม ส.บุญเยี่ยม

“นาวิน วุฒิภัทรโยธิน” หัวหน้าค่ายมวย ป.วราลักษณ์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ค่ายเจอปัญหาหนักมากในช่วงโควิด-19 เพราะไม่มีรายได้ จนต้องปิดตัวลง ทำให้นักมวยหลายคนตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่วนนักมวยที่เหลืออยู่ต่างช่วยกันหารายได้ โดยการรับจ้างตัดแต่งต้นไม้ และขุดหน้าดินด้วย รวมทั้งรับจ้างทำทุกอย่าง เพราะจากสภาวะตอนนี้ใครมาว่าจ้างให้ทำอะไรก็รับทำหมด เพื่อให้พอมีรายได้ใช้จ่ายกินอยู่ให้พ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ เพราะยังไม่รู้ทิศทางวงการมวยว่าจะพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร และจะกลับมาแข่งขันชกมวยอีกครั้งเมื่อไหร่

ด้านนักมวยชื่อดังหลายคนต่างดิ้นรนสู้ชีวิตในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ด้วยการทำอาชีพเสริมหารายได้ เพื่อความอยู่รอด โดยทางด้านของ แสงมณี แสงมณีเสถียรมวยไทยยิม นักชกค่าตัวเงินแสนได้หันไปขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร ฟู้ดแพนด้า ย่านมีนบุรี กรุงเทพฯ รวมทั้งคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จอมเข่าลอย อีที ทีเด็ด 99 ได้หันไปรับจ้างรำมวยหน้างานศพที่ภูมิลำเนาบ้านเกิดของตัวเอง ที่ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด, ถั่วเขียว เกียรติกำพล หารายได้พิเศษด้วยการตัดต้นกระถินที่อยู่ใกล้เคียงค่ายมวย น.นาคสินธุ์ จ.สระบุรี เพื่อนำไปขายให้โรงงานทำไม้อัด

แสงมณี แสงมณีเสถียรมวยไทยยิม

ธนัญชัย ราชานนท์ ช่วยแม่ขายแตงโมที่บริเวณบ้าน, ยอดขุนศึก ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ทำธุรกิจขนาดเล็กด้วยการขายหมูแดดเดียวบริการส่งทุกจังหวัด, สลาตัน โตโยต้าระยอง หารายได้พิเศษด้วยการไปเก็บทุเรียนในสวนไปขาย, เพชรนิรันดร์ ดาบรันสารคาม รับผลไม้หลายชนิดไปขายแถวบ้านตัวเองใน จ.มหาสารคาม, หนึ่งล้านเล็ก จิตรเมืองนนท์ หันมาทำหมูแดดเดียวขาย และนักมวยอีกหลายคนที่หันมาประกอบอาชีพเสริมต่างๆ ในช่วงนี้

Advertisement
ถั่วเขียว เกียรติกำพล
ธนัญชัย ราชานนท์
ยอดขุนศึก ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
สลาตัน โตโยต้าระยอง
เพชรนิรันดร์ ดาบรันสารคาม
หนึ่งล้านเล็ก จิตรเมืองนนท์

ขณะที่ “เสี่ยโบ๊ท” ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์ใหญ่ศึกเพชรยินดี ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสู้เพื่อคนวงการมวย กล่าวว่า ตอนนี้คนวงการมวยทั้งนักมวย หัวหน้าค่ายมวย และโปรโมเตอร์ ต่างลำบากกันหมด ถือว่าตายทั้งระบบ ดังนั้นตอนนี้ทุกภาคส่วนจะต้องมานั่งรวมพูดคุยหารือกัน เพื่อหาแนวทางออกของคนวงการมวย ทั้งภาครัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะต้องเป็นฝ่ายเรียกคนวงการมวยทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น นักมวย ค่ายมวย สนามมวยทั้งราชดำเนิน และลุมพินี เข้ามาพูดคุยหารือกันหาทางออกให้วงการมวยอยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

“สิ่งแรกของวงการมวยจะต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ของมวยไทยไปก่อนให้พ้นคำที่คนชอบพูดว่า มวยไทยเป็นการพนัน แต่แท้ที่จริงแล้วมวยไทยถือเป็นศิลปะประจำชาติ ดังนั้น คนในวงการมวยจะต้องสามัคคีกัน เพื่อหาทางออก และทุกฝ่ายที่เกี่ยวจะต้องมานั่งคุยกัน เพราะที่ผ่านมาระบบของวงการมวยถือว่าแย่จริงๆ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ วงการมวยยังไงก็ไม่มีทางเหมือนเดิม แต่อยู่ที่ว่าจะอยู่กันยังไง จะเอาตัวรอดกันยังไง นี่คือสิ่งที่เราจะต้องคิด” โปรโมเตอร์ใหญ่ศึกเพชรยินดี กล่าว

ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติเงิน 25,642,000 บาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยากับนักมวย และผู้ฝึกสอนที่ขึ้นทะเบียน และได้รับผลกระจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนักมวย 2,000 คน และผู้ฝึกสอน 500 คน ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยจะตรวจสอบเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ลงทะเบียนโครงการ เราไม่ทิ้งกัน นอกจากนี้ กองทุนสวัสดิการเพื่อแฟนมวย ได้มอบเงินช่วยเหลือคนวงการมวยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายละ 10,000 บาทอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image