ฉายาคนกีฬาปี 2564 ยกย่อง หยิกแกมหยอก ตามเหตุการณ์รอบปีที่ผ่านมา

ฉายาคนกีฬาปี 2564 ยกย่อง หยิกแกมหยอก ตามเหตุการณ์รอบปีที่ผ่านมา

สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ตั้งฉายา “คนกีฬา” ประจำปี 2564 ให้กับบุคคลในวงการกีฬาเป็นธรรมเนียมประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยคัดเลือกจากบุคคลกีฬาที่มีข่าวฮือฮา หรือมีความโดดเด่นในสายตาของสื่อมวลชนสายกีฬาในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อยกย่อง และหยิกแกมหยอก สำหรับฉายาคนกีฬา ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา มี 12 ฉายา ดังนี้

  • พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง : ฉายา “ประมุขเร้นกาย”

ในช่วงที่ผ่านมา “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดนมรสุมชีวิตอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งกรณี “บอส กระทิงแดง” หรือความล้มเหลวในวงการฟุตบอลที่ทีมชาติไทยผลงานล้มเหลวทุกชุดแถม ฟุตบอลลีกอาชีพยังเจอโควิด-19 ขายสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ต้องเลิกสัญญาลิขสิทธิ์มูลค่าหมื่นล้านกับ “เซ้นส์” ตกเป็นกระแสโดนโจมตีจากแฟนบอลอย่างต่อเนื่อง
ทำเอา “บิ๊กอ๊อด” ต้องหลบฉากงดให้สัมภาษณ์ และปรากฏตัวในวงสังคมค่อนข้างน้อย นอกจากจำเป็นจริงๆ พร้อมกับแต่งตั้ง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ มาเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยแบ่งเบาภาระ และรับแสงสปอตไลต์จากสื่อ และแฟนบอลไปแทน จึงเป็นฉายาของ “ประมุขเร้นกาย” ด้วยประการฉะนี้

  • นวลพรรณ ล่ำซำ : ฉายา “มาดามขี่ม้าขาว”

ขณะที่ผลงานทีมชาติไทยย่ำแย่เกือบทุกชุด ทำให้กระแสฟุตบอลไทยตกต่ำสุดขีด “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ก็ขันอาสาเข้ามากู้วิกฤตศรัทธารับบทผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยเป็นครั้งแรก โดยควบทั้งชุดยู-23 และชุดใหญ่ ซึ่งการเข้ามารับงานครั้งนี้แม้จะเป็นการรับเผือกร้อน แต่กระแสการตอบรับจากแฟนบอล และสื่อค่อนข้างดี
ประเดิมด้วย ศึกยู-23 ที่ “มาดาแป้ง” ใช้คอนเนคชั่นระดมนักเตะลูกครึ่งจากต่างประเทศมาผนึกกำลังกับนักเตะในไทย แม้ผลงานจะกระท่อนกระแท่น แต่ก็สามารถเป็นตัวแทนกลุ่มเข้าไปเล่นยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย ได้สำเร็จ ต่อด้วย เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ที่โชว์ฝีมือประสานสิบทิศดึงนักเตะชั้นยอดจากทุกสโมสรทั้งใน และต่างประเทศมาได้มากที่สุดในรอบหลายปี และทำผลงานรอบแรกได้อย่างยอดเยี่ยม หากสามารถคว้าแชมป์อาเซียนคราวนี้มาครองได้ ฉายา “มาดามขี่ม้าขาว” ที่เข้ามากอบกู้วงการฟุตบอลไทยคงไม่หนีไปไหนเป็นแน่แท้

Advertisement

  • ธีรศิลป์ แดงดา : ฉายา “ราชันอาเซียน”

สำหรับ “เทพมุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา หัวหอกทีมชาติไทยเป็น 1 ใน 30 ผู้เล่นชุด เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ที่ถูกสบปรามาสว่าแก่เกินแกง สภาพโรยราลงไปเยอะ แต่ มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือทีมชาติไทย ยังเชื่อมั่นในศักยภาพว่า เขาจะเป็นดาวยิงคนสำคัญที่จะถล่มประตูให้ “ช้างศึก” นอกจากเป้าหมายการคว้าแชมป์แล้ว ตำแหน่งดาวยิงสูงสุดอาเซียน ที่มุ้ยยิงได้ 15 ประตูตามหลัง นอห์ อลัม ชาห์ อดีตหัวหอกทีมชาติสิงคโปร์อยู่ 2 ประตูยังเป็นที่หมายปองของ ธีรศิลป์ ที่จะลบสถิติ เพื่อก้าวไปสู่ดาวยิงตลอดกาลอาเซียน
เกมแรกยังฝืดแต่นัดที่ 2 กับ เมียนมา และดวลกับ ฟิลิปปินส์ มุ้ยกดคนเดียวนัดละ 2 ประตูผงาดแซง นอห์ อลัม ชาห์ เป็น 19 ประตูขึ้นนำดาวยิงอาเซียนตั้งแต่ยังไม่จบรอบแรก ผลงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในนามทีมชาติไทย จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมอบฉายา “ราชันอาเซียน” ให้กับ ธีรศิลป์ แดงดา

  • พล.อ.เดชา เหมกระศรี : ฉายา “หมึกต้นแบบ”

ด้วยความที่เป็นคนที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา แทบไม่เคยมีวันพัก แม้จะเจอสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ “เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง สามารถดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาจักรยาน ทั้งในระดับชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประเภทต่างๆ และระดับนานาชาติ ทั้งรายการลู่ “แทร็ค เอเชีย คัพ 2021” และจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2021” เป็นเพียงชาติเดียวในทวีปเอเชีย ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และประสบความสำเร็จอย่างมาก
ทำให้หลายสมาคมกีฬาได้นำมาตรการดังกล่าวของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ไปประยุกต์ใช้ในการจัดแข่งขัน จนได้รับการชื่นชม และยกย่องจากหลายฝ่าย รวมทั้ง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าเป็น “สมาคมต้นแบบ” ในการจัดแข่งขันในรูปแบบ “New Normal” จึงเหมาะสมที่จะได้รับฉายา “หมึกต้นแบบ”

  • พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ : ฉายา “จอมเตะเลี่ยมทอง”

หลังจากกวาดแชมป์มาแล้วแทบจะทุกรายการ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดสาวทีมชาติไทยดีกรีแชมป์โลก จึงเป็นความหวังอันดับ 1 ในการลุ้นเหรียญทองจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พาณิภัค แบกแรงกดดันมหาศาลลงแข่งขันในรุ่น 49 กก.หญิง ซึ่งชิงเหรียญทองกันตั้งแต่วันแรกหลังพิธีเปิด “โตเกียวเกมส์” ซึ่งจอมเตะสาวไทยกรุยทางสู่รอบชิงชนะเลิศได้สมราคา ก่อนเจอกับม้ามืดจากสเปน
สถานการณ์ในรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างใจหายใจคว่ำ เมื่อต่างฝ่ายต่างผลัดกันนำผลัดกันตาม และสาวไทยตาม 1 แต้มขณะเหลือเวลาไม่ถึง 10 วินาที ก่อนมาได้ลูกเตะสำคัญในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย แซงชนะไปอย่างสนุกตื่นเต้น พร้อมคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้ทัพนักกีฬาไทยได้สำเร็จ

  • เช ยอง ซ็อก : ฉายา “โค้ชโสมหัวใจไทย”

เบื้องหลังความสำเร็จของทัพนักกีฬาเทควันโดไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์หลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือ “โค้ชเช” เช ยอง ซ็อก โค้ชชาวเกาหลีใต้ที่สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ดึงตัวมาคุมทีมตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 หลังจาก 2 ปีที่ “โค้ชเช” เข้าไปคุมทีม จอมเตะไทยก็คว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งแรกจาก “วิว” เยาวภา บุรพลชัย และทำเหรียญรางวัลให้นักกีฬาไทยได้เรื่อยมา กระทั่งประสบความสำเร็จสูงสุดกับเหรียญทองของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในโอลิมปิกเกมส์ 2020
“โค้ชเช” มักได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนกีฬาชาวไทยว่าเป็นโค้ชชาวเกาหลีหัวใจไทย ด้วยความทุ่มเทและมีอารมณ์ร่วมกับผลงานของนักกีฬาไทยทุกการแข่งขัน จนถึงจุดที่ตัวโค้ชเองก็ต้องการเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นคนไทยเต็มตัว และเลือกชื่อไทยเตรียมไว้แล้วว่า “ชัชชัย” แต่ขั้นตอนการขอสัญชาติยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ “โค้ชเช” หลังจากสร้างนักกีฬาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ได้แล้ว คือการพานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ในฐานะโค้ชสัญชาติไทยนั่นเอง

  • อาฒยา ฐิติกุล : ฉายา “สะวิงสาวเจ้าสนาม”

ในปี 2021 นับเป็นปีทองของวงการกอล์ฟหญิงไทย เมื่อโปรสาวชาวไทยประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ได้หลายรายการ ซึ่งหนึ่งในคนที่สร้างผลงานโดดเด่นที่สุดและต่อเนื่องที่สุด คือ “โปรจีน” อาฒยา ฐิติกุล โปรสาววัย 18 ปี จาก จ.ราชบุรี ซึ่งคว้าแชมป์เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ ได้ 2 รายการ และติดอันดับท็อปเทนอีก 13 รายการ พ่วงด้วยรางวัลนักกอล์ฟยอดเยี่ยม และนักกอล์ฟหน้าใหม่ยอดเยี่ยม รวมถึงตำแหน่งนักกอล์ฟทำเงินสูงสุดของทัวร์ในรอบปีที่ผ่านมา เรียกว่าลงแข่งรายการไหนเป็นต้องได้ลุ้นเกือบทุกครั้ง
นอกจากนี้ “โปรจีน” ยังปิดฤดูกาลอย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้าตั๋วเข้าร่วมแข่งขันแอลพีจีเอทัวร์ ซึ่งเป็นทัวร์กอล์ฟอาชีพสูงสุดของฝ่ายหญิง กลายเป็นหนึ่งในโปรสาวสุดฮอตที่สื่อกอล์ฟทั่วโลกให้การจับตามองในปีหน้า

  • เดชาพล พัววรานุเคราะห์ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย : ฉายา “คู่ขนไก่สะท้านโลก”

หลังจากจับคู่แข่งขันแบดมินตันคู่ผสมกันมานาน ปี 2021 นับเป็นปีที่ยอดเยี่ยมที่สุดบนเส้นทางตบลูกขนไก่ของ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เมื่อสามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 8 รายการจากทั้งหมด 12 รายการที่ร่วมแข่งขัน จนทะยานขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
เริ่มต้นด้วยการกวาด 3 แชมป์รายการใหญ่ที่ไทยเป็นเจ้าภาพช่วงต้นปี แม้จะพลาดหวังจากโอลิมปิกเกมส์ 2020 เมื่อพลาดท่าตกรอบก่อนรองชนะเลิศอย่างน่าเสียดาย “บาส-ปอป้อ” ก็กลับมาฮอตอีกครั้งช่วงปลายปี เมื่อคว้าแชมป์ต่อเนื่อง 5 รายการ โดยเฉพาะ 2 รายการหลังสุดอย่าง “บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์” และ “แบดมินตันชิงแชมป์โลก” ซึ่งส่งให้ทั้งคู่กลายเป็นแชมป์โลกประเภทคู่คู่แรกในประวัติศาสตร์วงการขนไก่ไทย

  • คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล : ฉายา “หญิงปัท ชัดทุกช็อต”

ด้วยความที่ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวยประกอบกับชอบเล่นกีฬาหลายอย่าง ทั้ง ว่ายน้ำ จักรยาน แบดมินตัน และยังมีใจรักกีฬาอย่างเต็มเปี่ยม จึงสนับสนุนส่งเสริมทุนให้วงการกีฬาทุกๆ ชนิดมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเข้ามาเป็นนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ก็สร้างนักตบลูกขนไก่ติดชาร์จระดับโลกมากกว่า 50 คน สร้างชื่อเสียงคว้าแชมป์โลก หรือได้แชมป์ระดับโลก จนนับไม่ถ้วน และยังชัดเจนต่ออีกกับตำแหน่งใหญ่ “ไอโอซีหญิง” คนแรกของไทย และคนที่ 4 ของประเทศ เป็น “บอร์ดโอซีเอ” ทำงานระดับโลก และกีฬาในประเทศแบบไม่มีหยุด จนเป็นที่รักของคนในวงการกีฬา
พร้อมกันนี้ “คุณหญิงปัทมา” ยังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทย แต่งชุดไทยในงานสำคัญตลอดทำให้ทั่วโลกจดจำวัฒนธรรมไทย และยังช่วยประสาน แก้ปัญหาให้สมาคมกีฬาไทย กับ สหพันธ์กีฬา เชื่อมโลกกีฬาให้แคบลง ให้ไทยเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น แม้จะต้องเดินทางตลอดประสานงานรอบด้าน แต่ก็ไม่มีถอยยังคงมุ่งมั่นทุ่มเททำงานกีฬาระดับโลกมาตลอด เรียกว่า “หญิงปัท” ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มและจะยังชัดเจนต่อไป เพื่อวงการกีฬาไทยของเรา

  • ดร.ก้องศักด ยอดมณี : ฉายา “วาด้า พาเพลีย”

ต้องยอมรับว่าปี 2564 ในช่วงครึ่งปีแรก ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทำท่าจะสอบผ่านสบายๆ กับงานค่ายหัวหมาก ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล ราบรื่นดี แต่ช่วงครึ่งปีหลังวงการกีฬาไทย เจอ องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) หรือ “วาด้า” เล่นงานจนสะเทือนไปทั้งประเทศ ในข้อหาที่ไทยทำผิดกฎเรื่องสารต้องห้าม ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญสารกระตุ้นของ “วาด้า” ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญ “วาด้า” ก็ได้ส่งสัญญาณเตือนมาแล้วให้เร่งแก้ไข จะได้ไม่โดนลงโทษแบน มีเวลาให้แก้ไขพอสมควร
แต่ทั้งนี้ต้องผ่านหลายขั้นตอนจาก ผู้ว่าการ กกท. ขึ้นไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่ง “ดร.ก้อง” ที่อยากแก้ไขให้ทันแทบใจจะขาด ได้แต่ยืนมองตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอขั้นตอนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
มัวแต่เกรงใจกันอยู่ จนเลยกำหนดที่ “วาด้า” ขีดเส้นตายมา เมื่ออยากลองดีแบบนี้ “วาด้า” เลยออกคำสั่งเด็ดขาด ลงโทษแบนไทย 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ส่งให้ให้นักกีฬายกน้ำหนักไทย ที่เพิ่งคืนชีพคว้าแชมป์โลกได้ แต่ไม่มีธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา โดยเฉพาะนักแบดมินตันคู่ผสมขวัญใจชาวไทย “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ซึ่งคว้าแชมป์โลก ที่ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ต้องเอาธงสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติไทย งานนี้ “ดร.ก้อง” จึงรับไปเต็มๆ

  • นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม : ฉายา “พี่มีแต่ให้”

สำหรับ นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการกีฬาไทยแต่อย่างใด ที่ผ่านมา “สุชัย” อยู่เบื้องหลังของวงการกีฬามาตลอดนับตั้งแต่ สมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯ และ สมาคมกีฬาว่ายน้ำฯ หลังจากขึ้นมารับตำแหน่ง นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย อย่างเต็มตัวดูเหมือนดวงจะถูกโฉลก แม้กีฬาโปรดจะไม่ใช่เทนนิสแต่ด้วยการบริหารงานสไตล์ใจถึงพึ่งได้ไม่หวังผลประโยชน์กล้าได้กล้าเสียมีโบนัส และส่งกำลังใจให้กับนักกีฬาทุกครั้งก่อนเดินทางไปแข่งขัน รวมถึงมีโบนัสพิเศษหากนักกีฬาประสบความสำเร็จกลับมา จนทำให้ผลงานของนักเทนนิสไทยเริ่มขยับไปในทิศทางที่ดีประสบความสำเร็จในเกมระดับนานาชาติหลายรายการ

  • สุดาพร สีสอนดี : ฉายา “นารีกู้วิกฤติ”

เหรียญทองแดงโทนของนักชกสาว “น้องแต้ว” สุดาพร สีสอนดี ในศึกโอลิมปิก “โตเกียวเกมส์ 2020” ทำให้สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย โล่งอกที่ไม่ต้องกลับบ้านแบบมือเปล่าเหมือนเมื่อครั้ง “ริโอ 2016” ที่สำคัญเป็นการปลดล็อกเพราะเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของนักชกสาวไทยในระดับโอลิมปิกเกมส์ แต่กระนั้นก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าทีมมวยสากลของไทยประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเหรียญหลักที่มาจากนักชกชายห่างหายจากเวทีโอลิมปิกเกมส์มาถึง 2 สมัยนับตั้งแต่ “ริโอ” จนถึง “โตเกียว” แต่ถ้าเป็นทองถือว่าเป็นโอลิมปิกเกมส์สมัยที่ 3 ที่นักชกไทยไร้เหรียญกลับบ้าน เหรียญทองแดงของ “น้องแต้ว” ครั้งนี้เท่ากับเป็นการกู้วิกฤติให้กับสมาคมกีฬามวยสากลฯ ได้อย่างหวุดหวิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image