กู๊ดบาย ‘รีโอ’ ฮัลโหล ‘มาริโอ’

กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น เจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ขโมยซีนในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโรของบราซิลอย่างหมดจด

ในการรับไม้ต่อที่ทั้งสร้างความประหลาดใจและประทับใจให้แก่คนทั่วโลก ด้วยการที่นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ วัย 61 ปีของญี่ปุ่น ลงทุนแต่งตัวเป็น “ซุปเปอร์มาริโอ” ตัวละครของวิดีโอเกมชื่อดังที่ถือเป็นแมสคอตของบริษัทผู้ผลิตเกมนินเทนโด โผล่ขึ้นมาจากท่อน้ำสีเขียวที่แฟนๆ วิดีโอเกมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

โซเชียลมีเดียพากันตื่นเต้น ฮือฮากับการแสดงบทบาทดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้มีบุคลิกเงียบขรึม โดยตั้งสมญานามใหม่ให้กับเขาว่า “ซุปเปอร์อาเบะ”

แนวคิดของญี่ปุ่นได้รับกระแสตอบรับที่ดีพอสมควร เนื่องด้วยฟีดแบ๊กจากสื่อและโลกโซเชียลส่วนใหญ่จะเป็นไปในเชิงบวก เช่น ซีเอ็นเอ็นพาดหัวว่า “มาริโอขโมยซีนในพิธีปิดโอลิมปิกเกมส์” ส่วนเดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ระบุว่า เป็นแนวคิดแปลกใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจ ชวนให้คิดถึงไอเดียพิธีเปิด “ลอนดอนเกมส์” ปี 2012 ซึ่ง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงร่วมแสดงในคลิปวิดีโอสั้นๆ กับ แดเนียล เคร็ก พระเอกจากหนังสายลับ “เจมส์บอนด์ 007” ด้วย

Advertisement

ขณะที่ชาวเน็ตบางคนชื่นชมว่า นี่เป็นการเปิดตัวผู้นำประเทศที่เท่ที่สุด บ้างบอกว่า แค่เอามาริโอกับแพคแมนมาเปิดตัวอย่างนี้ แค่นี้โตเกียวเกมส์ก็ดูท่าจะเหนือกว่ารีโอเกมส์แล้ว ขณะที่หลายคนก็ตั้งหน้าตั้งตารอชมบทบาทของคาแร็กเตอร์ดังต่างๆ จากวงการเกมและการ์ตูนของญี่ปุ่นในอีก 4 ปีข้างหน้า

ส่วนปฏิกิริยาจากชาวญี่ปุ่นเอง บางส่วนประทับใจที่นายกรัฐมนตรีของตนยอมทำอะไรแบบนี้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเห็นดีเห็นงามไปด้วย บางคนบอกว่า นายอาเบะมาแย่งซีนนักกีฬา บางคนไพล่ไปเรื่องการเมืองกับปัญหาหลายเรื่องในประเทศที่รัฐบาลของนายอาเบะยังจัดการไม่หมด โดยเฉพาะเรื่องโรงงานนิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมาซึ่งยังมีปัญหาสารกัมมันตรังสีรั่วซึมหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 ที่จนทุกวันนี้ยังแก้ไม่ตก แล้วโยงว่าเจาะท่ออย่างนี้ สารกัมมันตรังสีคงไหลผ่านแกนโลกไปถึงรีโอเดจาเนโรแล้ว

จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของอาเบะพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากอัตราเงินฝืดมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าวคือความพยายามสร้างรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนส่งออกวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศที่รู้จักกันในชื่อยุทธศาสตร์ “คูลเจแปน” ตามแนวคิด “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่ใช้ความน่าดึงดูดของวัฒนธรรม แทนที่จะใช้เศรษฐกิจหรือแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลในระดับโลก ซึ่งนอกจากอาหารญี่ปุ่นและศาสนาพุทธนิกายเซนแล้ว มังงะ อนิเมะ และวิดีโอเกม เป็นอีกแขนงหนึ่งในเสายุทธศาสตร์ของคูลเจแปน

Advertisement

และเมื่อกรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ดูเหมือนจะเป็นโอกาสอันดีในการยกระดับคูลเจแปนไปอีกขั้น ดังที่อาเบะเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในรีโอว่า “ผมยืมพลังของตัวละครเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงซอฟต์เพาเวอร์ของญี่ปุ่น”

ทำไมถึงต้องเป็น “มาริโอ”?

ตัวละครจากการ์ตูนและเกมชื่อดัง ทั้งโดราเอมอน กัปตันซึบาสะ เฮลโลคิตตี้ และแพคแมน ต่างก็ปรากฏตัวในวิดีโอพรีเซ็นเทชั่น แต่เห็นได้ชัดว่าไม่มีตัวละครไหนเลยที่เหมาะสมสำหรับการเป็นทูตของญี่ปุ่นในระดับโลกมากไปกว่ามาริโอ ตัวละครช่างประปาหนวดโค้งชาวอิตาลีตัวนี้ ที่เรียกได้ว่าน่าจะเป็นสินค้าส่งออกด้านวัฒนธรรมอันเป็นที่รู้จักดีที่สุดของญี่ปุ่น

ทีมผู้จัดงานโอลิมปิก 2020 ระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า ไอเดียในการใช้ซุปเปอร์มาริโอเกิดขึ้นระหว่างช่วงการระดมความคิด ขณะที่เจ้าหน้าที่ของนินเทนโดระบุว่าไม่ขัดข้องหากรัฐบาลจะขอยืมตัวละครดังกล่าวไปใช้

ซุปเปอร์มาริโอถือเป็นแฟรนไชส์เกมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของเครื่องแฟมิลี่คอมพิวเตอร์หรือแฟมิคอม ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเกมคอนโซลยุคแรกๆ ในทศวรรษที่ 1980

จุดกำเนิดของมาริโอย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2524 (ค.ศ.1981) เมื่อดองกี้คอง เปิดตัวเป็นเกมอาร์เคดหรือเกมตู้ และกลายเป็นเกมที่ขายดีที่สุดอย่างรวดเร็ว ในเกมดังกล่าวตัวเอกคือ “จัมพ์แมน” ที่ต่อมากลายมาเป็นมาริโอ ต้องพยายามช่วยหญิงสาวจากลิงยักษ์ซึ่งก็คือดองกี้คองนั่นเอง

ซุปเปอร์มาริโอเกิดขึ้นหลังจากนั้น 4 ปี โดยเป็นเกมที่ขายเป็นแพคเกจมาพร้อมกับเครื่องแฟมิคอม นับเป็นเกมประเภทเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างที่จุดชนวนให้เกิดความนิยมในเกมแนวนี้ที่ตามออกมาเป็นจำนวนมาก

จนถึงปัจจุบันนี้ มีเกมที่มาริโอเป็นตัวละครหลักรวมแล้วมากกว่า 100 เกม ตั้งแต่ดองกี้คอง ไปจนถึงซุปเปอร์มาริโอคาร์ท รวมถึงยังมีอีกมากที่มาริโอไปปรากฏตัว

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยเอ็นพีดีระบุว่า ซุปเปอร์มาริโอบราเธอร์ส เป็นแฟรนไชส์วิดีโอเกมที่ขายดีที่สุดในโลก โดยมียอดจำหน่ายมากกว่า 490 ล้านชุดนับตั้งแต่ปี 2538

ยังไม่มีสิ่งไหนรับประกันได้ว่าญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จตามเป้าที่วางไว้ในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเมื่อโตเกียว 2020 มาถึง

แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า คูลเจแปนจะเป็นตัวจุดชนวนที่สำคัญอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image