ผ่าแนวทางการยกระดับเชิ้ตดำไทย กับการก้าวสู่ทัวร์นาเมนต์ระดับโลก

ผ่าแนวทางการยกระดับเชิ้ตดำไทย กับการก้าวสู่ทัวร์นาเมนต์ระดับโลก

ในอดีตเกือบ 2 ทศวรรษ ที่มีผู้ตัดสินไทย ได้ไปทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย นั่นคือ “เปาอั๋น” อ.ภิรมย์ อั๋นประเสริฐ เคยทำหน้าที่ในฟุตบอลโลก 1998 จากนั้นในฟุตบอลโลก 2006 “เปาแป๊ก” ปรัชญา เพิ่มพานิช เคยทำหน้าที่เป็นไลน์แมน นันคือครั้งสุดท้ายของผู้ตัดสินไทยในทัวร์นาเมนต์ระดับโลก

แฟนบอลหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า เส้นทางก่อนที่ผู้ตัดสินจะก้าวไปถึงการทำหน้าที่ในแต่ละระดับนั้น จะต้องฝ่าฟันอุปสรรค์ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ มากกว่า 13 ปี ซึ่งเส้นทางสู่การเป็นสุดยอดผู้ตัดสินระดับโลก ต้องทำอย่างไร..?

-เส้นทางสู่ฟุตบอลโลก

ปัจจุบันปี2021 ประเทศไทย มีผู้ตัดสิน ระดับ ฟีฟ่า อีลิต (FIFA Elite) จำนวน 3 คน แบ่งออกเป็นผู้ตัดฟุตบอลชาย 2 คน คือ “เปาโค้ช” ศิวกร ภูอุดม และ “เปาสิงห์” มงคลชัย เพชรศรี ส่วนอีกคนคือ ผู้ตัดสินฟุตบอลหญิง “เปาษา” พรรษา ชัยสนิท ขณะที่ ผู้ช่วยผู้ตัดสินฟุตบอลชาย มีจำนวน 4 คน ประกอบด้วย ราวุฒิ นาคฤทธิ์, ธเนศ ชูชื่น, ภัทรพงศ์ กิจสถิตย์, อภิชิต โนพวน และผู้ช่วยผู้ตัดสินฟุตบอลหญิง 2 คน ประกอบด้วย สุภาวรรณ หินทอง และ นวลนิจ ดอนจังหรีด

Advertisement

แม้ทั้งหมดจะก้าวมาอยู่ในจุดสูงสุดของวงการผู้ตัดสินแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่ในฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายได้ เพราะทุกคนจะต้องผ่านการประเมินจากการทำหน้าที่ในฟุตบอลระดับนานาชาติ ระดับทวีป ในรอบ 4 ปี เสียก่อน อาทิ ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย, ฟุตบอลเอเชี่ยน คัพ และ ฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก

-ผลักดันทำหน้าที่เมื่อมีการเรียกตัว

โดยการทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอล ระดับทวีปรายการต่างๆ อย่างเช่น “เปาโค้ช” ศิวกร ภูอุดม ไปทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม หรือ ทำหน้าที่ในรายการ ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ยู-23 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุด

Advertisement

ซึ่งจะมีการเก็บคะแนนจากทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ในช่วงเวลา 4 ปี ตามรอบของฟุตบอลโลก จากนั้นจะคัดเอาผู้ตัดสินที่มีคะแนนดีที่สุด จำนวน 5 ชุด แบ่งเป็นผู้ตัดสิน 1 คน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน 2 คน เป็นตัวแทนของทวีปเอเชีย ไปทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

แน่นอนเพื่อ เป้าหมายสูงสุดของ “ผู้ตัดสินชาย” คือ การได้รับคัดเลือกให้ไปทำหน้าที่ในฟุตบอลโลก 2026 ที่แคนาดา, สหรัฐอเมริกา และ เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพร่วม ขณะที่ “ผู้ตัดสินหญิง” มีเป้าหมายที่จะผลักดันก้าวไปถึงระดับฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ที่จะจัดขึ้นในปี 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย

-การอบรมที่ต่อเนื่อง

เพื่อให้สถาบันผู้ตัดสินของไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง การเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ตัดสินก้าวไปถึงเป้าหมายให้ได้แล้วนั้น สิ่งที่ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ให้ความสำคัญคือ การสร้างผู้ตัดสินสายเลือดใหม่ ที่มีคุณภาพให้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่จากรุ่นสู่รุ่น

แผนระยะยาวที่ สมาคมฯได้ดำเนินการยกระดับ ผู้ตัดสินไทยในประเทศอย่างต่อเนื่อง คือ การนำวิทยากรระดับฟีฟ่า และเอเอฟซี เข้ามาเปิดคอร์สอบรมผู้ตัดสินทั้งระบบ ไล่ตั้งแต่ ฟาฮัด อับดุลลาเยฟ อดีตผู้ตัดสินชื่อดังชาวอุซเบกิสถาน ที่ปัจจุบันเป็น ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินของฟีฟ่า และ เอเอฟซี รวมถึง เดวิด เอลเลอร์เรย์ อดีตผู้ตัดสินที่เคยทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มาอบรมให้ความรู้ในส่วนของ VAR

จากเดิม ที่ประเทศไทยจะได้รับโอกาสอบรมหลักสูตรต่างๆ ของผู้ตัดสิน แค่ปีละครั้ง แต่ตลอด 4 ปีหลังที่ผ่านมา เราสามารถจัดให้มีการเปิดการอบรมผู้ตัดสิน ได้ถึง 3-4 ครั้งต่อปี นอกจากในส่วนของผู้ตัดสินแล้ว ณ ปัจจุบัน อีกส่วนที่สมาคมเล็งเห็นถึงความสำคัญก็คือ ผู้ประเมินผู้ตัดสิน และ วิทยากรอบรมผู้ตัดสิน ที่ในอดีต ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน ปัจจุบัน ก็ได้ยกระดับและเพิ่มจำนวน ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งในส่วนของ ปรีชา กางรัมย์ ที่สามารถอบรมผู้ตัดสินในระดับนานาชาติ, แพรว สีหมากสุก ที่เป็นวิทยากรอบรมผู้ตัดสินด้าน ฟิตเนสของ AFC รวมถึง พัณณิภา คำนึง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายผู้ตัดสินหญิงที่ AFC ประเทศมาเลเซีย

-เส้นทางลัดผ่านโครงการAFCRefereeAcademy

ขณะเดียวกันสมาคมฯยังให้สนับสนุนในการ ส่งผู้ตัดสินรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ เข้าร่วมโครงการ AFC Referee Academy ที่ประเทศมาเลเซีย (ปัจจุบัน อบรมทางออนไลน์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด) เพื่อเป้าหมายในการสร้างผู้ตัดสินที่มีคุณภาพให้ก้าวไปสู่ผู้ตัดสินระดับ อีลิต ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นทางลัดสำหรับผู้ตัดสินรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ เพราะเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมดังกล่าวผู้ที่ผ่านการอบรม จะได้เป็นผู้ตัดสินระดับ อีลิตทันที ทั้งในส่วนของผู้ตัดสินชาย และผู้ตัดสินหญิง

สำหรับ ปัจจุบัน สถานะของผู้ตัดสินไทย ที่มีชื่ออยู่ในทำเนียบผู้ตัดสินฟีฟ่า แยกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

ผู้ตัดสินระดับฟีฟ่าอีลิต

– ศิวกร ภูอุดม – ฟุตบอลชาย (2013-ปัจจุบัน)
– มงคลชัย เพชรศรี – ฟุตบอลชาย (2010-ปัจจุบัน)
– พรรษา ชัยสนิท – ฟุตบอลหญิง (2017-ปัจจุบัน)

ผู้ตัดสินระดับฟีฟ่า

– วรินทร สัสดี – ฟุตบอลชาย – (2016-ปัจจุบัน)
– สุนิตา ทองถวิล – ฟุตบอลหญิง – (2018-ปัจจุบัน)
– วิวรรธน์ จำปาอ่อน – ฟุตบอลชาย – (2018-ปัจจุบัน)
– สงกรานต์ บุญมีเกียรติ – ฟุตบอลชาย – (2019-ปัจจุบัน)
– ต่อพงษ์ สมสิงห์ – ฟุตบอลชาย – (2019-ปัจจุบัน)
– สุไพรี เทศถมยา – ฟุตบอลหญิง – (2021-ปัจจุบัน)

ผู้ช่วยผู้ตัดสินระดับฟีฟ่าอีลิต

– สุภาวรรณ หินทอง – ฟุตบอลหญิง – (2009-ปัจจุบัน)
– ธเนศ ชูชื่น – ฟุตบอลชาย – (2016-ปัจจุบัน)
– ภัทรพงศ์ กิจสถิตย์ – ฟุตบอลชาย – (2016-ปัจจุบัน)
– ราวุฒิ นาคฤทธิ์ – ฟุตบอลชาย – (2017-ปัจจุบัน)
– อภิชิต โนพวน – ฟุตบอลชาย – (2018-ปัจจุบัน)
– นวลนิจ ดอนจังหรีด – ฟุตบอลหญิง – (2018-ปัจจุบัน)

ผู้ช่วยผู้ตัดสินระดับฟีฟ่า

– พูนสวัสดิ์ สำราญสุข – ฟุตบอลชาย – (2017-ปัจจุบัน)
– คมสันต์ คำแผ่น – ฟุตบอลชาย – (2018-ปัจจุบัน)
– ราเชนทร์ ศรีชัย – ฟุตบอลชาย – (2018-ปัจจุบัน)
– โชติระวีย์ ทองดวง – ฟุตบอลชาย – (2019-ปัจจุบัน)
– สุวิดา วงค์ไกรษร – ฟุตบอลหญิง – (2021-ปัจจุบัน)

ผู้ตัดสินฟุตซอลระดับฟีฟ่าอีลิต

– ยุทธกร ไม้เกตุ – ฟุตซอลชาย – (2010-ปัจจุบัน)
– พรณรงค์ ไกรรอด – ฟุตซอลชาย – (2017-ปัจจุบัน)
– เบญจพล หมู่เจริญทรัพย์ – ฟุตซอลชาย – (2018-ปัจจุบัน)

ผู้ตัดสินฟุตซอลระดับฟีฟ่า

– ปนัดดา โคตรเสนาภัทร – ฟุตซอลหญิง – (2019-ปัจจุบัน)
– ชลกาญจน์ เหลืองสอาด – ฟุตซอลชาย – (2019-ปัจจุบัน)

ผู้ตัดสินฟุตบอลชายหาดระดับฟีฟ่า

– ศุภฤทธิ์ อุตมา – ฟุตบอลชายหาดชาย – (2019-ปัจจุบัน)
– สุวัฒน์ วงศ์สุวรรณ – ฟุตบอลชายหาดชาย – (2011-ปัจจุบัน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image