“มวยไทย-เชียร์ลีดดิ้ง” และก้าวแรกสู่ฝัน”โอลิมปิกเกมส์”

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา วงการกีฬาไทยมีข่าวให้ฮือฮากันเล็กๆ เมื่อ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีมติรับรองกีฬา มวยไทย และ เชียร์ลีดดิ้ง ให้มีสถานะเป็น “กีฬาโอลิมปิกเกมส์” (Olympic Sports) ชั่วคราว

สถานะดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นบันไดขั้นแรกของการบรรจุเข้าชิงเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ซึ่งที่ผ่านๆ มามีเพียง 30-40 ชนิดกีฬาที่ได้รับเกียรติหมุนเวียนชิงชัยดังกล่าว

โอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อปี 1896 มีชนิดกีฬาบรรจุแข่งขันเพียง 9 ชนิดกีฬา จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงปี 2000-2008 ตัวเลขมานิ่งอยู่ที่ 28 ชนิดกีฬา ก่อนจะลดเหลือ 26 ชนิดในโอลิมปิกเกมส์ 2012 หลังจากไอโอซีตัดสินใจตัดกีฬา เบสบอล กับ ซอฟต์บอล จากโปรแกรมแข่งขันในปี 2005 ต่อมาในการประชุมใหญ่ปี 2009 ไอโอซีโหวตบรรจุ กอล์ฟ กับ รักบี้ 7 คน เข้าไปในการแข่งขัน “รีโอเกมส์” เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กีฬาโอลิมปิกจึงกลับมามี 28 ชนิดอีกครั้ง

จากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 31 ครั้งที่ผ่านมา กีฬาที่ไม่เคยหลุดจากผังแข่งขันเลย ได้แก่ กรีฑา, กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ), จักรยาน, ฟันดาบ และ ยิมนาสติก (ยิมนาสติกศิลป์) ส่วนกีฬาอื่นๆ จะแวะเวียนเข้าๆ ออกๆ หรือได้รับการบรรจุถาวรในครั้งต่อๆ มา ขณะที่กีฬาบางชนิดไม่ได้รับความนิยมหรือไม่เข้ากับแนวทางของโอลิมปิกเกมส์ยุคใหม่มากนักก็ค่อยๆ หายไป ซึ่งหลายกีฬาแฟนๆ อาจคาดไม่ถึง เช่น ยิงนก, ไต่เชือก หรือแม้กระทั่ง ชักเย่อ!

Advertisement

ทั้งนี้ กีฬาที่จะได้รับการบรรจุแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อนได้นั้น จะต้องมีนักกีฬาอย่างน้อย 75 ประเทศทั่วโลก และกระจายกันใน 4 ทวีปเป็นอย่างต่ำ จึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณา ดังนั้น พวกกีฬาพื้นบ้าน หรือกีฬาที่นิยมเล่นกันเฉพาะกลุ่มมากๆ จึงยากจะผ่านเกณฑ์เหล่านี้ได้

สำหรับโอลิมปิกเกมส์ในอีก 4 ปีข้างหน้าซึ่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้น จะมีกีฬาน้องใหม่ที่ได้รับการบรรจุเพิ่มเข้ามาถึง 5 ชนิดกีฬา โดยแต่เดิมไอโอซีมีแนวคิดว่าจะตัดกีฬาบางชนิดออกเพื่อเปิดทางให้กับกีฬาใหม่ และคุมจำนวนกีฬาไม่ให้เยอะจนเกินไป สุดท้ายหวยมาลงที่ มวยปล้ำ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

เนื่องจากมวยปล้ำถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และอยู่คู่โอลิมปิกเกมส์มาตั้งแต่ยุคโบราณ สุดท้ายเมื่อทานกระแสต่อต้านไม่ไหว ไอโอซีจึงต้องโหวตรับมวยปล้ำกลับเข้ามาใหม่ และต่อมาก็โหวตรับรองชนิดกีฬาใหม่ๆ ให้ชิงชัยใน “โตเกียวเกมส์” ถึง 5 ชนิด ได้แก่ คาราเต้โด, เบสบอล-ซอฟต์บอล, กระดานโต้คลื่น, ปีนหน้าผา และ สเก๊ตบอร์ด

5 กีฬาที่ได้รับการบรรจุใหม่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ไอโอซีอยากให้เป็นในอนาคตได้อย่างน่าสนใจ กรณีของคาราเต้โดเป็นหนึ่งในกีฬาเก่าแก่ของญี่ปุ่น เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าภาพได้ใส่กีฬาที่ตัวเองมีความถนัดและสะท้อนวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของประเทศเข้าไป

ขณะที่เบสบอลกับซอฟต์บอลเปรียบเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ หลังจากเคยโดนตัดจากโอลิมปิกไปทั้งคู่ สหพันธ์กีฬาที่รับผิดชอบจึงตัดสินใจผนึกกำลังเสนอตัวกลับเข้ามาในฐานะชนิดกีฬาเดียวกันแต่แยกอีเวนต์แทน ส่วนปีนหน้าผา, กระดานโต้คลื่น และสเก๊ตบอร์ดนั้น จัดอยู่ในกลุ่มกีฬาเอ็กซ์ตรีม เป็นการขยายตลาดผู้ชมเพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นหลังจากบรรจุจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์มาตั้งแต่คราวลอนดอนเกมส์เมื่อปี 2012 ด้วยเหตุผลดังกล่าว การที่ไอโอซีโหวตรับมวยไทยและเชียร์ลีดดิ้งเข้ามาเป็น “โอลิมปิก สปอร์ต” ชั่วคราว จึงสอดรับกับแนวนโยบายที่กล่าวไปเป็นอย่างดี

กีฬามวยไทย ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของบ้านเรา ปัจจุบันมีสมาคมหรือสหพันธ์ในประเทศต่างๆ มากถึง 135 ประเทศ ในจำนวนนี้เกือบ 60 สมาคม/สหพันธ์ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกประเทศนั้นๆ และมีนักกีฬาลงทะเบียนเป็นนักมวยไทย “ทีมชาติ” ประเทศต่างๆ แล้วร่วมๆ 400,000 คน

ปัจจุบันมวยไทยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบของกีฬาและศิลปะการต่อสู้หรือป้องกันตัว ยิ่งถ้าเป็นเวทีศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (เอ็มเอ็มเอ) หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า “มวยกรง” แล้ว มวยไทยยิ่งเป็นวิชายอดฮิตที่นักสู้เกือบทุกคนต้องเรียนรู้ติดตัวเลยทีเดียว

เนื่องด้วยมวยไทยผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ได้อย่างลงตัว อีกทั้งมีความดุดันเร้าใจ สะใจผู้ชมเป็นอย่างมาก จึงน่าจะดึงดูดความสนใจของผู้ชมโดยเฉพาะแฟนกีฬาเพศชายได้เป็นอย่างดี

ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และ ประธานสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ  หรือ "IFMA" (คนกลาง)
ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และ ประธานสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรือ “IFMA” (คนกลาง)

อย่างไรก็ตาม ศิลปะการต่อสู้เกือบทุกชนิดที่ได้รับการบรรจุชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์ หากไม่นับยูโดซึ่งมีวิธีตัดสินที่ค่อนข้างเด็ดขาดและชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว กีฬาอื่นๆ อาทิ มวยสากล และเทควันโด ต่างไม่พ้นโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคำตัดสินไม่เป็นธรรม จนสหพันธ์กีฬาทั้ง 2 แห่งต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการแข่งขันเพื่อเลี่ยงคำครหาเรื่องความไม่โปร่งใสให้ได้

กรณีเทควันโดเอาตัวรอดได้หวุดหวิด (จากกระแสข่าวโดนโหวตออกจากโอลิมปิก) ด้วยการใช้เกราะไฟฟ้าและภาพรีเพลย์จังหวะสำคัญมาประกอบการให้คะแนน ขณะที่มวยสากล แม้แต่ในรีโอเกมส์ยังไม่พ้นโดนวิจารณ์หนักว่าล็อกผลการแข่งขัน จึงถือเป็นโจทย์สำคัญที่องค์กรมวยไทยและผู้รับผิดชอบทุกคนต้องวางกติกาการแข่งขันที่เหมาะสมและยอมรับได้ในระดับสากลหากหวังจะได้รับการบรรจุเข้าโอลิมปิกเกมส์

ส่วนเชียร์ลีดดิ้งนั้น หลายคนมองเผินๆ อาจจะคิดว่าเป็นการประกวดเต้นทั่วๆ ไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “กีฬาเชียร์ลีดดิ้ง” ต้องอาศัยทักษะความสามารถ พลังกาย พลังใจ และทีมเวิร์กในระดับท็อปๆ ของโลกกีฬาเลยทเดียว

กีฬาเชียร์ลีดดิ้งได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นทั่วโลก ปัจจุบันสมาพันธ์เชียร์นานาชาติมีสมาคมและสหพันธ์กีฬาในสังกัดแล้วกว่า 100 ประเทศ และมีนักกีฬาลงทะเบียนกับสมาคมนั้นๆ รวมแล้วเกือบ 4.5 ล้านคน แม้แต่บ้านเราเอง ก็มีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งที่มีทีมเชียร์แข็งแกร่งระดับไปประกวดชนะในต่างประเทศมาแล้ว

เชียร์ลีดดิ้งตอบโจทย์ไอโอซีเรื่องความน่าสนใจ และความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ก็ติดปัญหาที่ภาพลักษณ์ในสายตาคนส่วนใหญ่ยังไม่มองการเชียร์เป็น “กีฬา” และมองว่าเป็นเพียง “เครื่องเคียง” ที่ทำให้ดูกีฬาได้สนุกขึ้นเท่านั้น จึงเป็นหนึ่งโจทย์ยากสำหรับสหพันธ์เชียร์หากหวังจะได้รับการบรรจุเข้าเป็นกีฬาโอลิมปิกในอนาคต

12512407_1254100274603325_5891202735405140711_n

สำหรับการเลือกกีฬาบรรจุในโอลิมปิกนั้น ไม่ใช่ว่าไอโอซีรับรองมวยไทยกับเชียร์ลีดดิ้งแล้วจะแข่งได้เลย เพราะสถานะชั่วคราวนี้จะยืนยาว 3 ปี ระหว่างนี้ทั้ง 2 สหพันธ์จะได้รับเงินอุดหนุนปีละ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (875,000 บาท) และเมื่อครบกำหนด 3 ปี ทั้ง 2 สหพันธ์จะมีสิทธิยื่นขอการรับรองแบบถาวรได้

หากได้รับการรับรองถาวรแล้ว กีฬาทั้ง 2 ชนิดก็จะมีสิทธิเป็นตัวเลือกบรรจุแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ในอนาคตได้ โดยกอล์ฟกับรักบี้ 7 คนที่เพิ่งแข่งไปในรีโอเกมส์ จะบรรจุแข่งในโตเกียวเกมส์ที่ญี่ปุ่นอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย หลังจากนั้นไอโอซีจะประเมินอีกครั้งว่า 2 กีฬานี้ได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด โดยวัดจากจำนวนผู้ชมการแข่งขัน จำนวนผู้ชมการถ่ายทอด ความถี่ในการเสนอข่าวของสื่อ ฯลฯ แล้วจึงโหวตบรรจุแข่งในครั้งต่อๆ ไปอีกครั้ง เช่นเดียวกับ 5 กีฬาซึ่งเพิ่งได้รับการบรรจุใหม่

นี่จึงเป็นเส้นทางอันยาวไกลสำหรับกีฬามวยไทยกับความฝันจะได้บรรจุเข้าชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์ โดยช่วงเวลาสำคัญที่สุดคือช่วง 3 ปีนับจากนี้ที่มวยไทยต้องเร่งพิสูจน์ตัวเองในแง่ความน่าสนใจ ความนิยม และความโปร่งใส เพื่อให้ได้รับการรับรองแบบถาวร จนนำไปสู่โอกาสของการเป็นตัวเลือกชิงเหรียญโอลิมปิกต่อไป

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยก็มีก้าวแรกเป็นกำลังใจให้มุ่งหน้าต่อไปด้วยความมุ่งมั่นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image