10 นักกีฬาทีมอพยพ ทีมแห่ง “ความหวัง ความฝัน” และวันได้กลับ “บ้านเกิด”

10 นักกีฬาทีมอพยพ ทีมแห่ง "ความหวัง ความฝัน" และวันได้กลับ "บ้านเกิด"

 

10 นักกีฬาทีมอพยพ ทีมแห่ง “ความหวัง ความฝัน” และวันได้กลับ “บ้านเกิด”

โอลิมปิกเกมส์ 2016 มีความแปลกใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ การให้นักกีฬาผู้อพยพ ที่บ้านเกิดตัวเองมีปัญหาสงครามได้เข้ามาแข่งขันภายใต้ธงสัญลักษณ์โอลิมปิก ในชื่อทีม “นักกีฬาอพยพ”

“โทมัส บาค” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมา เพราะมองว่าเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้นักกีฬาที่ดีพอจะแข่งขัน แต่ปัจจัยด้านความไม่สงบในประเทศตัวเองขวางไม่ให้พวกเขาและเธอมีส่วนร่วมในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

ทีมผู้อพยพจากเดิมมีอยู่ถึง 43 คน แต่เมื่อถึงโค้งสุดท้ายไอโอซีได้คัดเลือกให้เหลือเพียง 10 คนสุดท้าย ที่จะได้โชว์ศักยภาพระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคม ที่นครริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

Advertisement

“ยุสร่า มาร์ดินี่” นักว่ายน้ำสาวซีเรียที่นั่งเรือออกมาจากบ้านเกิดที่เต็มไปด้วยสงคราม ก่อนที่เรือจะล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เธอและพี่สาวพากันแหวกว่ายมาจนถึงฝั่ง ก่อนจะเดินทางไปเรื่อยๆ จนลงหลักปักฐานที่เยอรมนี

“รามี่ อานิส” ฉลามหนุ่มจากเมืองอเลปโป้ของซีเรีย ที่ถูกสงครามเล่นงานอย่างหนัก อานิสถูกครอบครัวส่งไปอยู่กับญาติที่ตุรกี เขาถือกระเป๋าเสื้อผ้าใบเล็กๆ มาที่ตุรกีด้วยความคิดที่ว่า อีกไม่กี่เดือนก็จะได้กลับบ้าน แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เขาเดินทางต่อไปกรีซ

ก่อนจะมีชีวิตใหม่ที่เบลเยียม และได้แข่งขันในรายการผีเสื้อ 100 เมตรชาย ที่บราซิล

Advertisement

“โปโปเล่ มิเซนก้า” และ “โยลันเด้ มาบิก้า” สองนักยูโดจากดีอาร์คองโก ได้เดินทางมาแข่งยูโดที่บราซิล เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และทั้งคู่ก็ไม่อยากจะกลับไปทรมานกับสงครามที่บ้านเกิดอีกต่อไป พวกเขาพากันหนีออกจากโรงแรมที่พัก ไปเร่ร่อนอยู่ในริโอเดจาเนโร ทิ้งทุกอย่างไว้ที่บ้าน และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดินแดนเจ้าภาพริโอเกมส์

มิเซนก้าอยู่กินกับสาวบราซิล มีลูกสาวหนึ่งคน ขณะที่มาบิก้ายังคงปาดน้ำตาเมื่อพูดถึงพี่น้องที่บ้านเกิด

แต่อีกไม่กี่วันเขาจะสร้างความภาคภูมิใจให้ชาวดีอาร์คองโกด้วยกีฬาที่ตัวเองรัก

นักกีฬาจากเซาธ์ซูดานอยู่ร่วมในทีมผู้อพยพมากที่สุดถึง 5 คน และฝึกซ้อมที่อยู่ที่เคนยา

“เยียช ปูร์ เบียล” ต้องดิ้นรนกับชีวิตที่ยากแค้นตั้งแต่ 9 ขวบ สงครามกลางเมืองที่เซาธ์ซูดาน เมื่อปี 2005 ทำให้คนในประเทศอดอยาก แม่ของเขาบอกว่าจะไปหาอะไรมาให้กิน แต่หลังจากนั้นเธอก็ไม่กลับมาอีกเลย ก่อนจะไปเติบโตในค่ายผู้อพยพที่เคนยา

“เจมส์ เนียง เชียนกิเจ็ก” นักวิ่งจากเซาธ์ซูดานอีกคนประสบชะตากรรมไม่ต่างจาก เยียช ปูร์ เบียล เจมส์โดนทหารพยายามจะลักพาตัวเขา และจะให้เขาไปเป็นทหารในสงครามที่กำลังระอุ แต่เจมส์ไม่ยินยอม เขาวิ่งหนีไปใช้ชีวิตที่ค่ายอพยพคาคูม่า ที่มีคนไร้บ้าน ไร้ความหวังกว่า 200,000 คนรวมตัวกันอยู่ และเติบโตที่นั่น

“โรส นาทิเก้ โรคอนเยน” ต้องคอยหลบซ่อนศัตรูต่างเผ่าที่มาโจมตีหมู่บ้านของเธอ ในวัย 7 ขวบ เด็กสาวคนหนึ่งต้องเดินข้ามศพของตาตัวเองเพื่อหนีเอาชีวิตรอด “เปาโล อาโมตัน โคโคโร่” มีความทรงจำในวัยเด็กเกี่ยวกับการวิ่ง แต่ไม่ใช่วิ่งเพื่อการกีฬา เขาวิ่งเพื่อเอาชีวิตรอด และเกือบโดนลูกกระสุนเจาะหัวตัวเองเข้าแล้วด้วย “แอนเจลิน่า นาได โลฮาลิธ” นักวิ่งสาวอีกคนพรากจากพ่อแม่มากว่าทศวรรษ มีเพียงข่าวคราวที่ว่าพวกเขายังมีชีวิต แต่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้ยินเป็นเรื่องจริงหรือหลอกกันแน่

“โยนาส คินเด้” ปอดเหล็กชาวเอธิโอเปียน ต้องออกจากบ้านเกิดเพราะปัญหาทางการเมือง และได้รับการคุ้มครองจากองค์กรนานาชาติ เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ลักเซมเบิร์ก เดินสายกวาดแชมป์วิ่งมาราธอนมาแล้วทั้งในลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี แต่คินเด้ไม่สามารถรับใช้ชาติด้วยปัญหาที่บอกไว้ข้างต้น

อีฟส์ โกลดี้ โค้ชของคินเด้บอกว่า ถ้าเขาเป็นคนลักเซมเบิร์กก็ดีพอที่จะอยู่ในทีมกรีฑาชุดโอลิมปิกของประเทศนี้ แต่ไม่เป็นไร ตอนนี้คินเด้ได้อยู่ในทีมอพยพที่มีนักกีฬาที่เต็มไปด้วยความสามารถแล้ว

การได้ลงแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ นักกีฬาทุกคนในทีมอพยพล้วนมีความหวังกับผลงานของตัวเอง

โยลันเด้ มาบิก้า ที่ร่วมซ้อมกับโรงเรียนของ “ฟลาวิโอ คอนเต้” เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกชาวบราซิเลียนบอกว่า

“ยูโดไม่เคยให้เงินฉัน แต่ทำให้หัวใจฉันแข็งแกร่งขึ้น นี่เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิต เพราะคิดว่าตัวเองมีโอกาสจะคว้าเหรียญรางวัลมาได้ อย่างน้อยเรื่องราวชีวิตของฉันจะเป็นตัวอย่างให้ใครอีกหลายคน หรือถ้ามากกว่านั้น ครอบครัวที่บ้านเกิดของฉันจะได้เห็นฉันผ่านทางทีวี ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้กลับมาเจอกันอีก”

เปาโล อาโมตัน โคโคโร่ ที่จะลงแข่งในรายการวิ่ง 1,500 เมตรชายเปิดใจว่า

“ก่อนจะมาที่เคนยา ผมไม่เคยมีรองเท้าวิ่งด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้เราซ้อมกันอย่างหนัก และเห็นว่าตัวเองอยู่ในระดับที่ดีมากแล้ว และรู้ซึ้งแล้วว่าการจะเป็นนักกีฬาต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าผมทำผลงานได้ดี สิ่งตอบแทนต่างๆ ที่ไหลเข้ามา ผมจะนำมันไปช่วยครอบครัวผมและคนในเซาธ์ซูดานบ้านเกิดของผม”

เยียช ปูร์ เบียล นักวิ่ง 800 เมตรชายส่งกำลังใจให้คนในค่ายอพยพทั่วโลกว่า

“ผมจะแสดงให้คนอพยพทุกคนเห็นว่า พวกเราต้องมีความหวังและยังมีโอกาส โอกาสผ่านทางการศึกษาและการวิ่ง”

โยนาส คินเด้ ที่แทบจะไม่มีโอกาสกลับบ้านที่เอธิโอเปียอีกแล้วส่งเสียงถึงคนพลัดถิ่นว่า

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยาก ผมไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดได้อีก เพราะมันอันตรายเกินไป พวกเราในทีมอพยพทุกคนมีปัญหากับการไม่ได้อยู่บ้าน แต่เราสามารถทำทุกอย่างได้ในค่ายอพยพ”

อีกประโยคกินใจจากปากของ เจมส์ เนียง เชียนกิเจ็ก นักวิ่ง 1,500 เมตรที่ทิ้งท้ายไว้ให้เห็นว่า โลกนี้จะไม่ขาดแคลนถ้าทุกคนรู้จักแบ่งปัน

“การวิ่งช่วงแรกๆ ผมต้องยืมรองเท้าคนอื่นมาใส่ แต่มันก็ทำให้เจออาการบาดเจ็บเล่นงาน เพราะไม่ใช่รองเท้าที่เหมาะกับเท้าของผม แต่นั่นแหละ มันทำให้ผมคิดได้ว่า ถ้าผมมีรองเท้าสองคู่ ผมสามารถช่วยอีกคนหนึ่งได้ ด้วยการแบ่งปันรองเท้าให้กับคนที่ไม่มีรองเท้าใส่”

ขอเป็นกำลังใจให้กับทีมนักกีฬาอพยพแห่งริโอเกมส์ และผู้อพยพทั่วโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image