สกู๊ปหน้า 1 : ไทม์ไลน์วาด้า ‘แบน’ ไทย ภารกิจกู้ศักดิ์ศรีคนกีฬา

สกู๊ปหน้า 1 : ไทม์ไลน์วาด้า ‘แบน’ ไทย ภารกิจกู้ศักดิ์ศรีคนกีฬา

สั่นสะเทือนวงการกีฬารอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นประเด็นที่ องค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า) ประกาศลงโทษแบนประเทศไทยห้ามจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ และใช้ธงชาติไทยในการร่วมแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เป็นต้นไป

ถ้อยแถลงของวาด้าผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ไม่ให้การรับรองไทย, เกาหลีเหนือ, อินโดนีเซีย ในการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค ทวีป หรือระดับโลก เป็นเวลา 1 ปี โดยอินโดนีเซียและเกาหลีเหนือถูกแบนเนื่องจากศูนย์ตรวจหาสารต้องห้ามในประเทศไม่มีอุปกรณ์และเครื่องมือในการตรวจหาสารต้องห้ามที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนไทยถูกแบนเพราะไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของวาด้า ไม่เกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจสารต้องห้ามของประเทศไทย

การประกาศดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่ วาด้าปฏิบัติการกระชากคอประเทศไทยไปตบกลางสี่แยกไฟแดงของวงการกีฬาโลก เหมือนที่นักกีฬารัสเซียโดนแบนจนต้องใช้ธง ROC เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 “โตเกียวเกมส์”

Advertisement

เช่นเดียวกัน การโดนแบนของประเทศไทยไม่ได้ส่งผลที่ตัวนักกีฬา เพราะนักกีฬายังสามารถเข้าร่วมแข่งขันทุกมหกรรมกีฬาได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถใช้ “ธงชาติไทย” บนอกเสื้อ รวมถึงธงชาติไทยหากมีแข่งขันมหกรรมกีฬาในห้วงนี้จะต้องใช้ธง “TOC” ทดแทนจนกว่าไทยเราจะแก้ไขปัญหาตามที่วาด้าเรียกร้องจนลุล่วงและได้รับการ “ปลดโทษแบน” จริงอยู่ว่า นักกีฬายังสามารถแข่งขันได้

แต่ในเรื่องของ “ศักดิ์ศรี” เรื่องความสง่างามต่อสายตาชาวโลกของทัพนักกีฬาไทยถูกด้อยค่าลงไป

เรื่องราวยุ่งเหยิงดังกล่าว เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 วาด้าโดย วิโทลด์ บันก้าประธานคนปัจจุบัน ลงนามส่งหนังสือมาเตือนประเทศไทยแล้วว่า วาด้าได้ทำการตรวจสอบ พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ของประเทศไทยแล้วพบว่ามีข้อกำหนดในบางมาตราที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกฉบับล่าสุด ปี ค.ศ.2021 พร้อมกับขีดเส้นตายให้เวลา 3 เดือน ให้ไทยแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555

Advertisement

สองเรื่องที่วาด้าต้องการให้ไทยดำเนินการแก้ไขคือ หมวดหมู่ว่าด้วยเรื่องบทลงโทษนักกีฬา หรือบุคลากรกีฬาที่มีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมให้นักกีฬาใช้สารต้องห้ามจนถูกตรวจพบนั้น ยังเบาเกินไป

อีกข้อที่สำคัญคือ ให้หน่วยงานที่วาด้าให้การรับรองในการดำเนินการเรื่องการเก็บตัวอย่างสารต้องห้ามในเมืองไทยอย่าง “สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา” บริหารงานเป็น “อิสระ” แยกออกจากองค์กรภาครัฐที่กำกับดูแลอยู่ในปัจจุบันอย่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ข้อเท็จจริงกระบวนการขั้นตอนแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ต้องใช้ระยะเวลานาน 1-2 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ

ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา คีย์แมนกีฬาไทยต้องใช้วิธีเจรจาชี้แจงกับทางวาด้ามาอย่างตลอดเพราะไทยสุ่มเสี่ยงที่จะโดนแบนในโอลิมปิกเกมส์ 2020 เหมือนประเทศรัสเซีย จนท้ายที่สุดไทยเราเอาตัวรอดมาได้ชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด

แต่หลังจากจบ “โตเกียวเกมส์” วาด้าก็ลงดาบประกาศโทษแบนประเทศไทยทันที…!!! เกือบ 1 ปีที่ผ่านมาที่วาด้าแจ้งเรื่องให้ไทยแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ดำเนินการ กกท.รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการขอความห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ไปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564

มติ ครม.รับทราบว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตด้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 โดยเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกที่บังคับใช้ทั่วโลกทุกชนิดกีฬา เช่น การกำหนดให้หน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมการใช้สารต้องห้ามของประเทศไทยเป็นหน่วยงานอิสระ แก้ไขบทนิยามเกี่ยวกับสารต้องห้ามทางการกีฬา เป็นต้น

ซึ่งหากไทยดำเนินการแก้ไขกฎหมายล่าช้า จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งนักกีฬาไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ หรือเป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาระดับนานาชาติได้ อันจะทำให้กระทบต่อวงการกีฬาของประเทศ และภาพลักษณ์ของไทยต่อนานาประเทศ รวมทั้งอาจสูญเสียมูลค่าทรัพย์สินทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก จึงสมควรแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วภายใน 3-4 เดือน

ครม.มีความเห็นมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กกท. และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก โดยให้พิจารณารูปแบบความเหมาะสมที่จะตราเป็นกฎหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญ หรือตราเป็น พ.ร.ก.ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ แล้วนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไปโดยเร็ว

สรุปง่ายๆ ให้เข้าใจคือ หากไทยจะดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 อาจล่าช้าเกินไปจึงเลือกใช้วิธีทำเป็น พ.ร.ก.ซึ่งจะสามารถทำได้ทันที รวดเร็วกว่า ความเสียหายของไทยในวงการกีฬาโลกจะเสียหายน้อยกว่าโดยทุกฝ่ายหวังว่าเราจะใช้เวลาอีก 3-4 เดือนนับจากนี้หรือประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ไทยจะได้รับการ “ปลดโทษแบน” กอบกู้ศักดิ์ศรีวงการกีฬาเมืองไทยต่อสายตาชาวโลกกลับคืนมาได้

ว่ากันต่อไปอีกว่า เรื่องการร้องขอให้แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่วาด้าให้ความสำคัญ แต่อาจยังมีเรื่องให้วาด้าเคลือบแคลงติดใจจนนำไปสู่มูลเหตุให้วาด้าลากไทยไปประจานในเวทีกีฬาโลกนั่นคือ การทำงานของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา กกท. กับศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา ม.มหิดล ที่ผ่านมาอาจไม่สอดรับ ใกล้ชิดกันเท่าที่ควรจะเป็น

ข้อเท็จจริงประเด็นนี้ วาด้าให้การรับรองทั้ง 2 หน่วยงานในเมืองไทย โดยหน้าที่การทำงานเกี่ยวกับสารต้องห้ามของ 2 หน่วยงานนั้นแตกต่างกันคือ สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา กกท. มีหน้าที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ และเลือดของนักกีฬาทั้งช่วงก่อนแข่งขัน ระหว่างแข่งขันและหลังแข่งขัน เพื่อดำเนินการส่งตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจยังศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา ม.มหิดล ซึ่งหากตรวจพบว่ามีนักกีฬารายใดใช้สารต้องห้าม จะต้องรายงานตรงไปที่วาด้าเพื่อประกาศโทษแบนตามบทบัญญัติ

แต่ที่ผ่านมา วาด้าอาจเคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐมีส่วนในการควบคุมกิจการทำให้อาจเกิดปัญหาการละเลย ช่วยเหลือนักกีฬาที่ใช้สารต้องห้ามโดยไม่ได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานที่วาด้ากำหนดไว้อย่างเคร่งครัด จึงเป็นที่มาที่วาด้าต้องการให้หน่วยงานที่เขารับรองไม่ขึ้นตรงกับภาครัฐของทุกประเทศ และให้บริหารงานแบบอิสระ

ทางออกในภารกิจกอบกู้ศักดิ์ศรีวงการกีฬาเมืองไทยต่อสายตาชาวโลกคือ ไทยต้องเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ให้ถูกใจวาด้า และไทยต้องแยกสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาไม่ให้ขึ้นตรงต่อ กกท.อีกต่อไปโดยเร็วที่สุด

สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานไปกับกระบวนการดังกล่าวคือ การขนคีย์แมนกีฬาเมืองไทยไล่เรียงตั้งแต่ตัวแทนรัฐบาลคือ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กีฬา, ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ หรืออาจต้องเป็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท., คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ชาวไทย อาจต้องถึงขั้นบินด่วนไปเจรจาหาทางออกร่วมกับวาด้าอย่างจริงจังเพื่อยืนยันหลักการทำงาน รับทราบความต้องการของวาด้าที่แท้จริง และไทยจะเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีวงการกีฬากลับคืนมา…เพื่อหวังว่าวาด้าจะยอม “ลด” โทษแบนให้ประเทศไทย นักกีฬาไทยจะได้ภาคภูมิใจกับ “ธงไตรรงค์” บนหน้าอกเสื้อพวกเขาเมื่อไปทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image