เปิดประชุม เชียงราย โกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท ฝ่าวิกฤตการจัดงานวิ่งยุคใหม่

เปิดประชุม เชียงราย โกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท ฝ่าวิกฤตการจัดงานวิ่งยุคใหม่

จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ, การกีฬาแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ, บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการบัตรกดเงินสดยูเมะพลัส, สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (เทมซ่า) และบริษัท มูฟ เอเชีย จํากัด ผนึกกำลังร่วมกันจัด การประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลกครั้งที่ 2 ” เชียงราย โกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท 2020“ (Chiang Rai Global Running Summit 2020) และงานวิ่ง “ยูเมะพลัส เชียงราย 21.1 มาราธอน 2020” ระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคม 2563 ที่จังหวัดเชียงราย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเปิดการประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลก “เชียงราย โกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท 2020” ในคอนเซ็ปต์ NEXT NORMAL “VIRUS DISRUPTION ERA” เป็นวันแรก โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงความรู้ด้านการจัดการแข่งขันกีฬามวลชนทั้งไทยและต่างชาติ มาเสวนาผ่านออนไลน์และออฟไลน์คอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้จัดการแข่งขัน ผู้สนับสนุนภาคเอกชน เอเยนซี่ ผู้ผลิตสินค้าและอุตสาหกรรม รวมแล้วกว่า 200 คน ที่โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี บายกะตะธานี จังหวัดเชียงราย

นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท และงานวิ่งเชียงราย 21.1 มาราธอน เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยความสำเร็จในการจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2019 ได้รับเสียงชื่นชมและเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น พร้อมยังช่วยสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ รวมกว่าแล้ว 300 ล้านบาท ซึ่งงานวิ่งในปีนี้ นักวิ่งทั้ง5,000 คนที่มาร่วมงาน จะได้สัมผัสความสวยงามและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงรายควบคู่ไปกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอย่างเต็มอิ่ม ในฐานะที่เราเป็น Iconic Marathon Event ที่มีประวัติศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดร่องขุ่น พระธาตุดอยตุงอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ เป็นต้น ภายใต้มาตรฐานการจัดงานแบบ New Normal ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย และการปิดถนน Car Free Day เต็มรูปแบบ 100% ช่วง 1 กม. ก่อนเข้าเส้นชัย

Advertisement

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูกิจกรรมทางกายของคนไทยผ่านการจัดงานวิ่ง ยูเมะพลัสเชียงราย 21.1 มาราธอน 2020 ในครั้งนี้จะเป็นการจัดงานในรูปแบบ “New Normal Race” โดยยึดตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ศบค. 5 มาตรการหลัก ได้แก่ ลดความแออัด รักษาระยะห่าง ล้างมือ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัย (เข้าและออกงาน) รวมถึงมีการลงทะเบียนเพื่อจัดกิจกรรมและยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรค ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และแพลตฟอร์ม “สปิริต” ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร จนจบกิจกรรม ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ ที่มีความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านเป็นที่ตั้งสูงสุด

พลต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การจัดงานวิ่งในเอเชียได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการจัดงานวิ่งปีละกว่า 1,500 งานและนำมาซึ่งเม็ดเงินหมุนเวียนปีละเกือบ 1 แสนล้านบาท สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า อุตสาหกรรมวิ่งในเอเชียจะเติบโตสู่ระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ จึงได้ร่วมมือกับ สมาพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย (AAA) เตรียมยกระดับมาตรฐานการจัดงานวิ่งในเอเชีย ด้วยการทำ Asia Label เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชีย ซึ่งเป็นการแบ่งมาตรฐานงานวิ่งเป็นระดับ Platinum Gold Silver และBronze แบบเดียวกับ World Athletics พร้อมเพิ่ม Safety Hygiene หรือมาตรการด้านสุขอนามัยเข้าไปด้วย ซึ่งทั้งหมดจะมีมาตรฐานการจัดงานเทียบเท่าระดับโลกแต่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

นายสมพงษ์ อเนกวิสูตรวงศ์ เลขานุการบริษัท และผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายแผนงานและประสานงานองค์กร บริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน) ในฐานะภาคเอกชน ก็ต้องขอขอบคุณคณะวิทยากรทุกท่านที่เข้ามาให้ความรู้ในการยกระดับมาตรฐานการวิ่งในประเทศไทยและความรู้ในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก Global Running Summit เมื่อปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปีนี้ สามารถรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆที่ผลักดันให้เกิดมาตรฐานงานวิ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะมิติการกีฬาเท่านั้น เรื่องการท่องเที่ยว การเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของประเทศไทยจะถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ยูเมะพลัสก็รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมงานตั้งแต่ต้น และต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันครับ

Advertisement

นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร นายกสมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวงการวิ่งและการจัดแข่งขันกีฬามวลชนทั่วทั้งโลก เราคิดว่าโอกาสนี้เป็นการถอดบทเรียนที่ดีในการเชิญวิทยากรและกูรูชั้นนำจากนานาชาติมาร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อหาทางฝ่าวิกฤตร่วมกันตลอดจนวางแนวทางป้องกันและรับมือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต โดยบ้านเราถือเป็นประเทศที่สามารถจัดงานวิ่งมาราธอนได้เป็นรายแรกๆ ของโลก ขณะที่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่สามารถจัดได้ เราจึงเตรียมนำความรู้จากคู่มือและแนวทางปฏิบัติ การจัดงานวิ่งในยุค New Normal ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการปล่อยตัวจุดให้น้ำ การตรวจคัดกรอง ตลอดจนวิธีการจัดงานต่าง ๆ มาร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย

สำหรับการประชุมในวันแรกเป็นการร่วมเสวนาและถอดองค์ความรู้ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้ ถอดองค์ความรู้ “ ผู้จัดงานสหพันธ์และสมาคมกรีฑาโลก มีความสอดคล้องในการทำงานร่วมกันอย่างไรเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอีเว้นท์ให้ก้าวหน้า” โดย David Katz มือ 1 การวัดเส้นทางระดับโลก ของ IAAF จาก New York Marathon และผู้วัดเส้นทางTokyo Olympic 2020, ถอดองค์ความรู้ การสร้างแบรนด์และพัฒนาแบรนด์อย่างไรเพื่อให้อีเว้นท์ของคุณเป็นที่จดจำ” โดย Dr. James Barahal : Race Director Honolulu Marathon, เสวนา New Operational Normal (Next Normal “Virus Disruption Era”) โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, บัตรกดเงินสดยูเมะพลัส,

เสวนา “การพัฒนาแนวทางของการวิ่งบนถนนของประเทศไทยสู่ระดับมาตรฐานโลก และการประกาศคู่มือและการยกระดับมาตรฐานAsia Label ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชีย (Development of Thailand Road Racing to World Standards and Asia Label Announcement)” โดย พลต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ Mr. Cuddi Kotta Valson Asian Athletics Association (AAA) Mr. A Shugumarran Secretary of Asian Athletics Association (AAA) สัญชัย นามเขตและบุญถึง ศรีสังข์ นักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย

ขณะที่ การประชุมในวันที่ 2 (23 ตุลาคม 2563) มีหัวข้อดังนี้ ถอดองค์ความรู้ จุดเริ่มต้นของงานวิ่งมาราธอน Rock N’ Roll สู่ความสำเร็จในตำนานและการปล่อยตัวแบบรักษาระยะห่างภายใต้สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน โดย Tracy Sundlun : A founder of the Rock N Roll Marathon Series, ถอดองค์ความรู้ ทำอย่างไรงานวิ่งมาราธอนหญิงนาโกย่าถึงประสบความสำเร็จและวิธีการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันโดย Saki Mitsuda : Director of International Relations of the Nagoya Women’s Marathon

ถอดองค์ความรู้ เส้นทางความสำเร็จของงานวิ่ง Gold Coast Marathon สู่สนามแข่งวิ่งระดับโลก โดย Ryan McDonald : GM Queensland Events, organizers of Gold Coast Marathon and the world’s largest biennial masters event, เสวนาและเวิร์คชอป Thai Mass Participation Sports Association (TMPSA) แผนพัฒนายกระดับมาตรฐานงานวิ่งไทยสู่มาตรฐานสากล สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Friendship Run 3.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ การประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลก ครั้งที่ 2 “โกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท 2020“ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี บายกะตะ ธานี จังหวัดเชียงรายขณะที่งานวิ่ง “ยูเมะพลัส เชียงราย 21.1 มาราธอน 2020” จะออกสตาร์ทวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ณ วัดร่องขุ่นและเข้าเส้นชัยที่สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีการแข่งขัน 2 ระยะทาง คือ ฮาล์ฟมาราธอน (21.1 กม.) และ มินิมาราธอน (10 กม.) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก Chiangrai21.1 (www.facebook.com/Chiangrai21.1)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image