‘รีโอเกมส์’ เกมสวรรค์บนดินแดนนรก

ภาพจาก www.rioonwatch.org

เหลืออีกประมาณ 20 วัน โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล จะเริ่มการแข่งขันแล้ว โดยพิธีเปิดจะมีขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ที่สนามมาราคาน่า

เจ้าภาพยังคงเจอปัญหาภายในประเทศเล่นงานอย่างหนัก เพราะ “การแปลงโฉมครั้งใหญ่” ที่ทำให้คนระดับล่างในประเทศต่อต้านอย่างรุนแรง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แต่รัฐบาลกลับเอาเงินไปโปรยให้กับการเปลี่ยนแปลงประเทศรองรับโอลิมปิกเกมส์ รวมทั้งฟุตบอลโลก 2014 ที่จบไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

มาเรีย ดา เปนญ่า หญิงวัย 53 ปีที่อาศัยอยู่ในย่านวิล่า ออโตโดรโม่ สลัมใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของรีโอเดจาเนโร โดนทางการเวนคืนพื้นที่เพื่อใช้ในการสนามเพื่อรองรับโอลิมปิก เธอกลายเป็นแกนนำในการต่อโอลิมปิกในบ้านเกิดตัวเอง เพราะมองว่า มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครั้งนี้ทำลายชีวิต ความฝันของเธอและคนจำนวนมากที่ใช้ชีวิตอยู่ในสลัมแห่งนี้มาก่อน

“ฉันเคยมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว”

Advertisement

เอดูอาร์โด้ ปาเอส นายกเทศมนตรีของนครรีโอเดจาเนโรออกมาแก้ข่าวเรื่องนี้ว่า บ้านของเปนญ่าและคนอื่นๆ ในบริเวณนี้สร้างขวางทางถนนที่จะใช้เป็นทางเข้าในการก่อสร้างสนาม และมีนโยบายที่จะพัฒนาย่นออโตโดรโม่เพื่อสร้างโรงเรียน นอกจากนั้นทุกคนที่โดนเวนคืนที่จะได้บ้านหลังใหม่หลังจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้แล้วเสร็จ

ด้าน ราเควล โอลิเวร่า นักประชาสัมพันธ์ที่อาศัยอยู่ในเมืองเจ้าภาพบ่นถึงการเปลี่ยนแปลงเส้นทางวิ่งของรถประจำทาง แต่การปรับการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ก็ทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงซึ่งถือเป็นข้อดี

“เอาเข้าจริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังทำก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมากมาย รถเมล์หลายสายถูกยกเลิกไป ฉันต้องรอรถเมล์เป็นชั่วโมง หวังว่าหลังจากที่มีการพัฒนาระบบรถประจำทางทุกอย่างจะดีขึ้นจริงๆ”

Advertisement

คณะกรรมการจัดการแข่งขันรีโอเกมส์เตรียมงบประมาณ 10,000-12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(340,000-408,000 ล้านบาท) ในการพัฒนาระบบขนสั่งเพื่อรองรับโอลิมปิกเกมส์ รวมทั้งทุ่มงบอีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(102,000 ล้านบาท) สร้างรถไฟใต้ดินเชื่อมต่อย่านบาร์ร่า สถานที่ตั้งของโอลิมปิก ปาร์ก กับโคปาคาบาน่าและอิปาเนม่า สองชายหาดชื่อดังระดับโลกของรีโอเดจาเนโร นอกจากนั้นยังเพิ่มระบบรถประจำทางความเร็วสูงให้กับย่านใจกลางเมืองอีกด้วย

แต่ก็ยังไม่มีการการันตีว่า รถไฟใต้ดินจะสร้างเสร็จทันใช้ในช่วงโอลิมปิกเกมส์ ระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้หรือไม่

มาร์โก้ อาเราโฮ่ โค้ชแบดมินตันทีมชาติบราซิลมองในแง่ดีว่า โอลิมปิกจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากๆ ของเมืองเจ้าภาพ เมื่อการพัฒนาเหล่านี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากนั่นเอง

คำพูดของโค้ชแบดมินตันรายนี้สวนทางกับความรู้สึกของคนในรีโอเดจาเนโรอย่างมาก และมีอีกหลายอย่างที่ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นโอลิมปิกที่ดี

อุปสรรคที่พบเจอมาในช่วงเร็วๆ นี้ อาทิ เส้นทางจักรยานริมทะเลที่สร้างใหม่รับโอลิมปิกถล่ม มีคนตาย 2 ศพ / ชิ้นส่วนมนุษย์เกยชายหาดโคปาคาบานา / เกิดวิกฤตทางการเงิน การก่อสร้างหยุดชะงัก หลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม แม้ได้งบพิเศษในการแก้ไข แต่เหลือเวลาดำเนินการก่อนแข่งขันแค่ 36 วัน / แบคทีเรียดื้อยาในน้ำ พบตัวอย่างในสนามแข่งเรือใบ 90 เปอร์เซ็นต์ สนามไตรกีฬา 10 เปอร์เซ็นต์ นักกีฬาทดสอบสนามเข้าโรงพยาบาลแล้ว 1 คน / อาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในเดือนเมษายน มีคดีฆาตกรรมเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ คดีปล้นเพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ นักกีฬาสเปนโดนปล้นแล้ว 2 คน นักข่าวจากเยอรมนีโดนขโมยอุปกรณ์มูลค่า 400,000 ยูโร(15.6 ล้านบาท) / ตำรวจไม่ได้รับเงินเดือน ชูป้ายประท้วง “ยินดีต้อนรับสู่นรก” / วิกฤตการเงินทำโรงพยาบาลขาดแคลนยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ / ไวรัสซิการะบาด

หนังสือพิมพ์ “โอ โกลโบ” ได้ทำการสำรวจความรู้สึกของชาวรีโอเดจาเนโรต่อโอลิมปิกครั้งนี้จำนวน 2,400 คน 49 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งไม่ถึงครึ่งของทั้งหมด 61 เปอร์เซ็นต์มองว่าจะเป็นโอลิมปิกที่ประสบความสำเร็จ ส่วนคำถามว่าอะไรจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้ล้มเหลว 85 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า การรักษาความปลอดภัยที่ไม่ดีพอ

โวล์ฟกัง เมนนิ่ง อดีตนักพายเรือเจ้าของเหรียญโอลิมปิกเกมส์ 1988 ที่ศึกษาเรื่องเศรษฐกิจในการแข่งขันโอลิมปิก ที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก แสดงความคิดเห็นว่า จากการศึกษาผลกระทบต่างๆ ส่วนใหญ่โอลิมปิกจะสร้างผลด้านบวกให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งนั้น แต่กลับไม่ใช่ที่บราซิลจะเป็นเจ้าภาพ

“17 วันของโอลิมปิกนี่ไม่ต่างจากการไปฮันนีมูนเลยนะ แต่ที่รีโอนี่ผมไม่สามารถคาดเดาได้เลย มันอาจจะสนุกเหมือนการเต้นแซมบ้า หรือเทศกาลคาร์นิวัล แต่ก็คิดว่ามันจะสนุกมากกว่าปกติ สนุกกว่าตอนนี้ที่เป็นอยู่” เมนนิ่งกล่าว

สำหรับพิธีเปิดในวันที่ 5 สิงหาคม อันโตนิโอ อาเบเต้ ซีอีโอของ ฟิล์มมาสเตอร์ อีเวนท์ส หนึ่งในบริษัทผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของโลก จะเป็นผู้ดูแลโชว์ในพิธีเปิด

อาเบเต้บอกว่า งบประมาณพิธีเปิดครั้งนี้คงไม่สูงเท่าที่อังกฤษใช้ในลอนดอนเกมส์ ประมาณ 1,200 ล้านบาท และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไร ทุกคนรู้ดีว่าบราซิลกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง

“ไม่แปลกที่จะทุ่มงบประมาณไปกับพิธีเปิดโอลิมปิก แต่จะดีกว่าถ้าสามารถทุ่มเงินไปกับเรื่องที่เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้”

ตอนนี้มีข่าวลือเกี่ยวกับรูปแบบของพิธีเปิดอย่างแพร่หลายในโลกไซเบอร์ เช่นการใช้โดรนพาขบวนคาร์นิวัลลอยขึ้นไปบนฟ้าอย่างอลังการ

เรื่องนี้อาบาเต้ยิ้มมุมปาก ก่อนจะตอบว่า “ปกติแล้วพิธีเปิดโอลิมปิกจะโชว์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แบบนั้น เพราะบราซิลเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย อาจจะมีมากกว่าหนึ่งวัฒนธรรม อาจจะสอง สามหรือสี่ก็ได้ ดังนั้นมันจึงต้องเอาทุกอย่างมาผสมผสานกัน พิธีเปิดโอลิมปิกเป็นโชว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่การโชว์วัฒนธรรมของบราซิล แต่เป็นการโชว์วัฒนธรรมของโลกเลยทีเดียว”

ท้ายที่สุดแล้วโอลิมปิกเกมส์ 2016 จะรุ่งหรือร่วง คงต้องลุ้นกันหน้างาน อีกไม่กี่วันก็ได้รู้กันแล้ว

 

ภาพจาก www.rioonwatch.org

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image