ฝันเป็นจริง มหา’ลัยการกีฬาแห่งชาติ

นับเป็นความสำเร็จในเรื่องโครงสร้างวงการกีฬาของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ….” จากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา นั่นหมายความง่ายๆ ว่าประเทศไทยกำลังจะมีการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ขึ้นเป็นครั้งแรก

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จะเป็นสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักในการผลิตบุคลากรกีฬาในทุกองคาพยพเพื่อขับเคลื่อนวงการกีฬาของไทยในทุกมิติสอดรับกับการพัฒนากีฬาของประเทศ ทั้งกีฬาขั้นพื้นฐาน, กีฬาเพื่อมวลชน, กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาเพื่อการอาชีพ ส่วนรูปแบบการวางแนวทางจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” คือการยกระดับการเรียนการสอนสถาบันการพลศึกษา 17 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

นายปริวัฒน์ วรรณกลาง อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา ในฐานะคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ…. เล่าว่า หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่ประเทศเกาหลีใต้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวฯมีความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาของไทย จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ”

ขณะนั้นมีทางเลือก 2 ทาง คือ จัดตั้งใหม่ หรือเปลี่ยนสถานะยกระดับสถาบันการพลศึกษา 17 วิทยาเขตทั่วประเทศ พัฒนาการเรียนการสอนเป็น “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้ของเดิมที่มีอยู่คือ ยกระดับสถาบันการพลศึกษา 17 วิทยาเขต

Advertisement

จากนั้นเริ่มเดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจนผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ในปัจจุบัน โดยได้ศึกษาโครงสร้างการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาจากหลายประเทศที่เป็นผู้นำวงการกีฬาของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยกีฬาเมืองโคโลญจ์ ประเทศเยอรมนี, มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน, มหาวิทยาลัยกีฬาชาติกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นแนวทางในการดำเนินการ

นายปริวัฒน์บอกต่อว่า สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วไปจะเน้น 4 เรื่อง คือ 1.การจัดการศึกษา 2.การวิจัย 3.การบริการทางวิชาการ และ 4.การทำนุบำรุงด้านศิลปวัฒนธรรม แต่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะเน้นเฉพาะทางด้านกีฬา และจะมี 2 แนวทางหลักในการดำเนินการ นั่นคือเรื่องของการศึกษา และเรื่องของการเป็นศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา

ในเรื่องของการศึกษานั้นจะครอบคลุมทุกศาสตร์ด้านกีฬา ของเดิมสถาบันการพลศึกษาจะมีการเรียนการสอนสูงสุดถึงระดับอนุปริญญาตรีด้านพลศึกษา และต่อยอดอีก 2 ปีโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อให้ได้รับปริญญาตรีศึกษาศาสตร์พลศึกษา แต่ของเดิมจะยกเลิกใหม่หมด และจะวางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่เพราะสามารถเปิดการเรียนการสอนปริญญาตรีและปริญญาโทได้ทันที

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ มี 4 คณะ คือ

1.คณะพลศึกษา ซึ่งจะครอบคลุมด้านการผลิตนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา

2.คณะบริหารจัดการกีฬา ครอบคลุมเกี่ยวกับธุรกิจการกีฬา สื่อสารการกีฬา วิทยาศาสตร์ สุขภาพ ท่องเที่ยวและนันทนาการ เน้นเจาะลึกในแต่ละวิทยาเขตโดยจะแบ่งให้แต่ละวิทยาเขตเน้นการเรียนการสอนจำแนกออกมา เช่น สื่อสารการกีฬาจะแยกย่อยเป็นโฆษณาประชาสัมพันธ์, สื่อสารมวลชน, สื่อสารดิจิทัล หรือสาขาท่องเที่ยวและนันทนาการ จะเน้นเรื่องของภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นหลัก

3.คณะเทคโนโลยีการกีฬา จะมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น นวัตกรรมการกีฬา หรือนักออกแบบผลิตภัณฑ์กีฬา

4.คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยในยุคใหม่จะปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์การกีฬาใหม่ทั้งหมด จะมีการเรียนการสอนแยกย่อยเป็นกลุ่มชีวกลศาสตร์ จิตวิทยา สรีระการกีฬา และโภชนาการกีฬา

Untitled

“ทั้ง 17 วิทยาเขตจะมีการจัดตั้งสำนักกีฬา และในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะมี 13 โรงเรียนกีฬาช่วยสร้างเยาวชนเพื่อวางพื้นฐานให้นักศึกษาอีกด้วย อนาคตมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อเข้าไปร่วมยกระดับการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ ในส่วนของนักศึกษาจะมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญ คือ จบออกไปต้องได้ปริญญาบัตร นักศึกษาที่จบออกไปต้องเป็นนักกีฬา ต้องเลือกเล่นกีฬาอย่างน้อยคนละ 1 ชนิดกีฬา และขึ้นอยู่กับว่าใครจะต่อยอดไปสู่ระดับทีมชาติในอนาคต และนักศึกษาทุกคนจะต้องเป็นผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอนได้” อธิการบดีสถาบันการพลศึกษาอธิบาย

“ผมยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกว่าจะใช้ 4 วิทยาเขตใดเป็นศูนย์หลักประจำแต่ละภาค โดยขณะนี้สถาบันการพลศึกษาภาคเหนือมี 4 วิทยาเขต, ภาคอีสานมี 4 วิทยาเขต, ภาคใต้มี 4 วิทยาเขต และภาคกลางมี 5 วิทยาเขต คงต้องหารือในสภามหาวิทยาลัยที่กำลังจะมีการจัดตั้งขึ้น” อธิการบดี สพล.กล่าว

นายปริวัฒน์เล่าต่อว่า การยกระดับการเรียนการสอนจาก สพล. เป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาตินั้น จะต้องทำแบบจริงๆ จังๆ ต้องเข้มข้นทุกเรื่อง สถานที่ต่างๆ ขณะนี้มีพร้อมหมดแล้ว สิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้าไปคือ เครื่องมือกีฬาและบุคลากรกีฬา โดยขณะนี้ได้เปิดรับสมัครอาจารย์ด้านกีฬาใหม่ทั้งหมด 166 อัตราเพื่อรองรับการเปิดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ เบื้องต้นกำหนดคร่าวๆ ไว้ว่าจะเปิดสอนวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2560 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ต้องรอให้กฎหมายประกาศใช้เสียก่อน

“การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะเข้มข้นแน่นอน เพราะปัจจุบันได้มีการลงเอ็มโอยู (บันทึกช่วยจำ) กับหลายประเทศชั้นนำ อาทิ เยอรมนี, ญี่ปุ่น และจีน ในการส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยวางโครงสร้าง และแนะนำการเรียนการสอนไว้ด้วย โดย สพล.จะเน้น 3 เรื่องสำคัญ คือ หลักสูตร, ครุภัณฑ์กีฬา และบุคลากร” นายปริวัฒน์กล่าว

อธิการบดี สพล.บอกด้วยว่า ที่ผ่านมา สพล.ได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละเกือบๆ 3,000 ล้านบาท โดยเมื่อถูกยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติอาจจะได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากภาครัฐ โดย สพล.ไม่ได้คาดหวังในเรื่องของปริมาณที่จะต้องผลิตบุคลากรการกีฬาให้มากอย่างเดียว แต่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปีๆ หนึ่งมหาวิทยาลัยจะสามารถผลิตบุคลากรการกีฬาป้อนเข้าสู่ตลาดกีฬาของประเทศได้มากถึง 2,600 คนต่อปี

แต่หลังจากเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรแรกได้ในปี พ.ศ.2560 แล้วคาดว่าจะต้องรอให้นักศึกษารุ่นแรกสำเร็จการศึกษา จึงจะเห็นผลผลิตที่เป็นรูปธรรม ซึ่งหวังว่าภายใน 5-6 ปีนับจากนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะแข็งแกร่งและเป็นทางเลือกหนึ่งของนักเรียน นักศึกษา ที่มีความสนใจด้านกีฬา

นี่คือก้าวแรกของ “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ที่กำลังจะกลายเป็นสถาบันหลักในการผลิตบุคลากรกีฬา

นี่คือความภาคภูมิใจของชาวกีฬาอย่างแท้จริง…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image