รัฐพงศ์ วอนรัฐบาลใหม่ดันกีฬาเป็นหุ้นส่วน พลิกโฉมการพัฒนาประเทศ
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 นั้น จากการแถลงในวันดังกล่าวหากคลี่ไปดูนโยบายโดยภาพรวมจะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญ หรือเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้การเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก ขณะที่ด้านสังคมโดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวกับกีฬาหากเจาะลึก หรือสังเคราะห์ในสาระสำคัญพบว่า นโยบายด้านนี้ยังไม่ค่อยจะตอบโจทย์ในยุคของการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันมากนักทั้งๆ ที่วันนี้ประเทศที่เจริญแล้วชาติเหล่านั้นเขาจะใช้วงจร หรือมิติทางการกีฬามาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่นำมาผนวกสำหรับการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม
“ที่น่าสนใจหากเข้าไปดูยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซี่งเป็นพิมพ์เขียวการเดินหน้าพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้มีการระบุเกี่ยวกับประเด็นการเสริมสร้างศักยภาพการกีฬาและการส่งเสริมการออกกำลัง รวมทั้งการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬาไว้อย่างชัดเจน แต่รัฐบาลนี้กลับเขียนนโยบายไว้อย่างกว้างๆ อาทิ นำการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในระเทศไทย ส่งเสริมการปลด ล็อกศักยภาพทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา จากแนวนโยบายดังกล่าวจะเห็นว่ามิติทางการกีฬายังไม่ค่อยจะตอบโจทย์และเป็นไปตามที่สังคมและคนกีฬาคาดหวังมากนัก”
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า หากจะให้นโยบายกีฬาเป็นหนึ่งในมิติของการร่วมพลิกโฉมประเทศได้อย่างแท้จริงจากนี้ไปก็คงต้องวอนให้นายกรัฐมนตรี และเจ้ากระทรวงที่กำกับการกีฬาตระหนักและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหรือหุ้นส่วนสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือการนำนโยบายของรัฐบาลที่แล้วมาต่อยอดสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกีฬาให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ สำหรับในประเด็นนี้ไม่อยากรัฐบาลให้เน้นไปที่เฉพาะกีฬามวยไทยแต่เพียงอย่างเดียว ขณะที่นโยบาย 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจพบว่าที่ผ่านมายังมีความเหลื่อมล้ำในการสนับสนุนอยู่พอสมควร ทำอย่างไรที่จะให้เม็ดเงินกระจายเข้าไปสนับสนุนสมาคมกีฬาต่างๆ ให้ทั่วถึง
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่น่าสนใจการผลักดันนโยบายกีฬาสู่การปฏิบัติจะสัมฤทธิ์ผล และบรรลุตามเป้าประสงค์ได้จำเป็นอยู่เองที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาภายใต้การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเหนืออื่นใดหากส่องไปที่ภูมิหลังของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเห็นได้ว่าบุคคลทั้งสองสังคมและคนในแวดวงกีฬายังไม่เคยสัมผัสกับมุมมองในเชิงกีฬาให้ประจักษ์มาก่อน
“ดังนั้นการเดินหน้านโยบายกีฬาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมและคนในแวดวงกีฬาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งวันนี้กีฬาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญจำเป็นอยู่เองที่หน่วยงานที่เกี่ยงข้องจะต้องประสานพลังกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมพลิกโฉมประเทศและตอบโจทย์แนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่จะเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวปิดท้าย