‘กรุ๊ป ออฟ เดธ’ กับคอนเซปต์ช่วยรอดชีวิต

โปรตุเกสต้องลุ้นเข้ารอบในนัดสุดท้าย (REUTERS/Alexander Hassenstein)

‘กรุ๊ป ออฟ เดธ’ กับคอนเซปต์ช่วยรอดชีวิต

หนึ่งในกลุ่มที่แฟนบอลและสื่อทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดในศึก ยูโร 2020 ครั้งนี้ ย่อมไม่พ้น “กลุ่มเอฟ” ที่ใครๆ ก็พร้อมใจกันยกให้เป็น Group of Death หรือ “กลุ่มแห่งความตาย” ของทัวร์นาเมนต์
เนื่องด้วยกลุ่มเอฟประกอบไปด้วยทีมระดับท็อป 12 ของโลกถึง 3 ทีม ได้แก่ ฝรั่งเศส แชมป์โลกทีมล่าสุด ทีมอันดับ 2 ของโลก, โปรตุเกส แชมป์เก่ายูโร 2016 ทีมอันดับ 6 ของโลก, เยอรมนี อดีตแชมป์โลก 4 สมัย และแชมป์ยูโร 3 สมัย ทีมอันดับ 12 ของโลก

จะมีก็แค่ ฮังการี ทีมอันดับ 37 ของโลกเท่านั้นที่หลายคนมองว่าเป็นไม้ประดับ ทีมแจกแต้มของกลุ่ม

แต่พอถึงเวลาจริง หลังผ่านไป 2 นัด อะไรๆ ก็ไม่แน่นอนอีกแล้ว สถานการณ์กลุ่มนี้ทุกทีมมีแต้ม ฮังการีที่ว่าจะเป็นไม้ประดับ นัดแรกยันโปรตุเกสอยู่ถึงเกือบจบเกม ก่อนโดนยิง 3 ประตูรวด นัดสองทำเซอร์ไพรส์ยิงนำแชมป์โลกได้เสียอีก

ส่วนเยอรมนี หลังเสียความมั่นใจกับการพ่ายให้ฝรั่งเศสในนัดเปิดสนาม นัดต่อมาก็โชว์ฟอร์มดุถล่มแชมป์เก่า 4-2

Advertisement

ตอนนี้ทุกทีมต่างยังมีลุ้นเข้ารอบ โอกาสมากน้อยแตกต่างกันไป และต้องไปวัดกันจนถึงนาทีสุดท้ายของการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม

สมกับที่เป็น “กรุ๊ป ออฟ เดธ” อย่างแท้จริง!

ทีมชาติฮังการียังพอมีลุ้นในกลุ่มเอฟ (REUTERS/Laszlo Balogh)

ว่าด้วยเรื่องคอนเซปต์ “กลุ่มแห่งความตาย” ต้องย้อนความไปถึง ฟุตบอลโลก 1958 ที่ประเทศสวีเดน ตอนนั้นสื่อท้องถิ่นเรียกกลุ่ม 4 ที่ประกอบด้วย บราซิล อังกฤษ สหภาพโซเวียต และออสเตรีย ว่า “Giganernas Kamp” เป็นภาษาสวีดิช หมายถึง “สงครามของเหล่ายักษ์” เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดถึงกลุ่มที่มีแต่ทีมโหดๆ มารวมกัน

Advertisement

ส่วนคำว่า “กรุ๊ป ออฟ เดธ” จริงๆ เกิดเมื่อ ฟุตบอลโลก 1970 โดยนักข่าวชาวเม็กซิกันรายหนึ่งที่ให้คำจำกัดความนี้กับกลุ่ม 3 ที่มีบราซิล อดีตแชมป์ 2 สมัย, อังกฤษ (แชมป์เก่า 4 ปีก่อน), เชกโกสโลวาเกีย (รองแชมป์ปี 1962) และโรมาเนีย ว่า “Grupo de la Muerte”

ต่อมาในปี 1982 ว่ากันว่ากลุ่มซีในการแข่งขันฟุตบอลโลกคราวนั้นคือกลุ่มที่โหดหินที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีทั้งอาร์เจนตินา บราซิล และอิตาลี โดยทั้ง 3 ทีมต้องแย่งโควต้าเข้ารอบที่มีเพียงหนึ่งเดียว คำว่า “กรุ๊ป ออฟ เดธ” จึงนำกลับมาใช้อีก

ปรากฏว่าปีนั้น หลังอิตาลีเอาชนะบราซิลในรอบแรก 3-2 กุนซือ เอ็นโซ่ เบียร์โซต ของอัซซูรี่ถึงกับเอ่ยปากว่า “รู้สึกเหมือนเราเป็นแชมป์แล้ว” และสุดท้าย พวกเขาก็ก้าวไปคว้าแชมป์ปีนั้นได้จริงๆ

หลังจากนั้น นับตั้งแต่เวิลด์คัพปี 1986 เป็นต้นมา คำว่ากลุ่มแห่งความตาย หรือคอนเซปต์ทำนองนี้ก็กลายเป็นคำติดปากของสื่อและแฟนบอล รวมทั้งกระจายไปใช้ในทัวร์นาเมนต์อื่นๆ หรือแม้กระทั่งกีฬาอื่นๆ ด้วย

ส่วนฟุตบอลยูโรนั้น เนื่องจากระหว่างปี 1980-1992 มีแค่ 8 ทีมเข้าร่วม การที่ทีมเหล่านี้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้จึงถือว่าอยู่ในกลุ่มหัวกะทิแล้วจริงๆ ไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็โหดหินด้วยกันทั้งสิ้น

อินทรีเหล็กฟอร์มดีในนัดที่ 2 (Photo by CHRISTOF STACHE / POOL / AFP)

ใน ยูโร 1992 สกอตแลนด์อยู่กลุ่มบีร่วมกับเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และซีไอเอส (ทีมรวมเฉพาะกิจของชาติที่แตกจากสหภาพโซเวียต) ทำเอา แอลลี่ แม็คคอยสต์ กองหน้าวิสกี้โอดครวญว่า นี่เป็นกลุ่มสุดโหดอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบของฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ยุคใหม่ เป็นเรื่องยากที่จะเกิดกรณี “กรุ๊ป ออฟ เดธ” แบบที่ทุกทีมโหดหมด ดีกรีหรูหรากันหมดเหมือนอย่างตอนฟุตบอลโลก 1982 อีก

เนื่องจากทัวร์นาเมนต์สมัยนี้เพิ่มจำนวนทีมที่เตะมากขึ้น มีการแบ่งโถจับสลากเรียงตามระดับผลงาน จึงแยกทีมใหญ่ๆ ออกจากกัน ขณะเดียวกันก็กระจายทีมเล็กๆ ไปอยู่หลายๆ กลุ่ม

แต่การเป็นไม้ประดับ หรือถูกมองว่าจะต้องเป็นทีมแจกแต้มก่อนทัวร์นาเมนต์ก็ทำให้ทีมเล็กๆ หลายทีมฮึดสู้ หรือทุ่มสุดตัวจนสร้างเซอร์ไพรส์ได้บ่อย

อย่าง ฟุตบอลโลก 1990 กลุ่มบี มีอาร์เจนตินา โรมาเนีย โซเวียต และแคเมอรูน ตอนนั้น 3 ทีมจะได้เข้ารอบต่อไป ใครๆ ก็คิดว่าแคเมอรูนจะโดนเขี่ยร่วง แต่สุดท้ายเป็นโซเวียตที่ไม่ได้ไปต่อ

และความที่รูปแบบการแบ่งกลุ่มทัวร์นาเมนต์ไม่เอื้ออย่างที่กล่าวข้างต้น ทำให้หลายครั้งพูดไม่ได้เต็มปากว่านี่จะเป็นกลุ่มแห่งความตาย แต่พอมีบอลทัวร์นาเมนต์ทีไร บางทีสื่อก็ยังฝืนเรียกหรือถามหากลุ่มที่น่าจะเข้าคอนเซปต์นี้เพื่อสร้างความน่าสนใจ ชวนให้แฟนบอลติดตาม

กระทั่งมายูโรหนนี้ ด้วยความที่ฝรั่งเศสไปอยู่โถสอง ส่วนโปรตุเกสอันดับโลกหลุดไปไกลตอนจับสลาก ทำให้ทีมแข็งๆ ถึง 3 ทีมโคจรมาพบกัน

ขณะที่ฮังการีเอง แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ย้อนไปราวยุค 50 ก็ถือเป็นทีมชั้นนำทีมหนึ่งของโลก ชื่อชั้นในอดีตจึงพอขายได้และเพียงพอจะทำให้ยูโร 2020 มีกลุ่มแห่งความตายที่น่าติดตาม

อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎการหาทีมเข้ารอบทั้งแชมป์และรองแชมป์กลุ่ม บวกกับอันดับ 3 ที่ดีที่สุด 4 จาก 6 ทีม ทำให้มีโอกาสสูงที่ 3 ทีมใหญ่ของกลุ่มเอฟจะกอดคอเข้ารอบกันหมด

ถึงจะเรียกว่าเป็น “กลุ่มแห่งความตาย” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซี้แหงแก๋เสียทีเดียว!

คีเลียน เอ็มบัปเป้ ซุปเปอร์สตาร์ทีมชาติฝรั่งเศส (REUTERS/Kai Pfaffenbach)

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image