เมื่อการ “เสมอ” เป็นเรื่องใหญ่ ในวงการกีฬาเมืองมะกัน

ผู้เล่นคาร์ดินัลส์ต่างช็อกไปตามๆ กันหลังตัวเตะพลาดฟิลด์โกล

สื่อและผู้สังเกตการณ์ด้านกีฬาจำนวนไม่น้อยเคยวิเคราะห์หาเหตุผลว่า ทำไมกีฬา ฟุตบอล หรือ ซอคเกอร์ จึงไม่ได้รับความนิยมในหมู่แฟนกีฬาชาวอเมริกันเมื่อเทียบกับกีฬาฮิตชนิดอื่นๆ ของที่นั่น ไม่ว่าจะเป็น อเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล, เบสบอล หรือ ฮอกกี้น้ำแข็ง

หนึ่งในเหตุผลที่แทบทุกคนได้ข้อสรุปร่วมกันคือ แฟนกีฬาเมืองมะกันนั้นไม่ชอบให้การแข่งขันลงเอยด้วยผล “เสมอ” เอาเสียเลย ด้วยรู้สึกว่าในเมื่อนักกีฬา 2 ฝ่ายขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดเข้มข้นมาร่วมชั่วโมงแล้ว ก็ควรจะมีผลแพ้ชนะกันเกิดขึ้น เพื่อความยุติธรรมสำหรับนักกีฬาที่ต่างทุ่มเทฝึกซ้อมแข่งขัน และเพื่อให้ตรงกับคอนเซปต์ของคำว่า “การแข่งขัน” ที่ควรจะมีบทสรุปชัดเจน ไม่ใช่ลงเอยด้วยการตัดสินอะไรไม่ได้

ยิ่งถ้าเป็นการเสมอแบบไร้สกอร์ 0-0 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะคนอเมริกันชอบอะไรที่ได้น้ำได้เนื้อ ยิ่งเป็นตัวเลขเยอะๆ ได้ยิ่งดี นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่กีฬาฮิตของที่นู่นอย่างอเมริกันฟุตบอลและบาสเกตบอลคิดคะแนนให้การทำแต้มแต่ละครั้งมากกว่า 1 คะแนน อาทิ บาสเกตบอลซึ่งมีทั้งลูกโทษ 1 แต้ม และลูกชู้ต 2 กับ 3 แต้ม หรืออเมริกันฟุตบอล เตะฟิลด์โกลได้ 3 แต้ม ส่วนทัชดาวน์ได้ 6 แต้ม

Liverpool v Manchester United - Premier League
เกมแดงเดือดนัดล่าสุดลงเอยด้วยการเสมอ 0-0 ซึ่งแฟนกีฬาเมืองมะกันไม่ชอบใจแน่ๆ

รูปแบบลีกของกีฬาอเมริกันยังไม่เหมือนลีกฟุตบอลยุโรปที่เราคุ้นเคย เนื่องจากไม่ได้จัดอันดับของลีกตามคะแนนสะสมที่ได้จากแต่ละนัด (ชนะ 3 คะแนน, เสมอ 1 คะแนน, แพ้ ไม่มีคะแนน) แต่ใช้วิธีจัดอันดับตามสัดส่วนผลแพ้ชนะเทียบกับจำนวนนัดที่ลงสนาม

Advertisement

ใน 4 ลีกอาชีพของสหรัฐอเมริกา ลีกฮอกกี้น้ำแข็ง เอ็นเอชแอล เคยลงเอยด้วยผลเสมอมามากมายในอดีต ก่อนจะปรับเปลี่ยนกติกาให้ต่อเวลาและดวลลูกโทษในเวลาต่อมา (โดยชาวอเมริกันบางส่วนกล่าวติดตลกว่า ที่กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งมีกติกาให้เสมอในสมัยก่อนเพราะชาวแคนาเดียนซึ่งฮิตกีฬานี้มาพร้อมๆ กัน “ใจดี” เกินไปนั่นเอง)

ส่วนลีกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ จะต่อเวลาพิเศษ 5 นาทีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ โดยเกมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 1951 ซึ่ง อินเดียนาโปลิส โอลิมเปียนส์ เอาชนะ โรเชสเตอร์ รอยัลส์ 75-73 หลังจากต่อเวลาพิเศษถึง 6 ครั้ง!

สำหรับ เมเจอร์ลีก เบสบอล จะใช้วิธีเพิ่มอินนิ่งพิเศษ หรือรอบการบุกของทั้ง 2 ทีมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตัดสินผู้ชนะได้ โดยในอดีตหากสภาพอากาศไม่เป็นใจ หรือฟ้ามืดจนแข่งต่อไม่ไหว กรรมการจะยอมให้หยุดการแข่งขันขณะเสมอกันอยู่ แต่จะต้องมาแข่งใหม่ในภายหลัง (ก่อนปี 2007 ต้องเริ่มแข่งแมตช์นั้นใหม่หมด แต่หลังปี 2007 จะแข่งต่อจากที่ค้างอยู่) ยกเว้นเพียงกรณีเดียวคือแมตช์ดังกล่าวจะไม่มีผลใดๆ กับการตัดสินว่าทีมจะได้เข้ารอบเพลย์ออฟหรือไม่ และทั้ง 2 ทีมไม่มีคิวต้องเจอกันอีกตลอดฤดูกาลที่เหลือ กรรมการจึงยอมให้เกมจบลงด้วยการเสมอได้

Advertisement

หรือกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นในเกมออลสตาร์เมเจอร์ลีกปี 2002 ซึ่งต้องลงเอยด้วยการเสมอหลังแข่งไป 11 อินนิ่ง เนื่องจากทั้ง 2 ทีมไม่เหลือพิตเชอร์ (มือขว้าง) ลงแข่งขันแล้ว!

ในส่วนของลีกอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล ค่อนข้างจะพิเศษกว่าลีกอื่นตรงที่ยอมให้มีผลเสมอได้ แต่ก็ต้องผ่านการขับเคี่ยวกันมาพอสมควรแล้ว

ลีกคนชนคนในยุคแรกๆ (ระหว่างปี 1920-1973) จะมีผลเสมอแทบจะทุกฤดูกาล รวมทั้งสิ้น 258 เกม เนื่องจากไม่ได้กำหนดกฎการตัดสินที่เด็ดขาดเอาไว้ ต่อมาจึงเพิ่มกติกาการต่อเวลา 15 นาที โดยระบุว่าทีมใดก็ตามที่ทำคะแนนได้ก่อน ไม่ว่าจากวิธีใด จะเป็นผู้ชนะในทันที ซึ่งหลังนำกฎนี้มาใช้ จำนวนแมตช์ที่เสมอก็ลดลงฮวบฮาบ เหลือ 17 นัด (ก่อนถึงปี 2012)

กระทั่งปี 2012 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เนื่องจากคนในวงการมองว่า กติกาเก่าทำให้ทีมที่ชนะการเสี่ยงเหรียญและเลือกบุกก่อนได้เปรียบกว่า เพราะแค่บุกเข้าไปถึงระยะพอเตะฟิลด์โกลได้ แค่เตะให้เข้าก็ชนะแล้ว ตั้งแต่ปี 2012 จึงเปลี่ยนแปลงกฎให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีโอกาสครอบครองบอลอย่างน้อย 1 ครั้ง ยกเว้นกรณีทีมที่รับลูกคิกออฟสามารถทำทัชดาวน์ได้ในการครอบครองบอลครั้งแรก หรือฝ่ายรับได้แต้มจากการทำทัชดาวน์หรือเซฟตี้

ถ้าฝ่ายบุกทำได้แค่ 3 แต้มจากฟิลด์โกล อีกฝ่ายจะได้โอกาสบุกบ้าง ถ้าสามารถทำทัชดาวน์ได้ก็จะชนะไป ถ้าโดนหยุดเกมบุกไว้ได้ถือเป็นฝ่ายแพ้ แต่ถ้าบุกกลับแล้วเตะฟิลด์โกลได้เหมือนกันก็เล่นไปจนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำแต้มได้จะถือเป็นผู้ชนะ โดยเมื่อใดก็ตามที่หมดเวลา 15 นาทีแล้วยังหาผู้ชนะไม่ได้ ให้ถือว่าเกมนั้นลงเอยด้วยการเสมอ และเวลานับสถิติจะถือว่า “ชนะครึ่ง แพ้ครึ่ง”

อย่างไรก็ตาม กฎนี้จะใช้เฉพาะในฤดูกาลปกติเท่านั้น ถ้าเป็นรอบเพลย์ออฟที่ต้องหาทีมชนะให้ได้ ก็ต้องต่อเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ผลหลังเปลี่ยนกฎหนนี้จนถึงปัจจุบัน มีเกมเสมอเกิดขึ้นรวม 4 ครั้ง กรณีล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในเกมเอ็นเอฟแอลนัดซันเดย์ไนต์ระหว่าง ซีแอตเติล ซีฮอว์กส์ กับ อริโซนา คาร์ดินัลส์ ในถิ่นอริโซนา เมื่อ 2 ทีมเสมอกัน 3-3 ในเวลาปกติ และเมื่อต่อเวลาแล้ว ทำฟิลด์โกลได้ฝ่ายละครั้งจนเสมอกัน 6-6 และหมดเวลาในที่สุด หลังเกม ผู้เล่นทั้ง 2 ทีมต่างอยู่ในสภาพ “อึ้ง” ไปตามๆ กัน หลายคน และเกือบทั้งหมดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำตัวไม่ถูกเพราะไม่เคยแข่งขันแล้วลงเอยด้วยการเสมอมาก่อน

Seattle Seahawks v Arizona Cardinals
ทีมซีฮอว์กส์กับคาร์ดินัลส์ต่างอยู่ในอาการเซ็งๆ หลังเสมอ

นอกจากจะเป็นการเสมอครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่แฟนๆ ไม่ชอบแล้ว ตลอดเกมนี้ผู้เล่นทั้ง 2 ทีมต่างเล่นผิดพลาดหลายครั้ง คะแนนที่ออกมาถือว่าผิดฟอร์มของทั้งคาร์ดินัลส์และซีฮอว์กส์ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องเกมบุก และที่สำคัญ ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานปลายๆ การต่อเวลา แชนด์เลอร์ คาตันซาโร่ ตัวเตะคาร์ดินัลส์ กับ สตีเว่น เฮาช์ก้า ตัวเตะซีฮอว์กส์ ก็ดันเตะฟิลด์โกลใกล้ๆ ระยะ 24 และ 28 หลาไม่เข้าอย่างเหลือเชื่อ โซเชียลเมืองมะกันจึงแทบลุกเป็นไฟ!

บางคนบ่นว่า “นี่เป็นเกมอเมริกันฟุตบอลที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์” บ้างบอกว่า “ถ้ามีใครเอากีฬานี้ไปแข่งกันในนรก รูปเกมที่ออกมาก็คงเป็นอย่างที่เราเห็น” บ้างพิมพ์ไม่เป็นภาษา บ้างถามว่าล้มบอลกันหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อภาพล้อเลียน

ส่วนเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ ซีบีเอส วิเคราะห์ว่า เกมนี้ทำให้กีฬาอเมริกันฟุตบอลถอยหลังไป 100 ปี (เพราะเป็นครั้งแรกในศตวรรษนี้ที่เกมลงเอยด้วยผลเสมอแบบไม่มีการทำทัชดาวน์กันได้)

เหมือนกับที่ใครคนหนึ่งในทวิตเตอร์ประกาศเลยว่า “วันนี้ (อเมริกัน)ฟุตบอลตายแล้ว”

…บอกแล้วว่า “เสมอ” น่ะ เรื่องใหญ่จริงๆ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image