ตั้งงบ 1.2 หมื่นล้าน เตรียมแผน 4 ปีลุย ‘โอลิมปิก’ แบ่งเกรดชนิดกีฬา 4 กลุ่ม-วางเป้าคว้า 3 ทอง

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมการประเมินผลการส่งนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 และการส่งนักกีฬาคนพิการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2016 รวมถึงการเตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปี 2020 ที่ห้องประชุม 1  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม

ที่ประชุมได้ประเมินผลนักกีฬาไทยจากทั้ง 2 รายการ โดยโอลิมปิกเกมส์ส่งนักกีฬา 15 ชนิด 17 สมาคม ทำผลงาน 2 ทอง 2 เงิน 2 ทองแดง ได้อันดับ 35 ของโลก และอันดับ 8 เอเชีย ส่วนพาราลิมปิกเกมส์ ส่งแข่งขัน 10 กีฬา ทำผลงาน 6 ทอง 6 เงิน 6 ทองแดง ได้อันดับ 23 ของโลก และอันดับ 5 เอเชีย ภาพรวมถือว่าน่าพอใจ และมีการพัฒนามากขึ้น สำหรับปัจจัยในความสำเร็จคือ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, วิทยาศาสตร์การกีฬาที่นำมาใช้อย่างเต็มที่, การให้บริการนักกีฬาก่อนและระหว่างการแข่งขัน และสมาคมกีฬาวางแผนและบริหารจัดการที่ดี ส่วนสาเหตุของการไม่ประสบความสำเร็จในบางกีฬา ได้แก่ การพัฒนาด้านเทคนิคของการแข่งขัน, นักกีฬาบาดเจ็บ และขาดผู้ฝึกสอน และผู้ตัดสินในระดับนานาชาติ

จากนั้นที่ประชุมได้หารือถึงการวางแผนการเตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าร่ามการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นใน 4 ปีข้างหน้า โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ดำเนินการร่างแผน แบ่งกีฬา เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มความหวัง 6 กีฬา คือ มวยสากล, ยกน้ำหนัก, เทควันโด, แบดมินตัน, ยิงเป้า และกอล์ฟ 2.กลุ่มกีฬาที่เคยร่วมการแข่งขัน 11 กีฬา เรือใบ, กรีฑา, จักรยาน, ขี่ม้า, วินด์เซิร์ฟ, เรือพาย, ฟันดาบ, เทเบิลเทนนิส, ว่ายน้ำ, ยิงธนู และยิงปืน, 3.กีฬาประเภททีม 2 กีฬา วอลเลย์บอล, ฟุตบอล และ 4.กลุ่มกีฬาต่อสู้ มวยปล้ำ, คาราเต้,ยูโด โดยตั้งเป้า 3 เหรียญทอง

ขณะที่ พาราลิมปิกเกมส์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กีฬาเป้าหมาย มีความคาดหวัง 5 กีฬา วีลแชร์เรซซิ่ง, บ็อคเชีย, เทเบิลเทนนิส, ฟันดาบ และยิงธนู และ 2.กีฬาที่เคยร่วมการแข่งขัน 6 กีฬา กรีฑา (ลู่-ลาน), ว่ายน้ำ, ยิงปืน, วีลแชร์เทนนิส, ยกน้ำหนัก และยูโด โดยตั้งเป้า 8 เหรียญทอง

Advertisement

สำหรับการเตรียมนักกีฬาได้ตั้งงบบประมาณประจำปี 2560-63 ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท (รวม 4 ปี 12,000 ล้านบาท) พร้อมทั้งยกระดับ ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อการเตรียมนักกีฬาอย่างเต็มที่

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า กระทรวงต้องการแผนระยะยาว 4 ปี โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น ดูเหมือนมาก แต่ความจริงไม่มากอย่างที่คิดกัน และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกสมาคมได้ ตนเชื่อว่าในปี 2020 ความสำเร็จจะได้มายากขึ้น เพราะทุกชาติมีการพัฒนามากขึ้น จึงต้องยกระดับตัวเองขึ้นอย่างมืออาชีพ ซึ่งความสำเร็จของกีฬาเป็นเลิศนั้น จะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจการเล่นกีฬาและออกกำลังกายมากขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image