สำรวจสายใย’ทรัมป์’กับโลก’กีฬา’

ภาพจาก http://www.nj.com/politics/index.ssf/2015/10/did_donald_trump_really_kill_a_professional_football_league.html

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ผ่านพ้นไปพร้อมๆ กับชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน ท่ามกลางเสียงเชียร์และกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

ขณะที่ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งเริ่มมองไปยัง “อนาคต” และ “ความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งพวกเขาคาดหวังจากคำมั่นของนักธุรกิจใหญ่และเซเลบที่โด่งดังจากรายการเรียลิตี้โชว์รายนี้ ชาวอเมริกันอีกจำนวนไม่น้อยยังคงอยู่ในอาการ “เมาหมัด” เช่นเดียวกับผู้สังเกตการณ์จากวงนอกอีกนับไม่ถ้วน

สำหรับบางคนที่เริ่มตั้งสติได้ก็เริ่มวิเคราะห์และคาดเดาถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับวงการต่างๆ ภายหลังทรัมป์นั่งเก้าอี้ผู้นำโลกเสรีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า

ในส่วนของวงการกีฬานั้น แม้ว่าแหล่งรายได้หลักของทรัมป์จะมาจากธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก แต่เนื่องจากบริษัทในเครือของทรัมป์เกี่ยวพันกับธุรกิจหลายประเภท และกีฬาก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เขาให้ความสนใจ จึงถือว่าวงการนี้มีความเกี่ยวพันกับว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอยู่มาก

Advertisement

ซึ่งเรานำรายละเอียดมาบอกเล่ากันในวันนี้…

1.สนามกอล์ฟ
ทรัมป์สร้างและบริหารสนามกอล์ฟหลายแห่งทั้งในสหรัฐและหลายๆ ประเทศ โดยในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เขาก็เพิ่งเดินทางไปเปิดสนามแห่งใหม่ในสกอตแลนด์

ภาพจาก https://fabulously50.com/trump-national-doral-miami/
ภาพจาก https://fabulously50.com/trump-national-doral-miami/

หนึ่งในสนามดังที่ทรัมป์เป็นเจ้าของ คือ โดรัล ที่เมืองไมอามี สังเวียนแข่งขันรายการใหญ่อย่าง เวิลด์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพส์-คาดิลแล็ค แชมเปี้ยนชิพ

Advertisement

แต่ล่าสุด พีจีเอทัวร์ เพิ่งประกาศย้ายการแข่งขันไปที่เม็กซิโกในปีหน้า เพราะไม่สามารถหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการจัดแข่งที่ไมอามีได้อีกต่อไป

2.มวยอาชีพ

ทรัมป์เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมวยชิงแชมป์โลกหลายครั้งที่ โรงแรมทรัมป์ พลาซ่า ในเมืองแอตแลนติก ซิตี้ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ในจำนวนนี้คือไฟต์ระหว่าง ไมก์ ไทสัน กับ ไมเคิล สปิงก์ส เมื่อปี 1988

ภาพจาก http://breaking911.com/mike-tyson-endorses-donald-trump-and-insists-the-donald-isnt-racist/
ภาพจาก http://breaking911.com/mike-tyson-endorses-donald-trump-and-insists-the-donald-isnt-racist/

ทรัมป์ยังเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้กับไทสัน นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตคนดังออกมาสนับสนุนนักธุรกิจใหญ่รายนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

3.ตูร์ เดอ ทรัมป์
หลังจากเห็นความสำเร็จและความนิยมของการแข่งขันจักรยานทางไกลในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกใหญ่และเก่าแก่อย่าง ตูร์ เดอ ฟร้องซ์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ทรัมป์ก็เลยออกทุนให้จัดการแข่งขันจักรยานทางไกลของสหรัฐ เมื่อปี 1989 โดยให้ใช้ชื่อการแข่งขันว่า ตูร์ เดอ ทรัมป์ เพื่อล้อกับชื่อของทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่แดนน้ำหอม แถมยังประกาศก้องว่าขอเวลา 2 ปี จะทำให้รายการนี้ยิ่งใหญ่กว่ารายการต้นตำรับ

ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tour_de_Trump_1989.jpg
ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tour_de_Trump_1989.jpg

ปรากฏว่า 2 ปีผ่านไป ยังไม่ทันได้เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทรัมป์ก็ถอนสปอนเซอร์เพราะธุรกิจด้านอื่นของเขาเริ่มมีปัญหา ดีว่ามีคนเข้ามาอุ้มการแข่งขันให้อยู่ต่อ และเปลี่ยนชื่อเป็น ตูร์ ดูปองต์

กระนั้นยื้อได้ถึงปี 1996 ก็ต้องยุบการแข่งขันไป (แชมป์ 2 หนสุดท้ายไม่ใช่ใครอื่น เป็นนักปั่นฉาว แลนซ์ อาร์มสตรอง) ซึ่งคนในแวดวงจักรยานยังคงบ่นเรื่องโดนทรัมป์ทอดทิ้งกลางทางมาจนทุกวันนี้

4.มวยปล้ำอาชีพ
ทรัมป์เคยเข้าไปมีเอี่ยวจัดการแข่งขันมวยปล้ำอาชีพเวที เรสเซิลมาเนีย อยู่ 2 ครั้งที่โรงแรมทรัมป์ พลาซ่า และมักไปปรากฏตัวเพื่อชมการแข่งขันถึงขอบเวทีหลายครั้ง

ภาพจาก http://life-in-saudiarabia.blogspot.com/2016/11/10-unknown-unbelievable-facts-about.html
ภาพจาก http://life-in-saudiarabia.blogspot.com/2016/11/10-unknown-unbelievable-facts-about.html

กระทั่งปี 2013 WWE เจ้าของกิจการมวยปล้ำอาชีพรายใหญ่ของสหรัฐก็บรรจุชื่อทรัมป์เข้าสู่หอเกียรติยศของ WWE ฝั่งเซเลบริตี้ ที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน เพื่อแสดงความขอบคุณที่เขาให้การสนับสนุนการแข่งขันเรสเซิลมาเนียด้วยดีเสมอมา

5.นิวเจอร์ซีย์ เจเนอรัลส์
ทรัมป์เคยมีทีมอเมริกันฟุตบอลเป็นของตัวเองในชื่อ นิวเจอร์ซีย์ เจเนอรัลส์ สังกัด ลีกอเมริกันฟุตบอลสหรัฐ (ยูเอสเอฟแอล)

ทีมนี้ตั้งขึ้นในปี 1983 พร้อมๆ กับลีกยูเอสเอฟแอล โดยลีกดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคู่แข่งและโค่นลีกคนชนคน เอ็นเอฟแอล ซึ่งในตอนนั้นกำลังเสื่อมความนิยม

ยูเอสเอฟแอลพยายามขายจุดเด่นเรื่อง “ความสนุก” ทั้งดึงนักกีฬาดังๆ คาแร็กเตอร์แรงๆ มาร่วมแข่งขัน ทั้งปรับเปลี่ยนกฎเพื่อความมันในการรับชม และเปิดกว้างในการทำการตลาดอย่างเต็มที่

ทรัมป์สร้างทีมมาไม่นานก็ขายหุ้นให้ เจ. วอลเตอร์ ดันแคน นักธุรกิจด้านน้ำมันจากโอกลาโฮมา ก่อนจะซื้อคืนในปี 1984 โดยมีเป้าหมายในใจ

ทรัมป์พยายามทุ่มเงินดึงผู้เล่นมีชื่อของเอ็นเอฟแอลมาร่วมทีม อาทิ ไบรอัน ไซป์ ควอเตอร์แบ๊กทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ส, ลอว์เรนซ์ เทย์เลอร์ ดาวเด่นของนิวยอร์ก ไจแอนต์ส (ซึ่งถูกดึงตัวกลับในเวลาต่อมา) รวมทั้ง ดั๊ก ฟลุตตี้ ควอเตอร์แบ๊กดีกรีรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมระดับมหาวิทยาลัย

หลังจากลีกยูเอสเอฟแอลเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทรัมป์ก็เริ่มคิดการณ์ใหญ่ด้วยการหว่านล้อมให้บรรดาเจ้าของทีมโหวตเลื่อนเวลาแข่งขันให้ชนกับเอ็นเอฟแอล โดยหวังไปแย่งตลาดบางส่วนเพื่อต่อรองขอรวมลีกกับเอ็นเอฟแอล

แต่เนื่องด้วยยูเอสเอฟแอลยังไม่แข็งพอจะมีอำนาจต่อรอง เอ็นเอฟแอลไม่เล่นด้วย ทรัมป์จึงตั้งทนายฟ้องร้องหวังเรียกค่าเสียหาย 1,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (59,150 ล้านบาท)

แต่สุดท้าย ศาลก็ทำให้ทรัมป์และบรรดานักธุรกิจหิวเงินฝันสลาย เมื่อตัดสินให้เอ็นเอฟแอลจ่ายค่าทำขวัญให้ยูเอสเอฟแอลเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ (35 บาท) เมื่อรวมกับดอกเบี้ยแล้วคิดเป็นเงินสุทธิ 3.78 ดอลลาร์สหรัฐ (132 บาท)

ท้ายที่สุด ลีกยูเอสเอฟแอลจึงล่มสลายหลังแข่งขันไปได้เพียง 3 ฤดูกาล และทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างชี้นิ้วไปที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว

…หากทรัมป์นำเอกลักษณ์การคิดเร็ว ทำเร็ว และกล้าเสี่ยงประสานักธุรกิจ มาใช้กับการบริหารประเทศ นักวิเคราะห์บางคนก็แอบเสียวไส้อยู่ลึกๆ ว่าบางเรื่องอาจจะจบไม่สวย

เหมือนกับลีกอเมริกันฟุตบอลยูเอสเอฟแอล และการแข่งขัน “ตูร์ เดอ ทรัมป์” ที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างไปแล้วนั่นเอง!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image