ผลกระทบและทิศทางวงการกีฬามะกัน ในยุคสมัย ปธน.”โดนัลด์ ทรัมป์”

ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอข้อมูลความเชื่อมโยงระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา กับวงการกีฬาให้ได้เห็นภาพกว้างๆ ว่า นักธุรกิจใหญ่ฝีปากจัดจ้านรายนี้เกี่ยวพันกับวงการกีฬาอยู่หลายด้านอย่างไม่น่าเชื่อ

มาวันนี้จะไปเอ่ยถึงแนวโน้มและทิศทางของวงการกีฬาเมื่อทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า ว่า นโยบายสุดโต่งที่เขาประกาศในช่วงหาเสียงนั้น อาจส่งผลกระทบกับวงการกีฬาทั้งระดับประเทศและระดับโลกมากน้อยขนาดไหนกันบ้าง

สิ่งแรกที่สื่อกีฬาในสหรัฐคิดถึง คือ มหกรรมกีฬา โอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งนครลอสแองเจลิส เป็น 1 ใน 3 เมืองใหญ่ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยมีคู่แข่งอย่างกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

แอลเอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์ 2024
แอลเอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์ 2024

ขณะที่เมืองฮัมบูร์กของเยอรมนี ถอนตัวไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพราะผลสำรวจประชามติมีผู้ไม่เห็นด้วย 51.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรุงโรม ประเทศอิตาลี ก็เพิ่งถอนตัวเมื่อกลางเดือนตุลาคม เพราะรัฐบาลท้องถิ่นไม่สนับสนุน

Advertisement

แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นโต้โผหลักในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อผู้นำประเทศเปลี่ยนจากตัวแทนพรรคเดโมแครตเป็นรีพับลิกันแล้ว นโยบายจากส่วนกลางจะกระทบกับการเสนอตัวครั้งนี้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ เอริค การ์เซตติ นายกเทศมนตรีของลอสแองเจลิสเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเดโมแครตซึ่งสนับสนุน นางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งของทรัมป์แบบเต็มตัว

และที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ ในช่วงการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อเดือนสิงหาคมนั้น คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) หลายคน ออกมาแสดงท่าทีเป็นห่วงชัดเจนเรื่องนโยบายหลายๆ ข้อที่ทรัมป์นำเสนอซึ่งสื่อไปทางการปิดประเทศกลายๆ เช่น บทบาททางการทหารในนาโต, นโยบายต่อต้านการค้าเสรี หรือเรื่องผู้อพยพ โดยเฉพาะข้อหลัง ไอโอซีชูเป็นประเด็นเด็ดในช่วง “รีโอเกมส์” เมื่อสร้างทีมผู้อพยพขึ้นมาเป็นตัวแทนความหวังและการแสดงออกด้านมนุษยธรรมต่อประชาคมโลก

ขณะที่ โธมัส บาค ประธานไอโอซี ก็เคยปรารภกึ่งๆ กระทบชิ่งใส่ทรัมป์ว่า โลกนี้ยังมีคนเห็นแก่ตัวที่มักยกตนเหนือคนอื่นอยู่ แม้ว่าคณะกรรมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2024 ของแอลเอ จะรีบออกแถลงการณ์ว่า คณะกรรมการมีความสัมพันธ์อันดีกับตัวแทนพรรคทั้ง 2 ฝั่ง และมั่นใจว่าทรัมป์จะสนับสนุนการเสนอตัวครั้งนี้ แต่ไม่มีอะไรการันตีว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่น

โธมัส บาค ประธานไอโอซี ไม่ปลื้มนโยบายทรัมป์นัก
โธมัส บาค ประธานไอโอซี ไม่ปลื้มนโยบายทรัมป์นัก

กระนั้น เนื่องจากทรัมป์ยังต้องรอเวลาปฏิญาณตนเพื่อรับตำแหน่งอีกหลายเดือน จึงต้องยึดหลัก “เดอะ โชว์ มัสต์ โก ออน” นำเสนอเอกสารความพร้อมเบื้องต้นกับไอโอซีในสัปดาห์หน้าไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากันอีกทีในปีหน้าซึ่งไอโอซีจะลงคะแนนเลือกเจ้าภาพในเดือนกันยายน

ไม่เพียงแค่การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2024 เท่านั้น เพราะ 2 ปีหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกามีโปรเจ็กต์ใหญ่ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก 2026 ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ บรรดาเกจิลูกหนังฟันธงว่า สหรัฐอเมริกาเป็นเต็งหนึ่งที่จะได้จัดศึกเวิลด์คัพในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) คนใหม่ พยายามผลักดันโครงสร้างการแข่งขันใหม่โดยเพิ่มทีมจาก 32 ทีมเป็น 40-48 ทีม ซึ่งหมายถึงการเพิ่มจำนวนเมืองเจ้าภาพ โดยแว่วว่าฟีฟ่าอาจจะสนับสนุนให้หลายๆ ชาติจับมือกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วม

กรณีของเมืองลุงแซมมีเพื่อนบ้านสำคัญอย่าง แคนาดา แต่ติดตรงที่กีฬา “ซอคเกอร์” ไม่บูมในประเทศนี้สักเท่าไร และถ้ามองลงใต้ไปยังพรมแดนติดกับ เม็กซิโก ซึ่งฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของที่นั่น ก็มาเจอตอตรงนโยบายของทรัมป์ที่เคยประกาศปาวๆ ช่วงหาเสียงว่าจะสร้างกำแพงกั้นผู้อพยพ

แน่นอนว่าถ้าทรัมป์เกิดเดินหน้านโยบายที่อาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติขึ้นมา ก็อาจส่งผลต่อแนวคิดการเป็นเจ้าภาพร่วมในโซนอเมริกากลางและอเมริกาเหนือ (คอนคาเคฟ) ได้ ยิ่งการจัดฟุตบอลโลกมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเป็นประเด็นหลัก งานนี้คงต้องลุ้นกันยาวๆ ทีเดียว

มาถึงนโยบายการยกเลิกสัญญาการค้ากับหลายๆ ประเทศซึ่งทรัมป์ใช้เป็นแนวคิดในการสร้างงานให้กับคนในประเทศ ที่น่าจะกระเทือนไม่มากก็น้อยคือการเปิดตลาดวงการกีฬาของสหรัฐในต่างแดน เช่นลีกอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล ซึ่งหวังจะไปโตในแถบยุโรป และดำเนินแผนงานยกการแข่งขันลีกคนชนคนไปแข่งที่ เวมบลีย์ สนามดังของอังกฤษเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันแล้ว และยังเคยกระจายไปแข่งที่บาร์เซโลนา, รีโอเดจาเนโร, เม็กซิโก ซิตี้, เซี่ยงไฮ้ และเบอร์ลิน มาแล้ว

อยู่มาวันหนึ่งเกิดทรัมป์ยกเลิกสัญญานำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญๆ เหล่านี้ ประเทศเหล่านั้นก็คงไม่อยากต้อนรับการแข่งขันกีฬาของเหล่าอเมริกันชนสักเท่าไร หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษีเพื่อฟันกำไรจากการจัดกีฬานอกประเทศของสหรัฐเป็นการเอาคืนเสียก็ได้

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนตัวบุคลากรในตำแหน่งสำคัญๆ ของภาครัฐ เช่น ตำแหน่งอัยการสูงสุดซึ่งสื่อกีฬาเริ่มตั้งคำถามว่า อัยการสูงสุดคนใหม่จะให้ความสำคัญกับคดีคอร์รัปชั่นภายในฟีฟ่าและองค์กรลูกหนังของคอนคาเคฟซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่โตเมื่อกลางปีที่แล้วเหมือนเดิมหรือไม่ หรือคดีนี้จะถูกเก็บเข้ากรุจนทุกอย่างถูกลืมไปหมดเสียก็ได้?

ประเด็นสุดท้ายที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องภาพลักษณ์ของตัวว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์โดยตรง

เนื่องด้วยในช่วงหาเสียง ทรัมป์มีท่าทีแข็งกร้าวเรื่องเชื้อชาติศาสนา แถมยังโดนขุดคุ้ยประวัติเรื่องแสดงความคิดเห็นในเชิงดูถูกเพศหญิงค่อนข้างมาก ทำให้นักกีฬาผิวสีหรือนักกีฬาเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันและละตินหลายคนออกมาแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรชัดเจนผ่านสังคมโซเชียล ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง

ถึงขั้นเริ่มทำนายกันแล้วว่า ตอนที่ทรัมป์อยู่ในตำแหน่ง 4 ปี บรรดาทีมแชมป์ลีกเอ็นบีเอ, ซุปเปอร์โบว์ล, เวิลด์ซีรีส์ ฯลฯ ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติต้องเข้าพบผู้นำสหรัฐที่ทำเนียบขาวเป็นประจำทุกปีนั้น น่าจะมีนักกีฬาดังจำนวนมากขอใช้สิทธิไม่เข้าร่วมพิธีการจนดูโหรงเหรง

เหมือนกับเมื่อตอน ทอม เบรดี้ ควอเตอร์แบ๊กดังของ นิวอิงแลนด์ แพ็ตทริออตส์ (ซึ่งสนิทสนมกับทรัมป์เป็นอย่างดี) ปฏิเสธที่จะเข้าพบประธานาธิบดี บารัค โอบามา ร่วมกับสมาชิกทีมนักรบกู้ชาติชุดแชมป์ซุปเปอร์โบว์ลปี 2015 โดยอ้างเหตุผลเรื่องครอบครัว (แต่มีคนเจอเขาไปเดินเที่ยวห้างในวันดังกล่าว) และสื่อเชื่อว่าเหตุผลเพราะเขาไม่แฮปปี้ที่โดนทำเนียบขาวแขวะเรื่องคดี “ดีเฟลทเกท” ซึ่งกลายเป็นกรณีอื้อฉาวก่อนหน้านั้นไม่นาน

ล่าสุด คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส แชมป์ลีกเอ็นบีเอฤดูกาลที่ผ่านมา เพิ่งเข้าพบโอบามาที่ทำเนียบขาวสดๆ ร้อนๆ โดยสมาชิกในทีมหลายคน อาทิ เลบรอน เจมส์, เจอาร์ สมิธ, ริชาร์ด เจฟเฟอร์สัน เป็นหนึ่งในนักบาสดังจำนวนมากที่แสดงท่าทีไม่สนับสนุนทรัมป์ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ไปเยือนทำเนียบขาว
คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ไปเยือนทำเนียบขาว

เจฟเฟอร์สันหยิกแกมหยอกว่าที่ผู้นำคนใหม่ของพวกเขาด้วยการโพสต์ผ่านสแน็ปแชตว่า “ไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดอย่างไรดี ว่าผมรู้สึกเป็นเกียรติขนาดไหนที่ได้เป็นสมาชิกทีมสุดท้ายซึ่งได้ไปเยือนทำเนียบขาว”

…เพื่อบอกเป็นนัยๆ ว่า หลังจากนี้อาจไม่มีทีมไหนอยากไปนัก อย่างน้อยๆ ก็คงอีก 4 ปีที่ยังมีประธานาธิบดีชื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์”!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image