บ้านทองหยอด จากโรงงานขนมไทย สู่ผู้เจียระไน เมย์-วิว
“เป้าหมายคือ โอลิมปิก ส่วนแชมป์โลก คือ ระหว่างทาง” นั่นคือ ความฝันของ “อาปุก” กมลา ทองกร ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ซึ่งวันนี้ ความฝันนั้นเป็นจริงแล้ว เมื่อ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศาสน์ นักกีฬาแบดมินตันชายเดี่ยวทีมชาติไทย คว้าชัยชนะรอบรองชนะเลิศ สร้างประวัติศาสตร์ เป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกที่เข้าชิงโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งหมายความว่าวิวการันตีเหรียญเงินแน่นอนแล้ว
กุลวุฒิ สังกัดสโมสรโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด เช่น เดียวกับ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ซึ่งทั้งคู่คือ แชมป์โลกแบดมินตันชายเดี่ยว และหญิงเดี่ยวของไทย
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน นักแบดมินตันคนแรกจากสโมสรโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก คือ “เป้” ภัททพล เงินศรีสุข ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ประเภทชายคู่ โดยจับคู่กับ “เต่า” สุดเขต ประภากมล โดยทะลุถึงรอบ 32 คู่สุดท้าย
“เป้” ภัททพล เป็นบุตรชายคนโตของกมลา ทองกร เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ เธอตัดสินใจสร้างคอร์ทแบด ภายในโรงงานทำขนมไทย เพื่อให้ภัททพล และน้องๆ คือ ภาณุวัฒก์ เงินศรีสุข, คณิศรา เงินศรีสุข รวมไปถึงเพื่อนๆ ลูกพนักงานในโรงงานที่มาออกกำลังกายในช่วงว่างหรือหลังเลิกงาน
เนื่องจากประตูโรงงาน อยู่เชื่อมกับ คอร์ทแบด จึงมี ลูกคนงานวัย 5 ขวบคนหนึ่งมานั่งดูพี่ๆ ตีแบด เธอคือ “เมย์” รัชนก อินทนนท์
ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด ก่อตั้งขึ้นในปี 2534 เนื่องจากในขณะนั้นลูกๆ กลมา ยังไม่มีสังกัดจึงไม่สามารถลงแข่งขันได้ เธอจึงได้ก่อตั้งเป็นชมรมขึ้นเองและได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจของกมลาเอง เพื่อนๆ ของเธอจึงแนะนำให้ใช้ชื่อนี้ เพราะแสดงถึงความเป็นคนไทยด้วย
ระยะแรกทางชมรมได้ใช้สนามที่สร้างขึ้นเองภายในโรงงาน และบ้าน 1 สนาม และมีนักกีฬาเพียง ลูกๆ และพนักงานบริษัท โดยมี อาจารย์พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ เป็นผู้ฝึกสอน นักกีฬาเริ่มมีผลงานสามารถเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ในปีถัดมาอาจารย์พรโรจน์ มีความจำเป็นต้องย้ายราชการครูไปสอนที่จังหวัดกระบี่ จึงได้แนะนำสำคัญสำหรับกมลา นั่นคือ การหาโค้ชมืออาชีพ ที่ทำงานได้เต็มเวลา และควรเป็นโค้ชจีน ทางชมรมจึงได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ซึ่ง ได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันจีน เพื่อขอโค้ชชาวจีนมาฝึกสอนที่ประเทศไทย และได้ส่งประวัติของ จื่อ หัว เซี่ย มาให้พิจารณา แล้วจึงตกลงทำสัญญาว่าจ้าง จื่อ หัว เซี่ย มาเป็นโค้ชให้กับทางชมรมฯ จนถึงทุกวันนี้
ในยุคนั้น โค้ชสอนแบดมินตันในประเทศไทยมักจะมีงานประจำเป็นหลัก เมื่อเลิกงานช่วงเย็นจึงมาฝึก แทบไม่ต่างจากนักกีฬาซึ่งส่วนใหญ่คือ เยาวชน ที่จะเรียนหนังสือเป็นหลัก มาฝึกซ้อมช่วงเย็น และยิ่งระบบการศึกษาไทยให้เด็กเรียนและทำการบ้านหนัก โอกาสที่เก่งในระดับนำของโลกยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เซี่ย จือ หัว หรือ “โค้ชเซี่ย” จึงเป็น โค้ชแบดมินตันเต็มเวลาคนแรกของไทย เขาเคยติดทีมชาติของจีน และสนใจอยากไปทำงานต่างประเทศเพื่อรายได้ดีกว่า จึงตอบตกลงกมลา เนื่องจากเห็นว่าเธอเป็นแม่ที่ทุ่มเท อยากให้ลูกทั้งสามเรียนแบดมินตันกับโค้ชมืออาชีพ
ในวัยเด็ก กมลาเคยเลิกเรียนเมื่ออยู่ชั้น ป.7 เพื่อออกมาช่วยแม่ทำขนมไทย ให้ครอบครัวอยู่รอด เมื่อกิจการเริ่มอยู่ตัวเธอจึงกลับไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน มุมมองนี้ถูกนำมาใช้ในการปั้นนักกีฬา คือ ถ้าเด็กคนไหนมีศักยภาพด้านกีฬา ก็ผลักไปให้เต็มที่ กีฬาเป็นหลัก เรียนเป็นรอง เพราะเวลาก้าวขึ้นสูงอันดับสูงๆ ในวงการกีฬามีจำกัด ต้องทำในช่วงอายุน้อยๆ รอไม่ได้ ส่วนการเรียนนั้นรอได้ สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับเงื่อนไขได้ ดังเช่นตัวอย่างของ “วิว” กุลวุฒิ ก็เลือกเรียน กศน.
โค้ชเซี่ยจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยนำระบบการสอนแบดมินตันจากเมืองจีนมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะเรื่องจัดตารางฝึกซ้อมควบคู่กับการเรียนหนังสือ ผลที่ตามมา คือ ภัททพล ติดทีมชาติในปี 2541 ขณะที่น้องชายและน้องสาวติดทีมชาติชุดเยาวชน สร้างชื่อเสียงแก่ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด
ต่อมาเริ่มมีนักกีฬามาเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางชมรมจึงย้ายไปเช่าสนามแบดมินตันเพชรเกษม 59 และเปิดสอนได้ประมาณ 3 เดือน ก็ทำการย้ายไปเปิดสอนที่สนามแบดมินตันหรรษา อยู่ประมาณ 7 ปี ทางชมรมฯจึงได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และสอนได้อีกประมาณ 4 ปี จำนวนสนามเริ่มไม่พอกับจำนวนนักกีฬา
กมลาจึงมีความคิดที่จะสร้างสนามแบดมินตันและเปิดสอนเป็นโรงเรียนแบดมินตันโดยเฉพาะ เพื่อใช้สอนทักษะการเล่นแบดมินตันขั้นพื้นฐานสำหรับเยาวชน และประชาชนทั่วไป ในการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี และเน้นนักกีฬาแบดมินตันที่เล่นเพื่อความเป็นเลิศเข้าสู่ระดับชาติ และได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการเปิดเป็นโรงเรียนโดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ในปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างหนึ่งของการทุ่มเท คือ การติดตั้งสปอตไลต์สนามแบด แบบที่ไม่เคยติดตั้งมาก่อนในประเทศไทย เนื่องจากกมลาสังเกตว่าในการแข่งขันในต่างประเทศ สนามแข่งขันจะติดตั้งสปอตไลต์แบบนี้ ซึ่งนักกีฬาไทยจะไม่คุ้นเคย ทำให้มองไม่เห็นลูกขนไก่ตอนแข่ง เธอจึงยอมลงทุนเพื่อให้นักกีฬาที่ฝึกซ้อมคุ้นเคยกับอุปกรณ์ตัวนี้
การตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้เธอและสามีตัดสินใจใช้เงินที่มีอยู่ซื้อที่ดิน และกู้ธนาคารเพื่อลงทุนด้านอาคาร สนาม และอุปกรณ์การฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐานระดับโลก กลายเป็นภาระหนี้สินที่หนักมาก และยังมีภาระการส่งนักกีฬาไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งทำได้อย่างจำกัด กมลาต้องอุดหนุนด้วยเงินส่วนตัว เช่นเดียวกับนักเรียนทุนก็พอจะมีสปอนเซอร์เข้ามาช่วยดูแลบ้าง
สถานการณ์เหล่านี่เปลี่ยนไป เมื่อ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ได้แชมป์โลกแบดมินตันหญิงเดี่ยว ในปี 2556 ปลุกกระแสการเล่นแบดมินตันขึ้นมา เพราะ “อยากเป็นแชมป์โลกเหมือนพี่เมย์” ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ เด็กชายวัย 12 ปี ชื่อ กุลวุฒิ วิทิตศาสน์
โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด จึงมีผู้มาสมัครเรียน รวมถึงดาวเด่นในวงการ ที่มุ่งหน้ามาสานฝันระดับโลกที่นี่ และพันธมิตรสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ โยเน็กซ์ น้ำดื่มสิงห์ อะมิโนไวทัล บางจาก ข้าวตราฉัตร โตโยต้า แอร์เอเชีย กลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ความสำเร็จของเมย์ รัชนก มีส่วนมากในการเคลียร์หนี้กับแบงก์จนหมด
ปัจจุบัน 3 นักแบดมินตัน รุ่นแรกของบ้านทองหยอด ภัททพล พี่ชายคนโต และน้องสาวคนสุดท้อง คณิศรา ดูแล โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ส่วนลูกคนกลาง ภาณุวัฒก์กลับไปบริหารกิจการของครอบครัว ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีทีวาย ฟู้ด จำกัด ที่เปลี่ยนทิศทางของธุรกิจจากเดิมที่มีผู้รับจำหน่ายไปวางขายตามตลาด ร้านค้าย่อย สู่การผลักผลิตภัณฑ์ขนมหวานทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และเม็ดขนุนให้วางจำหน่ายที่ 7-11 ครอบคลุมทุกสาขา เป็นผลสำเร็จ (มีรายงานว่ายอดขายสาขาใกล้วัดจะดีเป็นพิเศษ) และ ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ฝอยทองกรอบ ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบ ฟรีซดราย (Freeze dry)ที่มาอายุการจัดเก็บนานกว่า 1 ปี ออกสู่ตลาดโลก
เพื่อตามรอย นักแบดมินตัน ที่ก้าวสู่ระดับโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จบการประมูลเกือบ 3 แสน เสื้อแข่ง วิว กุลวุฒิ ลุยสู้ศึกโอลิมปิก ร่วมทำบุญซื้ออุปกรณ์กีฬาให้เด็กขาดแคลน
- สิงห์เปิดบ้านต้อนรับวิว-เมย์ ชื่นชมสร้างผลงานยอดเยี่ยมในโอลิมปิกเกมส์
- เริ่มแล้ว! วิว กุลวุฒิ เปิดประมูลเสื้อแข่งโอลิมปิก ไม่ถึง 1 ชั่วโมงราคาพุ่งแตะ 5 หมื่น
- ฮีโร่ต้องได้กินชาบู สุกี้จินดามาแล้ว ให้วิวกินฟรี 1 ปี ทุกสาขาทั่วประเทศ