‘กกท.’ ไม่พับแผนไทยยื่นจัด ‘ยูธโอลิมปิก’ ยันเร่งปลดล็อก ‘วาด้า’ เดินหน้าเสนอตัว

‘กกท.’ ไม่พับแผนไทยยื่นจัด ‘ยูธโอลิมปิก’ ยันเร่งปลดล็อก ‘วาด้า’ เดินหน้าเสนอตัว

“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า ผลจากการที่ประเทศไทยถูกประกาศไม่รับรองจากองค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (วาด้า) โดยถูกห้ามใช้ธงชาติไทย ห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ และระงับการทำหน้าที่ของผู้แทน และกรรมการที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในสหพันธ์กีฬาต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2021 นั้น เรื่องนี้ขอยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบกับแผนงานที่ประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2030

ดร.ก้องศักด กล่าวอีกว่า เดิมทีประเทศไทยมีแผนที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพยูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 ในปี 2026 ทว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีมติเลื่อนเกมส์ในครั้งที่ 4 ที่ประเทศเซเนกัล จากปี 2022 ออกไปเป็นปี 2026 เพราะติดขัดปัญหาในด้านการเตรียมการแข่งขัน รวมถึงปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตามแม้เกมส์จะเลื่อนออกไป แต่เราได้เสนอเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญในวงการกีฬาให้กับรัฐบาลไทยได้รับทราบแล้ว

“รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน และผลักดันให้ประเทศไทยมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับใหญ่แบบนี้ ซึ่งจะว่าไปเป็นรองเพียงแค่โอลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลกเท่านั้น ที่สำคัญเราก็มีโครงการต่อเนื่องในแผนที่เราจะเสนอตัวกับทางไอโอซี ก็เชื่อว่าหากถ้าเราแก้ไขกฎหมายสารต้องห้ามให้สอดคล้องกับของวาด้าได้ภายในธันวาคม 2021 หรือ มกราคม 2022 สิทธิ์ที่เราจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพก็จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะทางไอโอซียังไม่ได้ดำเนินการคัดเลือก หรือตัดสินการเป็นเจ้าภาพ”

สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ 2030 นอกจากประเทศไทยที่ให้ความสนใจ และมีแผนในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแล้ว ยังมีอีกว่า 30 ชาติ ที่แสดงเจตจำนงค์อยากทำหน้าที่ในมหกรรมกีฬาดังกล่าวด้วย อาทิ อินโดนีเซีย อินเดีย โคลอมเบีย และชาติในยุโรปตะวันออก ซึ่งสาเหตุที่มีหลายชาติแสดงความสนใจ เพราะต้องการจะใช้เกมการแข่งขันครั้งนี้พลิกฟื้นตัวเอง ทั้งในแง่ของการพัฒนากีฬา ชีวิต และสังคม หลังจากทั่วโลกประสบวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเวลานี้ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการกำหนดเลือกประเทศที่จะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพครั้งดังกล่าว เพียงแต่ชาติที่ต้องการเสนอตัวต้องนำส่งข้อมูลรายการให้ไอโอซีรับทราบโดยเรื่อยๆ

Advertisement

ทั้งนี้เกณฑ์การคัดเลือกเจ้าภาพยูธโลลิมปิก ทางไอโอซี ยืนยันชัดเจน และแจ้งกับประเทศที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการสร้างสนามแข่งขันใหม่ ห้ามใช้เงินเยอะ ส่วนสนามเก่าที่มีอยู่แล้ว อยากให้ปรับปรุง นำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยการจัดแข่งขันต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังต้องสร้างการรับรู้ในหมู่เด็ก และเยาวชน ให้รู้ว่ากีฬามีความสำคัญอย่างไร ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของโอลิมปิก การเคารพ มิตรภาพ และความเป็นเลิศ นำไปจนสู่การที่นักกีฬานำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

สำหรับการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ กำหนดจัด 4 ปีครั้ง มีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2010 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยครั้งที่ 2 มีขึ้นในปี 2014 ที่เมืองหนานจิง ประเทศจีน ปี 2018 มีขึ้นที่กรุงบัวโนสไอเรส ของประเทศอาร์เจนตินา และครั้งที่ 4 จะมีขึ้นที่ประเทศเซเนกัล ในปี 2026

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image