สิงโตของเซาธ์เกตเวอร์ชั่น 2024 ความสำเร็จบนหลักการ Winning Ugly

สิงโตของเซาธ์เกตเวอร์ชั่น 2024 ความสำเร็จบนหลักการ Winning Ugly

เรียกว่าลบคำสบประมาทช่วงต้นทัวร์นาเมนต์ลงอย่างน่าทึ่งสำหรับทีมชาติ อังกฤษ และผู้จัดการทีม แกเร็ธ เซาธ์เกต

หลังจากออกสตาร์ตศึก ยูโร 2024 ด้วยฟอร์มการเล่นไม่ค่อยน่าประทับใจนัก เริ่มต้นรอบแรกชนะนัดเดียว เสมอถึง 2 นัด แถมยังเป็นสิงโตไร้เขี้ยวเล็บ นำลูกเดียวก็เน้นตั้งรับ ไม่ค่อยกล้าบุก จนโดนนักวิจารณ์แซะว่าฟอร์มไม่ดีไม่สมฐานะทีมเต็งหนึ่งของทัวร์นาเมนต์

งานนี้โดนวิจารณ์กันถ้วนหน้าตั้งแต่กุนซือเซาธ์เกตที่จัดทีมงงๆ หาสูตรลงตัวไม่ได้ เช่นจับ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ ไปยืนกลาง แต่ทำได้ไม่ดีเท่าตอนเทรนต์เล่นให้กับต้นสังกัด ลิเวอร์พูล หรือการใส่ชื่อ ลุก ชอว์ ติดทีมไปด้วยทั้งที่ไม่ฟิตและแทบไม่ได้ลงสนามเลย หรือการจับ โคล พาลเมอร์ นั่งสำรองเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ระเบิดฟอร์มสุดยอดตอนเล่นในระดับสโมสรให้ เชลซี

Advertisement

นักเตะหลายคนก็ไม่พ้นโดนวิจารณ์ว่าฟอร์มน่าผิดหวัง ถึงขั้น แฮร์รี่ เคน กองหน้ากัปตันทีม ต้องออกมาตอบโต้อดีตแข้งทีมสิงโตที่ผันตัวมาเป็นคอมเมนเตเตอร์และวิจารณ์แรงใส่ทีม

มาถึงรอบน็อกเอาต์ สถานการณ์ก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือการพลิกสถานการณ์กลับมาเอาชนะได้ โดยอังกฤษตกเป็นฝ่ายตามคู่แข่งทุกนัด ทั้งการเจอกับ สโลวาเกีย ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย, เจอ สวิตเซอร์แลนด์ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ และกับ เนเธอร์แลนด์ ในรอบตัดเชือก จนโดนสื่อที่บ้านเกิดแซวว่า หรือจะเป็นแท็กติกอ่อยให้คู่แข่งตายใจก่อน แล้วจึงไล่ตีเสมอหรือแซงตอนเวลาเหลือน้อยจนอีกฝ่ายเสียขวัญ ไม่ทันตั้งตัว

Advertisement

สิ่งหนึ่งที่สื่อเมืองผู้ดีเล็งเห็นในตัวแกเร็ธ เซาธ์เกต จากการคุมทีมชาติช่วงแรกจนถึงตอนนี้คือ ในช่วงเริ่มต้นนั้น เขาดูเป็นคนบ้าทฤษฎี เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ ยึดติดกับเรื่องข้อมูลเป็นหลัก แต่ในช่วงหลัง เซาธ์เกตดูผ่อนคลายขึ้น กล้าได้กล้าเสียมากขึ้น เน้นการแก้เกมและปรับตัวไปตามสถานการณ์จริงมากขึ้น

เช่นจากที่เคยเล่นแนวรับแบบแบ๊กโฟร์มานาน จู่ๆ พอมารอบก่อนรองชนะเลิศก็ปรับมาใช้แผนกองหลัง 3 ตัว รวมทั้งไม่ได้ซีเรียสว่าต้องเก็บคลีนชีทให้ได้ ตราบใดที่ยังเก็บชัยชนะ

หรือแม้กระทั่งการดวลจุดโทษที่เคยเป็นจุดบอดของอังกฤษมาตลอด มาทัวร์นาเมนต์นี้ เซาธ์เกตก็ดูจะเตรียมลูกทีมมาดีทั้งเรื่องเทคนิคและจิตใจ นักเตะแต่ละคนที่ถูกส่งลงไปทำหน้าที่ยิงจุดโทษในรอบก่อนรองชนะเลิศกับสวิตเซอร์แลนด์ ต่างเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ แม้แต่ บูกาโย่ ซาก้า หนึ่งในแข้งที่เจอฝันร้ายยิงไม่เข้าในรอบชิงยูโรหนก่อนกับอิตาลี ก็แก้ตัวได้อย่างสวยงาม

เรียกว่าจะทุลักทุเลอย่างไร ตอนนี้อังกฤษก็สามารถเข้าชิงยูโรได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน แถมยังเป็นการเข้าชิงทัวร์นาเมนต์เมเจอร์นอกประเทศครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทีม และเซาธ์เกตก็ตอกย้ำสถานะของตัวเองว่าเป็นกุนซือสิงโตคำรามที่ประสบความสำเร็จที่สุดนับตั้งแต่ เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ พาทีมคว้าแชมป์โลกหนแรกและหนเดียวในปี 1966

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการเจอกับเนเธอร์แลนด์คือ ไม่ว่าสกอร์จะนำอยู่หรือเสมอกัน สไตล์ของทีมกังหันสีส้มคือการเน้นเกมบุก พาบอลขึ้นหน้า นับเป็นคู่แข่งทีมแรกในทัวร์นาเมนต์นี้ของอังกฤษที่ไม่เน้นการตั้งรับเป็นหลัก ทำให้เราได้เห็นรูปเกมของสิงโตคำรามที่ต่างออกไป จากที่โดนวิจารณ์ว่าเล่นระวังตัวเกินไปในรอบที่ผ่านๆ มา อังกฤษในรอบตัดเชือกทำเกมบุกอย่างขึงขังและมีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะมีพื้นที่ว่างในการผ่านบอลมากขึ้น

ตัวนักเตะก็เริ่มโชว์ความสามารถเฉพาะตัว มีลูกเล่นต่างๆ อาทิ ค็อบบี้ เมนู ดาวรุ่งจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เล่นอย่างมั่นใจ การผ่านบอล ส่งบอลในเชิงสร้างสรรค์ ขณะที่ ฟิล โฟเด้น ก็มีจังหวะลุ้นประตูหลายครั้ง

ส่วนเกมรุกก็ทำเกมจากแดนกลางอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันเกมรับก็เอาแข้งกังหันลมได้อยู่หมัด เช่นสถิติของ เดนเซล ดุมฟรีส์ แบ๊กขวาที่ขยันเติมเกมรุก นัดนี้ครึ่งแรกมีโอกาสสัมผัสบอลในแดนอังกฤษเพียง 4 ครั้งเท่านั้น

การเปลี่ยนตัวช่วงครึ่งหลังของเซาธ์เกตก็ถือว่าทำได้ดี ส่งนักเตะถูกคนลงไปถูกเวลา โดยประตูชัยมาจากการประสานงานของสองตัวสำรอง โคล พาลเมอร์ ที่เปิดบอลให้ โอลลี่ วัตกิ้นส์ ทำประตูชัยช่วงท้ายเกม ในขณะที่ฝั่งดัตช์อาจจะเตรียมวางแผนไปเล่นในช่วงต่อเวลาพิเศษแล้ว

ที่น่าสนใจคือ สเปน คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศของอังกฤษ ก็เป็นทีมที่เน้นปรัชญาเกมรุกเป็นหลัก ต่างกันตรงที่เนเธอร์แลนด์อาจจะอาศัยความได้เปรียบเรื่องรูปร่างสูงใหญ่และความแข็งแกร่งมากกว่า ขณะที่สเปนโดดเด่นเรื่องความเร็ว ความคล่องตัว ทักษะเฉพาะตัวของนักเตะแต่ละคน และการประสานงานกันอย่างเข้าขา

ว่ากันตามเนื้อผ้า ด้วยฟอร์มการเล่นตั้งแต่นัดแรกจนถึงปัจจุบัน กระทิงดุถือว่าฟอร์มเหนือกว่า ด้วยสถิติชนะรวด และแทบไม่มีจุดอ่อนให้เห็น อีกทั้งรอบที่ผ่านๆ มา ก็ปราบทีมใหญ่ๆ มาหลายนัด ทั้งอิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส อย่างไรเสีย เต็งหนึ่งก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มอย่างอังกฤษ ก็ดูท่าจะเป็นรองเมื่อถึงเวลาจริง

แต่หลายนัดในทัวร์นาเมนต์นี้ เซาธ์เกตและลูกทีมก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาจนคว้าชัยชนะได้ บอลนัดเดียวในรอบชิง อะไรจึงเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ชวนให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ของนักเทนนิสสาวเมืองผู้ดี เอ็มม่า ราดูคานู ที่บอกว่าใช้ชัยชนะของอังกฤษเหนือสโลวาเกียในรอบ 16 ทีมสุดท้าย (ที่ตีเสมอช่วงทดเจ็บก่อนกลับมาคว้าชัยช่วงต่อเวลาพิเศษ) เป็นแรงบันดาลใจในการฮึดสู้ศึกเทนนิสแกรนด์สแลม วิมเบิลดัน

ราดูคานูบอกว่า ยึดหลัก Winning Ugly คือการทำทุกอย่างเพื่อเน้นผลการแข่งขันเป็นหลัก แม้ฟอร์มจะไม่สง่างาม

เพราะในท้ายที่สุด ผู้ชนะก็จะได้รับการจดจำอยู่ดี!

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image