‘คาซูกิ ยาซาว่า’ พระนักพาย 3 โอลิมปิก

ภาพจาก theguardian.com

ชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมักจะมีหลายบทบาท ขึ้นอยู่กับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน เช่นเดียวกับ คาซูกิ ยาซาว่า พระชาวญี่ปุ่นที่กำลังจะไปแข่งขันเรือแคนู สลาลอม ในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ประเทศบราซิล

บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมพระถึงมาแข่งขันกีฬาได้ คำตอบ คือ พระในญี่ปุ่นไม่ได้มีหลักปฏิบัติในลักษณะเดียวกับของบ้านเรา แต่บางนิกายถูกยกให้เป็นอีกอาชีพหนึ่งของคนแดนปลาดิบที่จะเข้ามาช่วยดูแลวัดและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งสามารถประกอบอาชีพอื่นๆ ควบคู่ได้ แต่งงานมีครอบครัวได้เช่นกัน

ภาพจาก www.theguardian.com
ภาพจาก www.theguardian.com

พระคาซูกิที่จำวัดที่วัดเซนโคจิ ไดคันจิน ที่เมืองนากาโนะ จะตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นทุกวันเพื่อสวดมนต์นับชั่วโมง และปฏิบัติตามกิจของสงฆ์จนถึงบ่ายสาม หน้าที่ของนักกีฬาก็จะเริ่มขึ้น

พระนักพายลงแข่งขันโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ปักกิ่งเกมส์ 2008 และ ลอนดอนเกมส์ 2012 สามารถทำผลงานได้ดีที่สุด เป็นอันดับ 9 ในลอนดอนเกมส์ ซึ่งเป็นความสำเร็จสูงสุดของนักเรือพายสลาลอมญี่ปุ่นที่เคยมีมา

Advertisement

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาบวชเป็นพระ เพราะการเป็นนักกีฬาเรือพายไม่สามารถเอาเป็นอาชีพหลักได้ และต้องพยายามหาสปอนเซอร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมและแข่งขัน รวมทั้งลังเลว่าชีวิตหลังจากเลิกเล่นเรือพายแล้วจะทำอะไรต่อ การบวชพระจึงเป็นทางเลือกตั้งแต่จบโอลิมปิกเกมส์ 2012

AS20160530001245_comm

จริงๆ แล้วคาซูกิไม่ได้มีความสนใจในศาสนาแต่อย่างใด แต่จากการที่รู้จักกับ พระเคเนอิ โคยาม่า ซึ่งเป็นประธานสมาคมเรือพายแห่งนากาโนะ และเป็นโค้ชสอนเทคนิคสลาลอมให้คาซูกิอยู่แล้ว ทำให้เขาเริ่มหันเหชีวิตมาทางพุทธศาสนามากขึ้น

Advertisement

“ผมไม่พยายามที่จะสร้างสมดุลระหว่างเรือพายกับการบวชพระ เพราะผมเลือกจะให้อาชีพพระเป็นอาชีพหลัก ส่วนการแข่งเรือพายเป็นงานอดิเรกเท่านั้น” พระนักพายวัย 27 กล่าว

การฝึกซ้อมของพระคาซูกิจะทำได้เพียงวันละไม่เกินชั่วโมงครึ่งในช่วงบ่าย หลังจากเสร็จภารกิจทางสงฆ์ในช่วงบ่ายสามโมงแล้ว พระรูปนี้จะขับรถไปซ้อมที่แม่น้ำไซคาวะใกล้วัด ไม่ก็วิ่งหรือเข้ายิม สัปดาห์ละ 6 วัน

เมื่อปีที่แล้ว พระคาซูกิคว้าแชมป์การแข่งขันแคนู สลาลอม ชิงแชมป์ญี่ปุ่น และคว้าโควต้าแข่งโอลิมปิกเกมส์เป็นหนที่สามในชีวิต เช่นเดียวกับ อากิ ยาซาว่า น้องสาววัย 24 ที่คว้าโควต้าไปลุยรีโอเกมส์ได้เช่นกัน

“ผมจะทุ่มเทกับการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ให้มากที่สุด และจะกลับมาญี่ปุ่นอย่างมีความสุข ครั้งนี้ผมรู้สึกโอเคกว่าโอลิมปิกสองครั้งที่ผ่านมา และหวังว่าจะสนุกกับการแข่งขัน”

นี่คือความรับผิดชอบทั้งความฝันและชีวิตของตัวเองไปพร้อมกัน บนความเชื่อที่ว่าถ้าทุ่มเทให้กับทุกอย่างเต็มที่แล้ว ความสำเร็จก็จะพุ่งเข้ามาหาเราเอง

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image