5 ข้อคิดที่จะได้รับจาก “The Apprentice: ONE Championship Edition”

5 ข้อคิดที่จะได้รับจาก “The Apprentice: ONE Championship Edition”

หลังจากที่ วัน แชมเปี้ยนชิพ องค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้ออกมาเผยถึงวันออกอากาศซีซันแรกของรายการ “The Apprentice: ONE Championship Edition” รายการเรียลลิตี้โชว์ทีวีที่ต่อยอดมาจากรายการสุดฮิต โดยมีคิวออกอากาศในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งทำให้วงการกีฬาและวงการบันเทิงต่างฮือฮากันไม่น้อย

“The Apprentice” เป็นหนึ่งในแฟรนไชส์รายการโทรทัศน์แบบไม่มีสคริปต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ฉากสุดตึงเครียดในห้องประชุมคณะกรรมการ, การแข่งขันทางธุรกิจสุดร้อนแรง และการบรรยายถึงโลกของผู้ประกอบการที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรอย่างถูกต้องแม่นยำ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายการนี้ชนะใจแฟนๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้รายการเวอร์ชันของ วัน แชมเปี้ยนชิพ แตกต่างจากรายการตามปกติคือ มีบททดสอบทางกายภาพสุดท้าทายเพิ่มเข้ามา โดยผู้เข้าแข่งขันทั้ง 16 คนจะทำการแข่งขันเคียงข้างและเผชิญหน้ากับนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการศิลปะการต่อสู้ ทำให้รายการเวอร์ชันนี้ถูกยกให้เป็น “The Apprentice” เวอร์ชันที่ “โหดหินที่สุด” อย่างไร้ข้อโต้แย้ง

Advertisement

อีกหนึ่งสิ่งที่คนไทยห้ามพลาด และควรติดตาม “The Apprentice” เวอร์ชันนี้ก็คือ การที่มีคนไทยผ่านการคัดเลือกจากใบสมัครนับพันทั่วโลก ให้กลายเป็น 1 ในผู้เข้าแข่งขัน 16 คนสุดท้าย นั่นก็คือ คุณแยม หรือ เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์ นักข่าวและโปรดิวเซอร์หญิง ที่มีปูมหลังด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่น่าสนใจ ซึ่งเราก็ต้องมาลุ้นกันว่า สุดท้ายแล้วเธอจะแข็งแกร่งพอที่จะคว้าโอกาสรับข้อเสนองานมูลค่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข่งขันครั้งนี้ไปครองได้หรือไม่

ทียร่า กมลวัฒนาวิทย์

ก่อนจะถึงวันออกอากาศ รับรองว่าคุณจะได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมายจากสิ่งที่ซ่อนอยู่ในฉากต่างๆ ของรายการนี้ และนี่คือ 5 ข้อคิดที่คุณจะได้จากการรับชม “The Apprentice: ONE Championship Edition”

1) เวลาเป็นเงินเป็นทอง

Advertisement

“The Apprentice: ONE Championship Edition” จะทำให้ผู้ชมรู้สึกลุ้นระทึกไปกับซีนเรียลลิตี้สุดเข้มข้นที่เต็มไปด้วยดราม่าบีบคั้น, และมักจะมีข้อจำกัดด้านเวลามากดดันอยู่เสมอ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะเต็มไปด้วยความตึงเครียดทันทีที่นาฬิกาเริ่มเดิน เห็นได้ชัดว่ารายการนี้เป็นรายการที่ต้องดู และผู้ผลิตต้องการใช้ดราม่าเป็นเครื่องมือดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนี่คือความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

เราทุกคนต่างทำงานโดยมีเดดไลน์ในชีวิตจริง เพื่อขับเคลื่อนงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้แข่งขันต้องแข่งกับเวลาเพื่อทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปพร้อมๆ กับการตรวจสอบวัตถุประสงค์ของพวกเขา เราเรียนรู้ว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับโลกธุรกิจที่มีเดิมพันสูง

เช่นเดียวกับในชีวิตจริงของพวกเราส่วนใหญ่ ที่ต้องยอมงดมื้อกลางวัน หรือเสียสละเวลานอนสักสองสามชั่วโมง คุณไม่สามารถขยับเดดไลน์ได้โดยอ้างว่างานนี้ยาก คุณก็แค่ต้องทำสิ่งต่างๆ ให้แล้วเสร็จให้ได้ ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีไหนก็ตาม

2) การชิงดีชิงเด่นเช่นเดียวกับในชีวิตจริง

โลกของธุรกิจไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ใครที่เคยทำงานร่วมกับคนอื่นในชีวิตจริงย่อมยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่านี่เป็นเรื่องจริงสุดๆ ทุกคนต่างชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน, ไต่เต้าไปยังจุดสูงสุด และบางครั้งก็ถึงขั้นแทงข้างหลังเพื่อนร่วมงาน

ผู้แข่งขันใน “The Apprentice” ล้วนเป็นคนตรงไปตรงมาและกล้าแสดงออก รวมถึงมีบุคลิกภาพที่ทรงพลังและทรงอำนาจ บางครั้งการยอมอ่อนข้อให้เท่ากับเป็นการเผยจุดอ่อน ด้วยการที่ผู้แข่งขันต่างมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกันออกไป จึงรับประกันได้ว่าต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่

อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะประสบความสำเร็จและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณต้องมีความสามารถในการกระจายความตึงเครียด คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ, บางครั้งในสถานการณ์กดดันสูง และก่อนที่คุณดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อทำงานให้ลุล่วง หาไม่แล้ว ความเป็นทีมก็จะพังพินาศ

“The Apprentice: ONE Championship Edition” เหมือนกันมากในจุดนี้ ผู้แข่งขันทั้ง 16 คนล้วนมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนต่างก็เล็งข้อเสนองานมูลค่า 250,000 ดอลลาร์ เพื่อทำงานในฐานะผู้ช่วยของนายชาตรี ศิษย์ยอดธง ประธานและซีอีโอของวัน ที่สิงคโปร์

3) เล็กๆ น้อยๆ ก็สำคัญ

“The Apprentice” จับผู้แข่งขันให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากแสนสาหัส, ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่มีทางแก้ มันต้องใช้สติปัญญา, ความมุ่งมั่น และความเข้าใจในธุรกิจเป็นอย่างมากเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ นับประสาอะไรกับการเอาชนะความท้าทาย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายที่ว่านี้ คุณมักจะได้เห็นผู้แข่งขันในรายการถูกรบกวนจิตใจจากงานจิปาถะอย่าง ใครจะเป็นคนเขียนกระดานไวท์บอร์ด, หรือจัดเก้าอี้ในห้องประชุม เป็นต้น สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยนี้ สามารถบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เกินกว่าจะคาดคิด

แม้มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะต้องถอยกลับไปสักสองสามก้าว และปรับโฟกัสของคุณใหม่เพื่อมองภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น “The Apprentice” ก็สอนเราว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นั้น เอาเข้าจริงมันไม่เล็กน้อยเลย งานบางอย่างที่ดูเหมือนจะจิ๊บจ๊อยและไม่มีความสำคัญ แต่ก็คือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่างานใหญ่จะดำเนินไปอย่างราบรื่น อย่างที่เขาว่ากัน ปีศาจอยู่ในรายละเอียด

4) รับผิดชอบต่อความล้มเหลวของคุณเอง

ความรับผิดชอบ เป็นคำที่ยิ่งใหญ่มาก และเป็นคำที่หลายๆ คนหลีกเลี่ยงหรือไม่ก็เบือนหน้าหนี ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของ “The Apprentice” เราจะได้เห็นผู้แข่งขันในรายการจำนวนนับไม่ถ้วนพยายามเอาตัวรอดจากสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วยการโทษเพื่อนร่วมงาน หรือปัจจัยภายนอกสำหรับความผิดพลาดของพวกเขา แน่นอนว่าการได้ดูคนพวกนี้สาละวนไปรอบๆ, ชี้นิ้วและโยนกลองให้คนอื่นเป็นเรื่องสนุก แต่นั่นไม่ใช่วิธีการทำงานในชีวิตจริง

ในโลกความเป็นจริง คุณต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของคุณ เช่นเดียวกับที่คุณฉลองชัยชนะ

ใครที่เป็นแฟนวัน แชมเปี้ยนชิพ จะรู้ได้ทันทีว่า หนึ่งในคำกล่าวสำคัญที่สุดที่นายชาตรี ศิษย์ยอดธง ประธานและซีอีโอของวัน แชมเปียนชิพ มักตอกย้ำอยู่เสมอในอาชีพของเขาก็คือ ความล้มเหลวเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในชีวิต คุณต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของตัวเอง เพราะนั่นคือความหมายของการเป็นมืออาชีพ

5) การสื่อสารสำคัญที่สุด

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด “The Apprentice: ONE Championship Edition” เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสาร บ่อยครั้งที่ความบกพร่องในการสื่อสารเป็นเหตุให้ทีมไม่ผ่านการทดสอบ การสื่อสารที่ไม่ดีเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาที่ตามมามากมาย

กี่ครั้งแล้วที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้คนแทบจะกินหัวกันเนื่องจากความเห็นไม่ลงรอย? เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลายครั้งเนื่องจากคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการนี้มองว่าความเห็นหรือข้อมูลของพวกเขาคือสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้น เสียงของพวกเขาจึงต้องดังที่สุด แน่นอนว่ามันไม่เวิร์กสำหรับทุกคน และบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในที่สุด

ในโลกความเป็นจริง ทีมที่ประสบความสำเร็จคือทีมที่สามารถสื่อสารกันได้เป็นอย่างดี บริษัทที่ยิ่งใหญ่สนับสนุนให้พนักงานร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน และเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานที่มีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image