ใบผ่าน’โด๊ปยา’? กับปฏิบัติการโต้กลับจาก’รัสเซีย’

ซีโมน ไบล์ส (แฟ้มภาพ AFP)

สัปดาห์ก่อนวงการกีฬาโลกมีประเด็นใหญ่ให้ฮือฮา เนื่องด้วยกลุ่มแฮกเกอร์ชาวรัสเซียที่ใช้ชื่อว่า “แฟนซี แบร์ส” (Fancy Bears) ได้เจาะเข้าฐานข้อมูลของ องค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (วาด้า) นำบันทึกการแพทย์และการตรวจสารต้องห้ามของนักกีฬาโลกตะวันตกออกมาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตหลายราย

แฟนซี แบร์ส บอกว่า วัตถุประสงค์ของพวกเขาคือ เพื่อเปิดโปงให้โลกรู้ว่า นักกีฬาโลกตะวันตกคว้าชัยชนะในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล หรือรายการระดับโลกอื่นๆ อย่างมีมลทิน เพราะหลายคนไม่ผ่านการตรวจสารต้องห้าม แต่อาศัยช่องโหว่อย่างกฎ ข้อยกเว้นเพื่อการรักษา (ทียูอี) เอาตัวรอดไปได้

หรือตีความได้ (ตามที่เหล่าแฮกเกอร์กล่าวอ้าง) ว่า ทียูอีก็คือ “ใบอนุญาตให้โด๊ปยา” หรือการ “โด๊ปยาอย่างถูกกฎ” นั่นเอง!

แฮกเกอร์กลุ่มนี้เริ่มต้นด้วยการปล่อยข้อมูลการตรวจสารต้องห้ามของนักกีฬาดังทีมชาติสหรัฐอเมริกาในรีโอเกมส์ ที่เด่นๆ คือ สองพี่น้องนักเทนนิสดัง วีนัส-เซเรน่า วิลเลียมส์ และ ซีโมน ไบล์ส นักยิมนาสติกสาวดีกรี 4 เหรียญทองโอลิมปิก

Advertisement

วันต่อมาก็เปิดข้อมูล 2 นักจักรยานดีกรีแชมป์ ตูร์ เดอ ฟร้องซ์ ของสหราชอาณาจักรอย่าง แบรดลีย์ วิกกิ้นส์ และ คริส ฟรูม, นักเทนนิสสาวชาวเช็กอดีตแชมป์แกรนด์สแลม วิมเบิลดัน 2 สมัย เปตร้า ควิโตว่า, เจ้าของเหรียญทองขว้างจักรโอลิมปิกเกมส์ 2012 โรเบิร์ต ฮาร์ติ้ง ของเยอรมนี

รวมแล้ว 2 วันแรกมีนักกีฬาที่โดนเปิดเผยข้อมูลการแพทย์ แบ่งเป็นชาวอเมริกัน 14 คน, สหราชอาณาจักร 5 คน, เยอรมัน 5 คน และเดนมาร์ก, รัสเซีย, โปแลนด์, เช็ก, โรมาเนีย อย่างละ 1 คน ในจำนวนนี้มีนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกเกมส์ 11 คนด้วยกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน แฮกเกอร์กลุ่มเดิมก็สะเทือนวงการอีกครั้งด้วยการเปิดชื่อนักกีฬาเพิ่มอีก 26 ราย ในจำนวนนี้มีคนดังอย่าง โม ฟาราห์ นักวิ่งระยะไกลดีกรี 4 เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ของสหราชอาณาจักร, จัสติน โรส อดีตโปรกอล์ฟมือ 1 โลก เจ้าของเหรียญทองรีโอเกมส์จากเมืองผู้ดี และ ราฟาเอล นาดาล อดีตนักเทนนิสมือ 1 โลกชาวสเปน

ทียูอี นั้นเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นของวาด้าซึ่งอนุญาตให้นักกีฬาที่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคหรืออาการต่างๆ ตามคำสั่งของแพทย์สามารถใช้ยาที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสารต้องห้ามได้ ด้วยการนำใบรับรองแพทย์ไปแจ้งให้องค์กรที่รับผิดชอบทราบ เช่น สหพันธ์กีฬานานาชาติ หรือองค์การต่อต้านสารต้องห้ามประเทศนั้นๆ เมื่อองค์กรเหล่านี้ตรวจสอบข้อมูลและอนุญาตให้สิทธิยกเว้นแก่นักกีฬาคนใดแล้ว จะต้องแจ้งข้อมูลให้วาด้าทราบเพื่อขออนุญาตอีกขั้นตอนหนึ่ง (นักกีฬาไม่สามารถยื่นเรื่องไปยังวาด้าได้โดยตรง)

วีนัส-เซเรน่า วิลเลียมส์ (แฟ้มภาพ AFP)
วีนัส-เซเรน่า วิลเลียมส์ (แฟ้มภาพ AFP)

กรณีของเซเรน่าต้องใช้ยาแรงอย่างเพรดนิโซโลน, เมทธิลเพรดนิโซโลน, ไฮโดรมอร์โฟน, อ๊อกซิโคโดน และเพรดนิโซน เพื่อรักษาอาการเจ็บกล้ามเนื้อและแก้อักเสบ ส่วนวีนัสได้รับยกเว้นการใช้ยาเพื่อรักษากลุ่มอาการโจเกรน หรือโรคปากแห้ง-ตาแห้งที่เจ้าตัวเปิดเผยว่าเป็นมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว

ส่วนซีโมน ไบล์ส นักยิมสาวชื่อดังพบยา ริทาลิน ในช่วงแข่งขันรีโอเกมส์ จนเจ้าตัวต้องรีบออกมาชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ว่า ใช้เพื่อรักษาโรคสมาธิสั้นมานานแล้ว ขณะที่สหพันธ์ยิมนาสติกแห่งสหรัฐก็ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไบล์สทำถูกต้องตามกฎทุกอย่างเช่นกัน

ด้านข้อมูลของ 2 นักปั่นดังของเมืองผู้ดีนั้น พบว่าวิกกิ้นส์ได้รับอนุญาตให้ใช้สารต้องห้ามระหว่างปี 2008-2013 ในช่วงระหว่างการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงศึกตูร์ เดอ ฟร้องซ์ ปี 2011 และจิโร่ ดิตาเลีย ปี 2013 ส่วนฟรูมใช้สารกลุ่มสเตียรอยด์ เพรดนิโซโลน เป็นระยะๆ ระหว่างปี 2013-2014

ขณะที่ข้อมูลของนักกีฬาคนอื่นๆ ก็มีรายละเอียดของการตรวจพบสารต้องห้ามแต่ละอย่างแตกต่างกันออกไป

คริส ฟรูม (แฟ้มภาพ AFP)
คริส ฟรูม (แฟ้มภาพ AFP)

อันที่จริงก่อนที่กลุ่มแฟนซี แบร์ส จะนำข้อมูลเหล่านี้มาแฉ วาด้าออกแถลงการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าโดนกลุ่มแฮกเกอร์จากรัสเซียพยายามเจาะเข้าฐานข้อมูลขององค์กร และหลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ดังกล่าวออกมา วาด้าก็แถลงประณามการกระทำของแฮกเกอร์นิรนามเหล่านี้ว่า เป็นอาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักกีฬา โดยย้ำว่านักกีฬาที่ถูกเผยแพร่ข้อมูลทำถูกต้องตามกฎระเบียบและขั้นตอนทุกอย่าง ไม่ได้ละเมิดกฎควบคุมการใช้สารต้องห้ามใดๆ เลย

ส่วนสื่อหลายสำนักและนักวิเคราะห์เชื่อว่า การแฮกข้อมูลครั้งนี้เป็นปฏิบัติการตอบโต้โลกตะวันตกของรัสเซีย หลังจากนักกีฬาแดนหมีขาวจำนวนมากถูกแบนห้ามร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016 และห้ามไม่ให้เข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ทั้งหมด สืบเนื่องจากรายงานของคณะกรรมการอิสระวาด้า เปิดโปงขบวนการโด๊ปยาภายในประเทศซึ่งรัฐบาลรู้เห็นเป็นใจ (รัสเซียอ้างว่าเป็นการโจมตีโดยมีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง)

ขณะที่รัฐบาลรัสเซียแถลงยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการแฮกข้อมูลครั้งนี้แต่อย่างใด

ที่น่าสนใจคือ นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่า ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาไม่ถือว่าผิดกฎการใช้สารต้องห้ามใดๆ ก็จริง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การที่มีนักกีฬาระดับแชมป์จำนวนมากได้รับอนุญาตให้ใช้สารเหล่านี้ย่อมเกิดคำถามในความรู้สึกของแฟนกีฬาว่า วงการกีฬาโลกขาวสะอาดหรือบริสุทธิ์ยุติธรรมมากเพียงใด? หรือมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในระบบจริงหรือไม่?

เพราะต้องไม่ลืมว่า ทียูอีนั้นขอเพียงมีใบรับรองจากแพทย์ที่ให้การรักษาก็สามารถยกเว้นให้ใช้ยาได้แล้ว และสารหลายตัวที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็ส่งผลให้นักกีฬาที่ได้รับยา “ได้เปรียบ” เหนือคู่แข่งไม่มากก็น้อย เช่น ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายมีความอึดหรือทนทานมากขึ้น

ครั้งหนึ่ง ไทเลอร์ แฮมิลตัน อดีตนักจักรยานชาวอเมริกัน เคยออกมาแฉว่า มีนักปั่นหลายคนใช้ทียูอีเป็นช่องโหว่ในการโด๊ปยา โดยอาศัยความร่วมมือจากแพทย์สร้างอาการบาดเจ็บหรือปัญหาสุขภาพปลอมๆ ขึ้นมา เช่น เจ็บเข่าบ้าง อาการปวดกล้ามเนื้อบ้าง แล้วอนุญาตให้ใช้สารต้องห้ามเพื่อรักษา

กรณีของ แลนซ์ อาร์มสตรอง อดีตนักปั่นฉาวชาวอเมริกันซึ่งมาโดนจับโด๊ปย้อนหลัง ก็ว่ากันว่า สหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ใช้ช่องโหว่ของทียูอีช่วยปล่อยผ่านให้เขาใช้สารโด๊ปหลายต่อหลายครั้ง

และในจำนวนข้อมูลที่ถูกแฮกเกอร์เปิดเผยออกมา กรณีของไบล์สกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เพราะโรคสมาธิสั้นนั้นยังเป็นที่ถกเถียงในวงการแพทย์บางกลุ่มว่าใช้ยารักษาได้ผลมากน้อยเพียงใด โดย เมเจอร์ลีก เบสบอล ของสหรัฐ โดนจับตามองมานานหลายปีแล้วว่า นักเบสบอลอาชีพขอยกเว้นตามกฎทียูอีเพราะโรคสมาธิสั้นมากผิดปกติ จนเกิดกระแสเหน็บแนมในช่วงหนึ่งว่า ถ้าอยากโด๊ปอย่างถูกกฎ ให้อ้างว่าเป็นโรคสมาธิสั้นเสีย ทุกอย่างจะผ่านฉลุย!

แน่นอนว่าการแจ้งข้อมูลเหล่านี้เพื่อขออนุญาตรับการยกเว้น ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจของนักกีฬาและแพทย์ที่ให้การรักษา ซึ่งไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าเป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และไม่อาจเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าทุกเคสที่ผ่านการอนุมัติให้เข้ากลุ่มทียูอีนั้น เป็นอาการเจ็บที่มีอยู่จริงทั้งหมด

ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามถึงช่องโหว่และจุดอ่อนของระบบ ซึ่งย้อนกลับไปตั้งแต่ผู้ออกกฎและองค์กรที่รับผิดชอบอย่างวาด้า โดยเฉพาะในยุคที่วงการกีฬากำลังกลายเป็นที่กังขาอย่างในปัจจุบัน

และบางทีอาจถึงเวลาต้องสังคายนากฎระเบียบต่างๆ ใหม่ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดให้โลกกีฬาก้าวต่อไปบนความศรัทธาของผู้ชม

…แน่นอนว่าการกระทำของกลุ่มแฮกเกอร์รัสเซียครั้งนี้ผิดกฎหมายในทุกๆ กรณี แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า ข้อมูลที่พวกเขาเปิดเผยออกมาทำให้หลายคนได้ฉุกคิดว่า เราไม่สามารถชี้เป้าปัญหาไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image