ประเด็นวิพากษ์ ‘ถูกต้อง VS ถูกใจ’ เมื่อ VAR ริบ 2 ประตูลูกากู
กลายเป็นการพลิกล็อกครั้งใหญ่แมตช์แรกของทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2024 เมื่อ เบลเยียม อดีตทีมเบอร์ 1 ของโลก พลิกพ่ายให้ สโลวาเกีย 0-1 ในการลงประเดิมนัดแรกของกลุ่มอี
หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดหลังจบเกมดังกล่าวคือบทบาทของ VAR ที่มีส่วนชี้ผลแพ้ชนะในเกม เนื่องจากริบประตูที่ โรเมลู ลูกากู กองหน้าดาวยิงของเบลเยียมส่งบอลเข้าไปนอนก้นตาข่ายถึง 2 ครั้งในเกม
จังหวะแรกเกิดขึ้นในนาที 56 เมื่อลูกากูเข้าชาร์จลูกที่ อมาดู โอนาน่า โหม่งย้อนเข้ามาหน้าปากประตูในระยะเผาขน แต่ VAR กลับคำตัดสินว่าลูกากูอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า
อีกจังหวะเกิดขึ้นในนาที 86 เมื่อตัวสำรอง โลอิส โอเพนด้า วิ่งกวดบอลทางกราบซ้ายก่อนตวัดเข้ากลางให้ลูกากูซัดเต็มข้อตุงตาข่าย แต่กรรมการดู VAR แล้วตัดสินว่าโอเพนด้าทำแฮนด์บอลก่อน จึงไม่ให้เป็นประตู
เรื่องจังหวะล้ำหน้านั้นมีหลักฐานค่อนข้างชัด แม้อาจจะถกเถียงได้ว่าก้ำกึ่ง แต่ก็ยังมีภาพยืนยันชัดว่าลูกากูยืนล้ำอยู่นิดๆ จริงๆ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์คือจังหวะแฮนด์บอลของโอเพนด้าที่เป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคนว่าจะมองเป็นเจตนาหรือไม่
โดเมนิโก้ เทเดสโก้ กุนซือเบลเยียม กุนซือเบลเยียม กล่าวหลังเกมว่า พยายามจะเป็นผู้แพ้ที่ดีจึงไม่อยากพูดอะไร และเชื่อมั่นใน VAR และผู้ตัดสิน ถ้าพวกเขาบอกว่าแฮนด์บอลก็ต้องยอมรับตามนั้น
ขณะที่ คริส ซัตตัน อดีตกองหน้าเชลซีซึ่งจัดรายการวิทยุของ บีบีซี บอกว่า เป็นคำตัดสินที่ไร้สาระมากๆ โอเพนด้าไม่ได้เจตนาจะให้บอลเด้งมาทางตัวเอง ถือว่าตัดสินได้โหดมาก ถ้าเป็นพรีเมียร์ลีก ลูกนั้นต้องเป็นประตูไปแล้ว
ส่วน แกรี่ ลินีเกอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษในฐานะนักวิจารณ์บอลชื่อดัง ถึงกับสบถออกมาว่าเป็นการตัดสินที่ห่วยแตก
ขณะที่คอมเมนต์ของแฟนบอลในโซเชียลหลายคนมองว่า เป็นจังหวะก้ำกึ่งที่จะเป่าให้เป็นแฮนด์บอลหรือไม่เป็นก็ได้ เพราะโอเพนด้าก็ไม่ได้ประโยชน์จากการที่มือสัมผัสบอลแต่อย่างใด, ออกจะใจร้ายไปเมื่อคิดว่าเป็นการริบประตูที่ 2 ของเบลเยียมในเกมแล้ว บ้างก็ว่าเป็นคำตัดสินที่ถูกต้องก็จริง แต่บางครั้งมันก็ทำให้มนต์เสน่ห์ฟุตบอลหายไปด้วย
ด้าน คริสติน่า อุนเคล ผู้ตัดสินหญิงผู้เชี่ยวชาญเรื่อง VAR ซึ่งทำหน้าที่นักวิเคราะห์ของ ไอทีวี อธิบายว่า เงื่อนไขการตีความของกรรมการเพิ่งเปลี่ยนไปเมื่อไม่นานมานี้ อย่างจังหวะนี้ เชิ้ตดำมองว่าโอเพนด้ายกแขนขึ้นใกล้กับระดับหัวไหล่ มีการยืดแขนออกไป และจังหวะสัมผัสบอลก็ช่วยเรื่องการควบคุมลูกด้วย จึงเป่าให้เป็นแฮนด์บอล
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจจากจังหวะแฮนด์บอลของโอเพนด้าคือเส้นกราฟที่ขึ้นประกอบขณะชมภาพช้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของกีฬาลูกหนังด้วยการฝังชิปเข้าไปในลูกบอล ทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์จับว่ามีการสัมผัสบอลเกิดขึ้นหรือไม่
เทคโนโลยีนี้เรียกกว้างๆ ว่า “เทคโนโลยีตรวจจับการสัมผัสบอล” (Connected Ball technology) ใช้แนวคิดเดียวกับ สนิกโกมิเตอร์ (snickometer) ของกีฬาคริกเกต ที่ใช้ตรวจจับว่าลูกคริกเกตสัมผัสไม้หรือวัตถุอื่นก่น
ความสามารถในการตรวจจับความเคลื่อนไหวอยู่ที่ 500 ครั้งต่อวินาที เมื่อลูกบอลสัมผัสกับสิ่งใด ก็จะแสดงออกผ่านเส้นกราฟที่เปลี่ยนแปลงไปดังที่เราได้เห็นบนหน้าจอตอนชมถ่ายทอดการแข่งขัน
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เทคโนโลยี Connected Ball technology หรือสนิกโกมิเตอร์ ถูกนำมาใช้ เพราะเคยใช้งานไปตั้งแต่ศึก ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์แล้ว
กล่าวกันว่า เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้การตัดสินใจด้วย VAR รวดเร็วขึ้น และแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากบางครั้งการสัมผัสเพียงเล็กน้อยไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ตัวอย่างชัดเจนของการใช้เทคโนโลยีตรวจจับการสัมผัสบอลในศึกฟุตบอลโลกหนล่าสุด คือประตูแรกของโปรตุเกสในการเจอกับอุรุกวัย ซึ่งตอนนั้นเกิดการถกเถียงว่า เครดิตการทำประตูควรเป็นของใครระหว่าง บรูโน่ แฟร์นันเดส ที่กึ่งยิงกึ่งเปิดเข้าไปหน้าประตู กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่กระโดดพยายามโหม่งบอลหน้าปากประตู
ผลปรากฏว่า เซนเซอร์ไม่พบการสัมผัสบอลในจังหวะที่โรนัลโด้ขึ้นโขกลูก จึงให้เครดิตทำประตูเป็นของบรูโน่แทน
สำหรับเหตุผลที่แฟนบอลอย่างเราๆ เพิ่งได้รู้จักกับเทคโนโลยีที่เหมือนกำลังดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจนี้ เป็นเพราะ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) กำหนดนโยบายให้อธิบายและแสดงข้อมูลประกอบการตัดสินให้แฟนบอลทางบ้านได้เห็นเวลาใช้ VAR เพื่อความโปร่งใส ลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ
กระนั้น ประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในมุมมองของคนลูกหนังอยู่ดี เช่น เคนนี่ คันนิงแฮม อดีตแข้งทีมชาติไอร์แลนด์ บอกว่า โอเพนด้าสัมผัสบอลจริง อาจจะทำให้ได้เปรียบจริง เทคโนโลยีช่วยให้ตัดสินถูกจริง แต่มันก็ทำให้อึดอัดไปด้วย เพราะไม่ใช่คนดูบอลเพื่อความสมบูรณ์แบบ ไม่ได้ต้องการให้ทุกอย่างต้องถูกต้องตรงเป๊ะทั้งหมด ความผิดพลาดของมนุษย์เป็นเรื่องยอมรับได้ และมองว่าการทำแบบนี้ทำให้ความสนุกของเกมหายไป
ด้าน เควิน ดอยล์ อดีตแข้งไอริชอีกราย สำทับว่า มือของโอเพนด้าสัมผัสโดนบอลแบบผิวเผินมากๆ เป็นจังหวะการเบียดกับกองหลังฝ่ายตรงข้ามเพื่อชิงความได้เปรียบ ตอนที่นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ คิดว่าจะช่วยเรื่องการเช็กล้ำหน้า หรือจังหวะก้ำกึ่งในกรอบเขตโทษ ควรต้องคิดว่าเราจำเป็นต้องย้อนไปไกลขนาดไหน กี่จังหวะก่อนเป็นประตู 1, 2, 3 หรือ 4 จังหวะ? เพราะตอนเกิดเหตุ กรรมการอยู่ห่างออกไป 5 หลา ยังไงเขาก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแน่นอน
“มันมาถึงเวลาที่เราต้องนั่งดูคลื่นเสียงบนจอมอนิเตอร์เพื่อตัดสินว่าบอลโดนมือของเขาหรือเปล่ากันแล้วสินะ”
ท้ายที่สุดก็มาจบที่ข้อถกเถียงเดิมๆ ว่า ระหว่าง “ถูกต้อง” กับ “ถูกใจ” จะหาจุดลงตัวที่ยอมรับได้กันทุกฝ่ายหรือเปล่าอีกเหมือนเคย