โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดทางเอสเอ็มอี ฝากร้านช่วงบอลยูโร

โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดทางเอสเอ็มอี ฝากร้านช่วงบอลยูโร

การจับมือและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านกีฬากับการทำการค้า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ขึ้นอยู่ว่าวิธีการที่จัดทำนั้น เกิดประโยชน์ได้กว้างขวางแค่ไหน

ในช่วงการจัดแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ที่ประเทศไทยก็ได้มีการถ่ายทอดสดๆ ติดขอบสนาม ก็จะได้เห็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้ประโยชน์ของการกีฬากับการค้าขาย และเป็นปรากฏการณ์ใหม่

เมื่อ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตรองเท้า แอโร่ซอฟต์ เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2020 แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ประกาศเปิดโอกาสให้กลุ่มกิจการรายย่อยได้ใช้พื้นที่ในการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการที่ทำอยู่ฟรี ในช่วงแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ที่สามารถโฆษณาสินค้าหรือบริการของกิจการไทยรายย่อย รวมถึงร้านค้าเล็กๆ สถานสงเคราะห์ หรือ มูลนิธิต่างๆ โดยถ่ายคลิปโฆษณาเพื่อแพร่ภาพในช่วงเวลาระหว่างพักช่วงการแข่งฟุตบอล ไม่แค่โปรโมตสินค้าหรือบริการของเจ้าของสินค้าหรือบริการ เป็นการช่วยเหลือกิจการรายย่อยของคนไทย ที่กำลังประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

Advertisement

“ธุรกิจรายย่อยหรือเอสเอ็มอี มีสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเรื่องปากท้องของคนไทยจำนวนมาก ผมไม่เพียงต้องการให้คนที่ดูบอลทางบ้านได้รับความสุขเท่านั้น ผมอยากให้ทุกคนในประเทศมีส่วนร่วมกับความสุขนี้ด้วย จึงมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือทุกกิจการไทยรายย่อย ด้วยการแบ่งแอร์ไทม์ช่วงบอลยูโรให้ทุกกิจการไทยรายย่อยมาออกอากาศ ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยที่ดูฟุตบอลหลายล้านคนได้รู้จัก สนใจ และอุดหนุนโดยไม่คิดมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายใดๆ

“มีวิธีการเพียงแค่ให้อัดคลิปโฆษณากิจการ ซึ่งสามารถอัดคลิปด้วยสมาร์ทโฟนก็ได้ ความยาวไม่เกิน 15 วินาที ระบุถึงกิจการ สินค้าและบริการนั้นๆ ว่ามีรายละเอียดอย่างไร มีความน่าสนใจอย่างไร แต่ห้ามเป็นธุรกิจผิดกฎหมายและผิดศีลธรรมโดยเด็ดขาด หลังจากนั้นให้ส่งคลิปไปที่เพจเฟซบุ๊ก สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หรือโทร 06-1028-4009 และทางกรรมการของสมาพันธ์ จะช่วยคัดเลือกเพื่อนำมาออกอากาศต่อไป และสามารรถรับชมซ้ำได้ที่เพจ aerosoft arch support หรือ the states times โดยเปิดโอกาสให้กิจการทั่วประเทศ”

ด้าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า ทางสมาพันธ์ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อทำการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติและการมีตัวตนจริงของผู้ประกอบการ ที่เน้นเอสเอ็มอีและรายย่อยจริงๆ รวมถึงมูลนิธิ รัฐวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสินค้าโอท็อป ดูในรายที่มีสินค้าหรือบริการที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ 1-2 ล้านบาทก่อนและเป็นรายที่ประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงของผู้ซื้อ อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงการโฆษณาได้น้อย เงื่อนไขต้องเป็นทำกิจการที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่สร้างความเสียหายหรือขัดต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพียงถ่ายคลิปแบบไม่มีโปรดักชั่นที่เลิศหรูอะไร ความยาวต่อไม่เกิน 15 วินาทีต่อราย เมื่อผ่านการคัดกรองแล้วจะส่งไปที่สถานที่ถ่ายทอด เพื่อเขาพิจารณาเห็นชอบก็จะนำเผยแพร่ 1 ครั้ง โดยไม่สามารถเลือกวัน ช่วงเวลา หรือคู่แข่งขัน

Advertisement

ทั้งนี้ เป็นชาวบ้านที่มีการค้าสมัครเข้ามาได้ แต่เรามองว่าหากเป็นร้านค้าที่สามารถจัดส่ง (ดิลิเวอรี) ได้ด้วยก็จะดี จากที่ได้เปิดรับสมัครผ่านทุกช่องทางของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพียงวันแรกที่เริ่มประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พบว่ามีผู้ยื่นสมัครเข้ามาถึงประมาณ 500 ราย เราต้องใช้เวลาคัดกรองผ่านเอสเอ็มอีจังหวัดเอสเอ็มอีอำเภอว่ากิจกรรมนั้นมีตัวตนและทำธุรกิจอย่างในคลิปหรือไม่ เช่น ขายกล้วยแขก ต้องไปดูว่าผลิตเองจริง ได้มาตรฐานในเรื่องสุขอนามัยและตรารับรอง ขายอาหารต้องดูว่าพร้อมส่งถึงที่พักด้วยหรือไม่ เพราะหากเป็นร้านทั่วไปแบบไม่จัดส่ง จะได้แค่พื้นที่จำนวน การประชาสัมพันธ์อาจไม่ต้องใช้วงกว้างต้องขึ้นทีวี อย่างนี้ต้องคิดหลายเรื่องที่จะเกิดประโยชน์กันจริงๆ เมื่อคัดกรองแล้ว จากนั้นจะส่งเข้าคณะกรรมการของสถานีที่เป็นแกนถ่ายทอด

คาดว่าล็อตแรกน่าจะได้ชมในวันที่ 23 มิถุนายนนี้

“เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของกิจการเล็กๆ ได้ทำคลิปถ่ายของตนเอง และถูกนำไปเผยแพร่ช่วงแข่งขันบอลระดับโลก คนไทยทั้งประเทศก็จะได้เห็นคลิปโฆษณาด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กมีช่องทางประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงทุกบ้านได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากประเมินหลักการค้าปกติ ค่าโฆษณานาทีหนึ่งเป็นแสนบาท ยิ่งเป็นช่วงเวลาลิขสิทธิ์ยิ่งราคาสูงขึ้น ถ้าคิดจาก 1 แสนบาท แบ่งเป็น 15 นาทีก็น่าจะใช้เงิน 2-3 หมื่นบาทต่อรายเพื่อซื้อเวลาโฆษณา แต่ครั้งนี้เขาไม่ได้เสียเงินเลยสักบาท ฟรี เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าอาจไม่ได้ทุกรายที่สมัครเข้ามา จากการคำนวณ 15 วินาทีต่อราย ได้เวลาโฆษณา 5 นาทีต่อคู่ ก็จะประมาณ 20 เอสเอ็มอีต่อคู่ รวมทั้งการแข่งขัน 20 คู่ ก็ประมาณ 400 เอสเอ็มอี แม้ตัวเลขจะไม่สูงแต่ก็มีโอกาสที่เอสเอ็มอีรายย่อยจะได้ลุ้น”

แต่อย่างไรก็ตาม ทางสมาพันธ์จะต่อยอดการใช้ประโยชน์ในช่องทางการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ โดยนำทุกคลิปที่ได้รับการแพร่ภาพในช่วงแข่งขันหรือไม่ได้รับแพร่ภาพ ไปลงในเฟซบุ๊กของสมาพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้ชมซ้ำหรือชมกิจการอื่นๆ ด้วย อีกทั้งนำไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม starmarket ที่สมาพันธ์ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้เข้าร่วมก็จะได้รับข่าวสาร เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นั่นหมายถึงการได้ต่อยอดธุรกิจ การขยายธุรกิจ และผ่านอุปสรรค รวมถึงลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอีกทางหนึ่ง

แม้การแข่งขันยูโร 2020 จบลง รู้ผลว่าใครแพ้ ใครชนะ แต่สำหรับ 400 เอสเอ็มอี ถือเป็นจุดเริ่มต้นจากมดตัวเล็ก ที่จะสามารถเข้าสู่เวทีธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ได้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image